เศรษฐกิจหมุนเวียนต้องมองให้ไกล 

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ Inside Out story

โดย ปัญญ์ชลี พิมลวงศ์

ภาพสัตว์ทะเลถูกพันธนาการ และเสียชีวิตจากขยะ หรือภาพขยะจำนวนมหาศาลที่ถูกคลื่นพัดเข้ามากองบริเวณชายฝั่ง เป็นปรากฏการณ์ที่เริ่มเห็นถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ต้องใส่ใจกับปัญหาขยะอย่างจริงจัง

ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือ การรณรงค์ให้ “ลด” หรือ “เลิก” ใช้พลาสติก เพราะถือว่าเป็นขยะที่ย่อยสลายยากมาก ทั้งยังเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดมลพิษต่าง ๆ โดยในช่วงประมาณ 65 ปีที่ผ่านมา มีพลาสติกถูกผลิตขึ้นใหม่ 8,300 ล้านตัน ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ถูกผลิตขึ้นในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 โลกจะมีขยะพลาสติกเพิ่มเป็น 12,000 ล้านตัน (www.bbc.com/thai/international-40678972)

หากมองเรื่องการใช้พลาสติกของหลายบริษัท โดยเฉพาะแบรนด์ระดับโกลบอล จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้วไม่ได้นิ่งเฉยกับเรื่องนี้ โดยไม่มองเพียงแค่การผลิตและส่งต่อสินค้ากับผู้บริโภคอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังขยายขอบเขตการดำเนินงานถึงขั้นนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยังถือว่าเป็นการเดินตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ในเป้าหมายที่ 12 ซึ่งกล่าวถึงการสร้างรูปแบบการผลิต และการบริโภคที่ยั่งยืน

แน่นอนว่าจากเป้าหมายที่วางไว้ของบริษัทแม่ถูกถ่ายทอดมายังบริษัทลูกตามประเทศต่าง ๆ โดยหลายธุรกิจดำเนินงานตามแผนงานอย่างต่อเนื่อง แต่บางธุรกิจยังต้องเจอกับ “ความท้าทาย” ที่ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

เมื่อเดือน ธ.ค. 2560 มีข่าวออกมาว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม-น้ำอัดลมได้เข้าพบกับกระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อขอแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 295) พ.ศ. 2548 เรื่องกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก ภายใต้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522

เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการนำขวดพลาสติกที่บรรจุน้ำ หรือเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ recycled PET (rPET) มาใช้ เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (virgin plastic) แต่ติดขัดด้านกฎหมาย เพราะประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 295) ข้อ 8 ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” 

ผ่านมาแล้วจนจะครบรอบ 1 ปี ดูเหมือนเรื่องนี้ยังหาทางออกไม่ได้ เพราะปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ แต่ทางฝั่งผู้ประกอบการยังคงมีความมุ่งมั่นต่อเรื่องนี้ โดยเมื่อเดือนที่แล้ว สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย, กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาในประเทศไทย และ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้ประกาศความร่วมมือในการผลักดันเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลที่ทันสมัย ซึ่งทำให้พลาสติกรีไซเคิลมีความสะอาดและปลอดภัย

ทั้งนี้ การนำขวดพลาสติกรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ยังถือว่าอยู่ในสโคปของการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy โดย “Anders Wijkman” นักคิด นักเขียน และนักการเมืองชาวสวีเดน สายสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน บอกว่า circular economy คือ การออกแบบเศรษฐกิจที่เน้นการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ เปลี่ยนระบบผลิตทางตรง (linear : make-use-dispose) เป็นระบบผลิตแบบหมุนเวียน (circular : make-use-return)

โดยเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ และบริการที่รักษาต้นทุนธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการเกิดของเสียและผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ซึ่งรูปแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียนมีการพัฒนาขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และได้รับการพัฒนายุทธศาสตร์และแนวทางในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น (www.the101.world/circular-economy)

ถึงแม้ circular economy จะเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย แต่มีบางบริษัทที่ดำเนินงานเรื่องนี้ไปแล้ว อย่าง บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล มีโครงการ Upcycling the Oceans ซึ่งช่วยฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ด้วยการเก็บขยะพลาสติกประเภทขวด PET และพลาสติกประเภท PE แล้วนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ขณะที่ภาครัฐกำลังกำหนดโรดแมปของ circular economy ในทุกภาคอุตสาหกรรม และมีแผนที่จะให้ circular economy เป็นอุตสาหกรรม new S-curve ที่ 12 ของประเทศ

ดูจากสถานการณ์แล้ว เหมือนจะเป็นสัญญาณบวกของไทยในการสร้าง circular economy ให้เกิดขึ้นในประเทศ กระนั้น ภาครัฐต้องมองภาพให้ครอบคลุมทุกมิติ นอกเหนือจากเรื่องที่น่าจะทำอยู่แล้ว คือ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับภาคเอกชน ก็ควรมีการสร้าง ecosystem ด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

รวมถึงการมองลึกไปยังข้อกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อ circular economy อย่างการนำขวดพลาสติกรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็เป็นกรณีที่รอรัฐ “ปลดล็อก” กฎหมาย ซึ่งหากทำได้จริง เชื่อว่าจะเป็นการ “พลิก” ภาพของกระบวนการผลิตและการบริโภคของอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม-น้ำอัดลมในไทย

เพราะไม่เพียงแต่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่จะเป็นกลไกสำคัญในการลดปัญหาขยะพลาสติก และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของไทยและระดับโลก