ถอดมุมคิด “เฮียฮ้อ” “เราเตรียมคนให้พร้อมตลอดเวลา”

นับแต่ปี 2549 ที่บริษัท อาร์ เอส จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยมี “สุรชัย (เฮียฮ้อ) เชษฐโชติศักดิ์” นั่งตำแหน่งประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

จนถึงวันนี้ผ่านมา 11 ปีเต็ม

เป็น 11 ปีเต็มที่ “สุรชัย” มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในการทำธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ โดยเฉพาะการบริหารจัดการธุรกิจค่ายเพลง เพราะโลกของเสียงดนตรีเริ่มส่งสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างให้เห็น เนื่องจากเทรนด์การฟังดนตรีของคนหนุ่มสาวทั่วโลกเริ่มมีทางเลือกมากขึ้น หลังจากที่วิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

ผู้ฟังส่วนใหญ่ต่างหันไปฟังเพลงจาก MP 3 และไอพ็อด ขณะเดียวกัน เมื่อมีแฟลชไดรฟ์ออกมา เพราะเก็บหน่วยความจำของเพลงได้มากกว่าหลายร้อยเท่า ความสำคัญของแผ่นซีดีจึงค่อย ๆ หายไป

กระทั่งเพลงส่วนใหญ่ของโลกเข้ามาอยู่ในยูทูบ และมาอยู่ในสมาร์ทโฟนเช่นในปัจจุบัน

แผ่นซีดีจึงกลายเป็นขยะของวิวัฒนาการในที่สุด

สิ่งต่างๆเหล่านี้“สุรชัย” เฝ้าติดตามปรากฏการณ์ตลอดมา เพราะอาร์ เอสมีธุรกิจต้นน้ำคือ “ค่ายเพลง” ดังนั้น เมื่อโลกของการฟังเพลงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีดิจิทัล เขาจึงจำเป็นต้องผลัดใบธุรกิจต้นน้ำ อันเป็นธุรกิจหลักในอดีตมาเป็นธุรกิจรอง ๆ ลงมา

ด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ออกเป็น 4 กลุ่มคือ

หนึ่ง กลุ่มธุรกิจสื่อ

สอง กลุ่มธุรกิจสุขภาพ และความงาม

สาม กลุ่มธุรกิจเพลง

สี่ กลุ่มธุรกิจรับจ้าง และผลิตกิจกรรม

สิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือผู้บริหารในทุก 4 กลุ่มธุรกิจ “สุรชัย” จะไม่ใช้คนภายนอกเลย หากเขาเชื่อฝีมือคนอาร์ เอสมากกว่า เพราะคนเหล่านี้คลุกคลีกับเขามานาน สมัยตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท อาร์.เอส.ซาวด์ จำกัด เมื่อ 35 ปีก่อน

“ทุก ๆ กลุ่มธุรกิจของอาร์ เอสเราไม่ใช้คนภายนอกเลย แต่เราใช้คนภายในทั้งหมด เราทำเพลง วิทยุ ฟุตบอล กีฬา ทีวี หรือกระโดดมาทำช่องแซตเทลไลต์ และทีวีดิจิทัลในเวลาต่อมา แม้แต่ธุรกิจใหม่อย่างสุขภาพ และความงาม ผมก็ใช้ทีมผู้บริหารของเราเองทั้งหมด”

“ผมเริ่มต้นจากความเชื่อ และความเชื่อไม่มีถูก ไม่มีผิด ตรงนี้เป็นแคแร็กเตอร์ส่วนตัวของผม ผมเชื่อว่าผู้บริหารที่อยู่ใกล้ตัวผม มีความสามารถ อยู่ที่ว่าเราจะกล้าให้เขาลองมั้ย และพร้อมเรียนถูก เรียนผิด และปรับตัวไปด้วยกัน ผมเชื่อว่าการทำธุรกิจ นอกจากความสำเร็จแล้ว สิ่งที่เป็นมูลค่า และคุณค่าคือการได้เรียนรู้ ดังนั้น ถ้าผมจะทำธุรกิจใหม่ ผมอาจนำเงินก้อนหนึ่งไปลงทุน และผมก็ไปดึงใครไม่รู้เข้ามาบริหาร เพื่อรอผลกำไรอย่างเดียว อันนี้ไม่ใช่ทิศทางของผม”

“แต่ผมชอบไปคลุกคลี ไปทำงานด้วยกัน ไปให้รู้ว่าธุรกิจเป็นอย่างไร ถ้าจะชนะ ชนะอย่างไร ถ้าแพ้ แพ้เพราะอะไร ผมชอบแบบนี้มากกว่า และผมก็นำสิ่งเหล่านี้มาใช้กับคนอาร์ เอสด้วย เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ และสนุกไปกับการทำอะไรใหม่ ๆ ผมว่าการทำธุรกิจมันท้าทายตรงนี้”

ฉะนั้น เมื่อถามว่า “สุรชัย” มีกลวิธีการเลือกคนอย่างไร เขาตอบว่าผมแบ่งระดับของการเลือกคน 2 อย่างด้วยกัน อย่างแรกผมเป็นผู้เลือกเอง ก็จะเป็นระดับบริหาร แต่ถ้าเป็นระดับกลาง ๆ เราจะมีวัฒนธรรมองค์กร และมีวิถีของอาร์ เอสในการเลือกคนเข้ามาทำงานโดยเฉพาะ

“แต่สิ่งสำคัญ เขาจะต้องมีทัศนคติที่ดี และที่ใช่ หมายความว่าความคิดเขาจะต้องแมตช์กับอาร์เอสได้ ดังนั้น เวลาเราเลือกคนมาทำงาน เราจะมองเรื่องทัศนคติเป็นหลัก และดูว่าเขาเข้ากันได้กับวิถีขององค์กรหรือเปล่า ผมว่าตรงนี้สำคัญที่สุด ส่วนแบ็กกราวนด์ พื้นฐานการศึกษา เกรดเฉลี่ย สถาบันเป็นเรื่องรอง ๆ ลงมา”

“เช่นเดียวกับระดับบริหาร ผมเป็นคนสัมภาษณ์เอง และผมยังให้ความสำคัญกับเรื่องทัศนคติเหมือนเดิม การศึกษารอง ๆ ลงไป ผมไม่เชื่อว่าการพูดคุยเพียงครึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งชั่วโมงจะบอกอะไรได้ เพราะเราเองไม่ใช่ผู้วิเศษ ฉะนั้น เรื่องของทัศนคติ เรามีเวลาดูกัน 3-4 เดือนที่จะบอกว่าเลือกถูกมั้ย และเขาใช่หรือเปล่า ซึ่งผ่านมาผมมักเลือกไม่ค่อยผิดหรอก (หัวเราะ)”

“ดังนั้น เวลาผมทำธุรกิจใหม่ ผมเปรียบเทียบการเลือกผู้บริหารเหมือนการเล่นหมากรุก ผมอาจมีเบี้ยอยู่เต็มกระดาน แต่ไม่ใช่หมายความว่าผมเล่นกับคุณ แล้วจะใช้วิธีแบบเดียวกับที่เล่นคนอื่น เพราะแต่ละเกม ผมจัดเกมใหม่ เกมนี้อาจอาจเลือกเรือ ม้าไว้ข้างหน้า ขุนไว้ข้างหลัง หรือเกมนี้ ผมอาจจะเลือกเบี้ยไว้เยอะหน่อย ก็แล้วแต่เกม ผมถึงเชื่อว่าเวลาทำธุรกิจ ความสำคัญอยู่ที่การเลือก ไม่ว่าเราจะเลือกอัศวิน หรือขุนพลที่จะเป็นแม่ทัพ เราจะทำงานร่วมกัน ผมว่าสิ่งนี้สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ”

เพราะธุรกิจเดี๋ยวนี้แข่งขันกันที่ความเร็ว แต่กระนั้น จะต้องมีคุณภาพด้วย เพราะหากเร็วอย่างเดียว แต่ไม่มีคุณภาพ ธุรกิจจะไม่เกิดความยั่งยืน ผลเช่นนี้ จึงทำให้อดถามถึงแผนการสืบทอดตำแหน่งไม่ได้ เพราะก่อนหน้า “สุรชัย” เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ยึดติดกับตำแหน่งซีอีโอ พร้อมจะให้ใครเข้ามาบริหารอาร์ เอสก็ได้ ถ้าเขามีความเป็นมืออาชีพจริง

ในวันนี้จึงถามเขาอีกครั้งว่า…ยังคิดเช่นนั้นอยู่หรือไม่ ?

เขาตอบหนักแน่นว่า…ยังคิดอยู่

“ประชาชาติธุรกิจ” จึงถาม “สุรชัย” ต่อว่า…แล้ววางแผนให้ใครมาสืบทอดตำแหน่งหรือยัง ?

“ยัง”…เขาตอบ พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า…ผมไม่ได้คิดถึงตรงนั้นเลย ผมไม่มี Successor อยู่ในใจ ผมยังสนุกกับการทำงานมาก เวลาผมตัดสินใจอะไร ผมใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียว

“สมมุติว่าถึงวันนั้น ผมจะต้องถอยหลังออกมานั่งตำแหน่งประธานที่ปรึกษา เพื่อจัดโครงสร้างการบริหารอีกครั้ง เพื่อให้ใครมานั่งตำแหน่งซีอีโอ ผมจะใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียว เพราะผมรู้อยู่แล้ว เห็นอยู่แล้วว่าใครเหมาะสม”

“บางทีการใช้ความคิดนาน ๆ ไม่ได้บอกอะไร เพราะเรื่องบางเรื่องเราคิดตลอดเวลาอยู่แล้ว แค่วันไหนจะต้องตัดสินใจ เราก็เอาระบบความคิดที่คิดมาเรื่อย ๆ นั่นแหละมาประมวล อย่างทุกวันนี้ ผมก็คิดไปเรื่อย ๆ เพราะยังไม่ได้ใช้ไง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ต้องใช้ เราก็นำเรื่องเหล่านั้นมาวิเคราะห์ ประชุมบอร์ดให้ทราบ และใช้เดี๋ยวนั้นเลย ผมถึงบอกว่าถ้าผมจะต้องเลือกจริง ๆ จึงใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง”

“อีกอย่าง ผมไม่เชื่อว่าเราจะวางอนาคตอาร์ เอส 5 ปีเป็นอย่างไร 10 ปีเป็นอย่างไร ผมคิดว่าอุตสาหกรรมอย่างผม มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถวางแผนเรื่องธุรกิจ และคนได้นานขนาดนั้น เพราะโลกธุรกิจมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครคาดการณ์ล่วงหน้าได้หรอกว่าโลกข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ดังนั้น วิธีดีที่สุดคือเราต้องเตรียมคนของเราให้พร้อมตลอดเวลา”

เพราะถ้าคนของอาร์ เอสใน 4 กลุ่มธุรกิจมีความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยี และดิจิทัล เขาจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เอง ที่สำคัญ “สุรชัย” ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะให้ลูกชายทั้ง 2 คน(เชษฐ์-โชติ เชษฐโชติศักดิ์) ซึ่งถือเป็นเจเนอเรชั่นรุ่นใหม่เข้ามาเป็นไม้ต่อธุรกิจ

แม้ธุรกิจข้างหน้าจะต้องขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ก็ตาม

“สุรชัย”บอกว่า…ผมไม่เคยคิดเช่นนั้นแม้ใครจะบอกว่าโลกทุกวันนี้ต้องขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่แต่มุมมองของผมมองว่าคนรุ่นใหม่ต้องไม่เกี่ยวกับอายุ หรือคนอายุน้อย ๆ ถึงจะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ผมกลับคิดว่าคนรุ่นใหม่ต้องเป็นคนที่คิดอะไรใหม่ ๆ ออกมามากกว่า แม้เขาจะอายุมากแล้วก็ตาม

“ดังนั้น เวลาใครถามผมว่าลูก ๆ ทั้ง 2 คนจะเข้ามาเป็นไม้ต่อธุรกิจมั้ย ผมบอกได้เลยว่าตอนนี้ยัง เขายังอยากทำอะไรของเขาก่อน ผมแค่คอยสนับสนุนให้เขาประสบความสำเร็จ ที่สำคัญ เขาทั้งสองคนรู้จักอาร์ เอสละเอียดมาก เราคุยกันทุกวัน และผมก็ได้มุมมองอะไรใหม่ ๆ จากพวกเขา เพราะโลกของเขาจะรับรู้อะไรที่เร็วกว่าเรา ตรงนี้ต้องยอมรับความเป็นจริง แต่สิ่งที่เขาขาด และสู้เราไม่ได้คือการวิเคราะห์”

“ผมอาจได้มุมมองจากเขา แต่ผมต้องมาวิเคราะห์ด้วยประสบการณ์จากผมเอง และผมไม่เคยบอกเขาว่าจะต้องมาช่วยป๊านะ ผมคิดว่าการทำธุรกิจต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่เขาอยากทำเสียก่อน ไม่ใช่ผม อยากให้เขาทำ เพราะเมื่อเขาอยากทำจริง ๆ เขาจะสนุกกับมัน ซึ่งเหมือนกับผมในวันนี้ ที่ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานอยู่ทุกวัน”

“ผมไม่เคยเหนื่อย และไม่เคยรู้สึกท้อเลย”

อันเป็นคำตอบของ “สุรชัย (เฮียฮ้อ)เชษฐโชติศักดิ์” ในวันนี้