LPC สร้างงาน สร้างศักดิ์ศรีเท่าเทียม ยกระดับหญิงด้อยโอกาส

ต้องยอมรับว่า “บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN)” ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุดพักอาศัย และให้บริการหลังการขาย ให้ความสำคัญการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแบบครบทุกมิติคือ มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายใต้กลยุทธ์ 6 GREEN LPN ที่ถูกพัฒนามาจากประสบการณ์ในการดำเนินงาน ดำเนินธุรกิจ และการบริหารชุมชน

ขณะเดียวกัน งานบริการหลังการขาย หรือที่เรียกว่า “การบริหารชุมชน” ถือว่าเป็นอีกสิ่งที่เข้ามาเชื่อมโยงกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของแอลพีเอ็น ที่ต้องมีคนเข้าไปให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน คนสวน คนดูแลสระว่ายน้ำ ซึ่งในช่วงแรกของการดำเนินงานได้มีการว่าจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาให้บริการ จึงทำให้มีโอกาสได้สัมผัส และรับรู้ถึงชีวิตของพนักงานที่เข้ามาให้บริการ โดยเฉพาะคนทำความสะอาด ที่ส่วนใหญ่จะเป็นสตรีที่ด้อยโอกาสในสังคม

ด้วยเหตุนี้เอง แอลพีเอ็นจึงมีนโยบายที่จะพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มสตรีที่ด้อยโอกาสเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “บริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด (LPC)” ในปี 2554 ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทเพื่อสังคม ตามแนวคิด “กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise-SE)” โดยในการดำเนินงานนั้น แอลพีเอ็นเป็นผู้ลงทุนที่ไม่มีการปันผลกำไรกลับมา แต่จะถูกนำกลับไปคืนสู่พนักงานแอลพีซี ในรูปแบบของค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ ที่มากกว่าบริษัททั่วไป

และล่าสุด แอลพีซียังได้รับการรับรองเป็นกิจการเพื่อสังคม จากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งถือเป็น 1 ใน 15 กิจการที่ได้รับการพิจารณาในครั้งนี้ และถือเป็นบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายแรก ที่มีบริษัทในเครือได้รับการรับรองเป็นกิจการเพื่อสังคม จึงทำให้แอลพีซีต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุว่า ชื่อบริษัทต้องให้มีคำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (LPC Social Enterprise Company Limited)” ในปัจจุบัน

“สุรัสวดี ซื่อวาจา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของแนวคิด บริษัทเพื่อสังคม ที่เป็นกิจการเพื่อสังคม เกิดจากความมุ่งมั่นและตั้งใจของ แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ กรุ๊ป ที่ต้องการจะพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตสตรีด้อยโอกาส ด้วยการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างศักดิ์ศรี และโอกาสความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้น

เพราะที่ผ่านมา แอลพีเอ็นได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มพนักงานทำความสะอาดจากบริษัทภายนอกที่เข้ามาให้บริการในโครงการที่แอลพีเอ็นเป็นผู้บริหารชุมชน หรือก่อนหน้านี้อาจจะเรียกว่า “บริหารอาคาร” จึงรับรู้ เข้าใจถึงปัญหาและความเดือดร้อนของผู้หญิงเหล่านี้ จึงคิดหาวิธีการช่วยเหลือและแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จนเป็นที่มาของการตั้งบริษัทแอลพีซีขึ้น

“และบริษัทแอลพีซี ที่ก่อตั้งขึ้นถือว่ากิจการเพื่อสังคม ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้ให้บริการทำความสะอาดแล้ว ยังเป็นบริษัทที่เปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มสตรีด้อยโอกาสเข้ามาเป็นพนักงาน โดยแอลพีเอ็นเป็นผู้ลงทุน และไม่ปันผลกำไรกลับมาที่ตนเอง แต่จะปันกลับคืนไปสู่พนักงานแอลพีซี ในรูปแบบค่าจ้างและค่าตอบแทนที่สูงกว่า”

ถือว่าสูงกว่ามาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำถึง 10% อีกทั้งรูปแบบการจ้างงานของแอลพีซียังแตกต่างจากทั่วไป เพราะในตลาดบริการทำความสะอาดทั่วไปจะคิดค่าจ้างเป็นรายคน แต่เราเปลี่ยนวิธีรับงานเป็นระบบเหมา เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการคนที่เหมาะสมกับพื้นที่ในแต่ละครั้ง ทำให้สามารถลดจำนวนคนลง และเพิ่มรายได้ให้กับพนักงานในการว่าจ้างครั้งนั้น ๆ ด้วย”

“นอกจากการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อให้พนักงานแอลพีซีมีรายได้และเลี้ยงดูครอบครัวได้แล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษา เพราะผู้หญิงเหล่านี้ถือว่าเป็นกลุ่มด้อยโอกาส ที่อาจจะเข้าไม่ถึงการศึกษา บางคนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จึงได้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงาน ด้วยการจัดให้มีระบบการศึกษานอกโรงเรียน ให้ครูมาสอนหนังสือ ด้านการอ่านและการเขียน ให้กับพนักงานที่ยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้อีกด้วย”

“สุรัสวดี” กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกส่วนหนึ่งแอลพีซียังให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ในส่วนที่เป็นอาชีพเสริม อย่างการนวดแผนไทย ด้วยการส่งพนักงานไปเรียนกับครูผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหวังว่าถ้าเขาเหล่านี้ออกจากงานหรือเกษียณอายุ จะได้มีวิชาความรู้ติดตัวและนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ในอนาคตต่อไป

และหากพนักงานที่อายุครบ 60 ปีที่เกษียณอายุแล้ว ต้องการทำงานต่อเราก็เปิดโอกาสให้สามารถทำงานต่อได้ ตรงนี้จะช่วยให้เขารู้สึกถึงคุณค่าในตนเองมีความภูมิใจที่สามารถสร้างรายได้เพื่อดูแลครอบครัวของตนเอง

“ไม่เพียงเท่านี้ เรายังมีการส่งเสริมและสร้างความสุขให้กับพนักงาน อย่างการจัดเงินกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยเพื่อปลดหนี้นอกระบบ โดยบริษัทเป็นตัวกลางระหว่างพนักงานและเจ้าหนี้ ในการประสาน ไกล่เกลี่ยการปลดหนี้ ซึ่งจากการดำเนินงานที่มาถือว่าสามารถช่วยพนักงานปลดหนี้ได้หลายราย”

“ขณะเดียวกัน เรายังมองถึงการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินในอนาคตหลังจากที่ช่วยปลดหนี้ให้กับเขาแล้วโดยได้มีการฝึกให้พนักงานทำบัญชีครัวเรือน เพื่อจะได้รู้ถึงรายรับ รายจ่ายของตนในแต่ละเดือน และสามารถวางแผนการใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังส่งเสริมการออมให้กับพนักงาน โดยเชิญชวนให้พนักงานเข้าร่วมในโครงการรักการออม ซึ่งมีเงินเพียง 100 บาทก็สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ และหลังจากออมเงินครบ 12 เดือนแล้ว บริษัทก็จะมีเงินสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง ถือเป็นการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานออมเงินอีกทางหนึ่งด้วย”

ถึงตรงนี้ “สุรัสวดี” บอกว่า นอกจากการได้รับโอกาสในการทำงานแล้ว พนักงานกลุ่มนี้ยังมีแนวคิดที่จะส่งต่อสิ่งดี ๆ สู่สังคม โดยได้มีการรวมตัวกันทำกิจกรรมจิตอาสาให้กับพื้นที่สาธารณะ รอบ ๆ พื้นที่โครงการที่เขาเหล่านั้นทำงานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวัด ชุมชนรอบข้าง สถานีตำรวจ

“ในปีที่ผ่านมา เขาเหล่านี้ได้ทำกิจกรรมจิตอาสารวมกว่า 2,100 ครั้ง รวมถึงการทำความดีในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการช่วยเหลือเจ้าของร่วมที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ตรงนี้จึงทำให้เห็นถ้าเรามอบสิ่งดี ๆ ให้กับใครก็ตาม เขาจะรับรู้และส่งต่อความดีเหล่านี้ออกไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับการที่แอลพีซีได้ดูแลสตรีด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว เขาเหล่านี้ยังร่วมกันสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม แม้ว่าจะน้อยนิดก็ตาม”

“ปัจจุบันแอลพีซีมีพนักงานอยู่ราว 1,900 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นสตรีด้อยโอกาสที่เกิดจากมีการศึกษาน้อย มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวเพียงคนเดียว หรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากการจ้างงาน ตลอดจนเป็นผู้สูงวัย เราจึงเหมือนเป็นกลไกเล็ก ๆ ในสังคมที่ได้ช่วยเหลือ และมอบโอกาสในการทำงานให้กับผู้หญิงกลุ่มนี้ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

นับเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตสตรีด้อยโอกาส ด้วยกิจการเพื่อสังคม ที่สามารถสร้างรายได้ สร้างโอกาส สร้างศักดิ์ศรี สร้างความสุขสู่พนักงาน และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสังคม ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน