“มิตรผล”ยึดตลาดคาร์บอนฯ ใช้ชีวมวลกู้โลกพ้นความร้อนลดปล่อย CO₂

“กลุ่มมิตรผล” ลุยขายคาร์บอนเครดิตให้แบงก์กสิกรไทย ช่วยลดอุณหภูมิโลก แพลนปี”62 เข็น 3 โปรเจ็กต์โรงไฟฟ้าชีวมวล ขอรับรองคาร์บอนเครดิตเพิ่ม ขึ้นแท่นผู้ผลิตรายใหญ่ของไทยด้วยยอด 9.8 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการลงนามซื้อขายคาร์บอนเครดิตประจำปี 2561 ระหว่างธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ซื้อ กับบริษัท มิตรผล จำกัด ในฐานะผู้ขาย โดยคาร์บอนเครดิตดังกล่าวได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ภายใต้โครงการ “ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” หรือ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยนำปริมาณการลด/ดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ขายให้กับองค์กรอื่น ๆ ที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซได้ด้วยตัวเองได้ ทั้งนี้ การซื้อ-ขายดังกล่าวถือเป็นการกระตุ้นการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 7-20 ภายในปี 2563 และในระยะยาวที่ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 อีกด้วย

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า นโยบายของกลุ่มมิตรผลต้องการดูแลทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน จึงนำธุรกิจหลักที่มีอยู่ คือ ธุรกิจอ้อย และน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล มาต่อยอดด้วยการขายคาร์บอนเครดิต โดยการดำเนินการดังกล่าว นอกจากช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานอีกด้วย โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวลของกลุ่มมิตรผลที่มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 700 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของเอเชีย-แปซิฟิกในขณะนี้

ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองไปแล้วถึง 489,000 ตัน มาจากการลดปล่อยก๊าซของโรงไฟฟ้าชีวมวลไบโอพาวเวอร์ ในอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และยังมีโครงการที่อยู่ในระหว่างขอรับรองคาร์บอนเครดิต จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกฯ คือ โรงไฟฟ้าชีวมวล พาเนล พลัส ไบโอ เพาเวอร์ จังหวัดสงขลา

และในปี 2562 กลุ่มมิตรผลจะดำเนินการขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และขอรับรองคาร์บอนเครดิตเพิ่มอีก 3 โครงการ เช่น จากโรงไฟฟ้ามิตรผล ไบโอพาวเวอร์ ในพื้นที่อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง 150,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเมื่อโครงการใหม่เข้าระบบทั้งหมดในปี 2562 จะทำให้กลุ่มมิตรผลสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานของ T-VER ได้รวมทั้งสิ้น 980,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ถือเป็นผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตรายใหญ่ของประเทศอีกด้วย

“ธุรกิจทั้งหมดล้วนเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ธุรกิจไฟฟ้าชีวมวลของมิตรผลในช่วงที่ผ่านมา เริ่มต้นในปี”45 จนถึงวันนี้มิตรผลกลายเป็นบริษัทดำเนินธุรกิจไฟฟ้าชีวมวลรายใหญ่ของเอเชีย-แปซิฟิก มีกำลังผลิตไฟฟ้ากว่า 700 เมกะวัตต์/ปี สร้างพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้ชานอ้อยและวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิง ด้วยแนวคิดที่ต้องการให้สังคมยั่งยืน สอดคล้องกับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานไทย และผลักดันให้ไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างต่อเนื่อง”

ขณะที่ “นายปรีดี ดาวฉาย” กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กสิกรไทยมีแนวคิดที่จะทำธุรกิจภายใต้แนวคิดเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม มีธรรมาภิบาลที่ดี และช่วยสร้างความสมดุลในทุกมิติ ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กสิกรไทยให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะเชื่อมโยงต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ฉะนั้น ทุกคนจะต้องช่วยกันรับผิดชอบในฐานะที่เป็นพลเมืองโลกด้วย

“กสิกรไทยน่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยึดแนวทางความยั่งยืนมาตลอด นอกจากนี้ กสิกรไทยยังให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาภาวะโลกร้อน และหันไปใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนมากขึ้น”

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ในความตกลงปารีส ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จัดขึ้นในปี 2558 ที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน (global warming) ที่ส่งผลต่อประชาคมโลกในมุมกว้าง ทำให้ทั่วโลกเริ่มช่วยกันลดผลกระทบอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยเป้าหมายที่กำหนดไว้คือจะร่วมกันลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นอีกประมาณ 1-5 องศาเซลเซียส

โดยมีกว่า 177 ประเทศที่เข้าร่วมลงนามความตกลงปารีส แต่จนถึงปัจจุบันยังควบคุมอุณหภูมิของโลกค่อนข้างยาก ฉะนั้น จึงต้องดูในแต่ละประเทศว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจก และการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ยังมีอีกหลายกลไกที่จะช่วยเสริมทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน โดยส่งเสริมให้เอกชนที่มีศักยภาพให้ดำเนินโครงการลดโลกร้อน ต่อยอดไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงาน กระตุ้นให้มีความต้องการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ เป็นแรงหนุนของประเทศที่จะลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!