มอง CSR ระดับโลก จัดระเบียบสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

สืบเนื่องเพราะ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวเปิดงานสัมมนาประชาชาติฯ ฟอรั่ม CSR 360 องศา รวมใจ…นำไทยยั่งยืน โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันโลกให้ความสนใจเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals)

อย่างไรก็ตาม โลกกำลังอยู่ในสภาวะ Post-Truth ซึ่งคนกำลังนำความชอบและไม่ชอบเป็นที่ตั้งมากกว่าการคิดวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย ทำให้เกิดความขัดแย้งและไม่สงบ

“สาเหตุหนึ่งคือความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียม และถูกละทิ้ง เมื่อได้สั่งสมความรู้สึกเหล่านี้ ท้ายที่สุด จึงเกิดเป็นความโกรธ ส่งผลต่อความตึงเครียดทางสังคม และเกิดสังคมแตกแยกตามมา”

กระนั้น สังคมไทยไม่ได้มีแค่รัฐและประชาชน แต่ยังมีภาคธุรกิจที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมดีขึ้น

ภาคเอกชนสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ โดยผ่านการทำซีเอสอาร์ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ และต้องไม่ใช่การทำเพื่อการประชาสัมพันธ์ หรือแก้ไขภาพลักษณ์บริษัท มิฉะนั้นจะเรียกว่าความรับผิดชอบต่อตนเอง ยกตัวอย่าง การทำซีเอสอาร์จะต้องนำปัญหา หรือความต้องการของสังคมเป็นที่ตั้ง แล้วนำทรัพยากรมาใช้อย่างเป็นระบบ ทั้งยังจะต้องมีเป้าหมายในการดำเนินงานที่ชัดเจน

“เพราะประเทศไทยกำลังวางแนวทางในการแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นคง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ซึ่งภาคเอกชนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการแสดงบทบาทด้านนี้”

ในมุมที่สอดรับกันนี้ “ดร.ศุภชัย พาณิชภักดิ์” อดีตเลขาธิการที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้า และการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจะมาปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “CSR ประชาคมโลก-ประชารัฐไทย”

เบื้องต้น “ดร.ศุภชัย” บอกว่า จากการที่ผมทำงานในระดับโลกต่อเนื่องมากว่า 11 ปี ผมเรียนรู้อะไรมากมาย และสิ่งที่ได้เรียนมากที่สุดคือรู้ว่าในโลกนี้ไม่มีที่ไหนอบอุ่นเท่ากับประเทศไทย เพราะผู้คนมีความเข้าอกเข้าใจกัน แม้ว่าบางครั้งจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

“ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหา 108 ประการ แต่ผ่านมาได้เสมอ ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ๆ เพราะประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงเอกลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่คอยหล่อหลอมและช่วยเหลือมาตลอด จนทำให้เราต้องสำนึกในการอยู่ร่วมกันได้”

“เราอยู่ด้วยกัน จะลืมคำว่า ความเห็นอกเห็นใจ-ความเอื้ออาทร ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้อยู่ในพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงที่ใช้อยู่ในทั่วโลก”

“และผมในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งถูกสอนมาให้คิดมาก คิดยาก และเมื่อทรัพยากรเป็นทรัพย์สมบัติของโลก และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาแล้วนั้น เข็มทิศเรื่องความเอื้ออาทรจะเป็นแนวทางใหม่ในการขับเคลื่อนโลกใบนี้ เช่นเดียวกับเรื่องของ CSR, ESG (Environmental, Social, and Governance), SDGs และการปฏิบัติงานต่าง ๆ อันถือเป็นสาระสำคัญในการขับเคลื่อนแนวทางซีเอสอาร์ทั้งสิ้น”

นอกจากนั้น “ดร.ศุภชัย” ยังกล่าวอีกว่า ปัจจัยพื้นฐานของการสร้างสังคมให้สงบสุขมีอยู่ 4 เรื่องหลัก ๆ คือ

หนึ่ง ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ยอมรับในความเห็นที่มีความแตกต่างกัน สื่อสารกันอย่างเข้าใจ และร่วมมือกันแก้ปัญหา

สอง จริงใจซึ่งกันและกัน คือรับฟัง และพูดคุยกันอย่างไม่มีอคติ

สาม ความอดทน สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่นเดียวกับนโยบายของภาครัฐที่ไม่ใช่ทำวันนี้จะเห็นผลในทันที อาจจะต้องใช้เวลาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในระยะยาวเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

เพราะความยั่งยืน จะต้องเหลือให้แก่รุ่นลูก รุ่นหลาน ไม่ใช่มุ่งใช้ทรัพยากรของโลกให้หมดไป

ประเทศที่มีซีเอสอาร์ที่ดีต้องมาจากคน อย่างเช่นที่ประเทศนอร์เวย์ มีการขุดค้นพบน้ำมัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจ และมองว่าน้ำมันที่พบจะต้องใช้ไปถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน ไม่ใช่จะขุดขึ้นมาเพื่อทำเงินทำกำไรเพียงอย่างเดียว ประเทศนอร์เวย์จึงมีการจัดตั้งกองทุนน้ำมันที่ถูกนำมาใช้ และลงทุนเพื่อลูกหลานในอนาคตต่อไป ทั้งยังถือเป็นกองทุนขนาดใหญ่ของโลก และยังช่วยพัฒนาโลกใบนี้ต่อไปด้วย ตรงนี้ถือเป็น Sustainable CSR

ไม่เพียงเท่านี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังมีการจัดตั้งโครงการเพื่อความโปร่งใสในการสกัดทรัพยากร (Extractive Industries Transparency Initiative) หรือ EITI สำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสกัดทรัพยากร ที่ครอบคลุมตั้งแต่ปิโตรเลียมจนถึงสินแร่ เพื่อเป็นมาตรฐานสากลที่ส่งเสริมความโปร่งใส และการบริหารทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของแต่ละประเทศ จะนำไปสู่ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างเหมาะสม

สุดท้าย ข้อสี่ การรู้จักการให้อภัย โดยเปรียบเทียบกับคู่รักกันจะอยู่ด้วยกันได้ ไม่ใช่แค่การคิดเหมือนกัน แต่ต้องยอมรับความแตกต่างร่วมกันให้ได้ ชีวิตรักจึงจะยั่งยืนยาวนาน เช่นเดียวกับนักประพันธ์อมตะของโลก “ลีโอ ตอลสตอย” (Leo Tolstoy) ที่เคยสอนคู่บ่าวสาวว่า เห็นเหมือนกัน คิดเหมือนกัน เป็นสิ่งดีมาก แต่สิ่งที่ทำให้อยู่ร่วมได้คือสิ่งที่คิดต่าง แล้วเราจะอยู่ร่วมกันได้ เช่นเดียวกับ CSR เราต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้อื่นเช่นกัน

“ดร.ศุภชัย” กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพูดถึงคือ Agenda 2030 หรือ (Transforming our world: the 2030 Agenda for Sustainable Development) เป็นสิ่งที่ต้องทำร่วมกันเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ และยังเป็นเป้าหมายของ SDGs อีกด้วย

“เนื่องจากโลกใบนี้มีวิกฤตต่าง ๆ มากมาย มีการแข่งขันต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่เพราะเราขาดความรู้ แต่เราขาดเข็มทิศทางด้านจริยธรรม ขาดความพอเพียง และไม่รู้ว่าจะไปทางไหน จนนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น และแม้ประเทศไทยจะผ่านปัญหามามากมาย แต่เรามีเข็มทิศทางจริยธรรม ที่เป็นหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสิ่งที่ขาดไปไม่ใช่ความรู้ แต่กลับเป็นปรัชญา หรือแนวทางที่จะเดินไปทางไหนต่อ และใช้อย่างพอเพียงมากกว่า”

แม้ว่าในประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันทั้ง 2 ประเทศก็มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำสูงมากเช่นกัน ในขณะที่ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้แถบจะไม่มี อย่างเรื่องการศึกษา ถ้าคนที่เรียนเก่ง เขาไม่ช่วยเหลือสนับสนุน แต่ถ้าคนเรียนไม่เก่ง เขาจะดูแลจนกว่าจะเก่งเท่ากัน หรือเก่งขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม Agenda 2030 เป็นทิศทางที่จะเปลี่ยนโลก โดยมี 17 เป้าประสงค์ และ 169 เป้าหมายรองรับ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำใน SDGs ทั้ง 17 ข้อถือเป็นหัวใจสำคัญ และเป้าประสงค์ที่ 17 ก็ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญ ในเรื่อง Global Partner ซึ่งผมมองว่าเป้าประสงค์ที่ 17 ยังมีอีก 3 ข้อย่อยที่ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กันคือ 1.การใช้ทรัพยากรในประเทศ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด

“ที่บอกว่าโลกตอนนี้ประเทศยากจนอยู่ได้ด้วยประเทศร่ำรวยเอาเงินมาให้ใช้ แต่ตอนนี้โลกจะอยู่ได้ด้วยการพึ่งทรัพยากรของตัวเองมากที่สุด คือไม่ใช่แค่เอาปลาไปขายเอง แต่ต้องรู้จักตกปลาเอง ปลูกผักเอง เพราะการช่วยเหลือตัวเองได้เป็นเรื่องของโกลบอลพาร์ตเนอร์ชิป”

2.การสนับสนุนกระบวนการพหุภาคี ซึ่งถือเป็นการร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ต้องสนับสนุนความร่วมมือกัน ไม่ใช่มองแค่ตัวเองเป็นคนสำคัญเท่านั้น

และ 3.เรื่องของการวัดความเจริญของประเทศผ่าน GDP อาจจะไม่ครอบคลุม เพราะ GDP เป็นทิศทางในการวัดเศรษฐกิจในภาพรวม แต่วัดความเจริญของประเทศทั้งหมดไม่ได้ เพราะไม่ได้รวมสิ่งที่สร้างคุณค่าและประโยชน์ให้กับประเทศ เช่น การทำความดี ช่วยเหลือสังคม ไม่สามารถวัดผลผลิตที่เกิดขึ้นได้ หรือแม้กระทั่งการที่เอกชนเข้าไปส่งเสริมชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ดีขึ้น ก็ไม่สามารถวัดได้

จนทำให้การวัดความเจริญของประเทศด้วย GDP จึงไม่ใช่การวัดความสุข ความเป็นมนุษย์ อันเป็นเหตุผลที่จะมาหาตัวชี้วัดเหล่านี้

ขณะที่มุมมองของ “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด ซึ่งจะมาปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “โครงสร้างของความยั่งยืน” โดยเบื้องต้นเขานำเสนอมุมมองว่า ผลพวงจาก Millennium Development Goals หรือ MDGs ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้นในปี 2000 ในการลดระดับประชากรที่อยู่ในเกณฑ์ยากจนลงได้อย่างมาก จนกระทั่งเกิดเป้าหมายใหม่ คือ SDGs ที่ครอบคลุมมากขึ้นทั้งในแง่มิติคือเรื่องความยากจน สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การศึกษา และความยุติธรรมในสังคม ทั้งยังครอบคลุมประเทศทุกระดับเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งแก้ปัญหาของประชากรในยุคปัจจุบัน หากยังคำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชากรในอนาคต

“นอกเหนือจากเป้าหมายของความยั่งยืน สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่าคือวิธีการ เพราะยังคงมีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าธุรกิจในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่มุ่งแสวงหากำไร จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในมิติความยั่งยืนได้จริงหรือไม่ เกิดกระแสสังคมโน้มเอียงไปในความเชื่อว่าธุรกิจที่ปราศจากแนวคิดเรื่อง CSR นั้นมิใช่ธุรกิจที่สมบูรณ์”

“เพราะที่ผ่านมาธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไร ถือเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ดังนั้นหากธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรม จะเป็นการแทรกแซงบิดเบือนกลไกของระบบทุนนิยมทั้งหมด ไม่ว่าจะมีการกำหนดเป้าทาง CSR หรือความยั่งยืนให้กับธุรกิจเป็นพิเศษหรือไม่ หากเป้าหมายเหล่านั้นคือสิ่งที่ตลาดต้องการ สุดท้ายตลาดย่อมจะกดดันให้ธุรกิจต้องตอบในมิติต่าง ๆ เอง หากตลาดผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ไม่ได้ใช้สารเคมี ในไม่ช้าธุรกิจย่อมต้องขายสินค้าไร้สารเคมี หากตลาดแรงงานเรียกร้องคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีกว่าเดิม ในที่สุดธุรกิจย่อมต้องกลับไปปรับปรุงสวัสดิการและค่าจ้างเพื่อดึงดูดคนงาน”

“หรือในขณะที่คนอาจรู้สึกว่าธุรกิจระบบทุนนิยมเป็นสัตว์ร้าย ไร้การควบคุมที่คิดจะสร้างความเสียหายอย่างไรก็ได้เพื่อสร้างกำไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ ธุรกิจจะไม่อาจสร้างกำไรอะไรได้เลย หากธุรกิจไม่ประสบผลสำเร็จในการตอบความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลายให้ได้ครบถ้วน ในทางตรงกันข้าม หากตลาดยังไม่มีความต้องการในเรื่องใด การพยายามบังคับให้ธุรกิจลงทุนภายใต้หัวข้อ CSR มีแต่จะทำให้ธุรกิจสูญเสียทรัพยากรที่จะนำไปใช้ตอบตลาดในเรื่องอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“บรรยง” กล่าวเสริมว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แปลว่าเมื่อมีระบบทุนนิยมแล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้ไขสิ่งใด สิ่งที่ต้องทำคือการปรับปรุงระบบทุนนิยมด้วยความเข้าใจกลไกและธรรมชาติอย่างถ่องแท้ โดยมีหลักสำคัญ 2 ประการที่ถือเป็นหัวใจสำคัญคือ

หนึ่ง ต้องเป็นไปเพื่อลดการผูกขาดให้ได้มากที่สุด โดยไม่ทำให้มาตรฐานทาง CSR ถูกบิดเบือนเป็นเครื่องมือที่ธุรกิจใหญ่ใช้เป็นกำแพงป้องกันการเข้ามาของธุรกิจเล็ก หรือคู่แข่งใหม่ อาทิ การกำหนดให้ผู้ค้ายาต่างประเทศต้องผ่านมาตรฐานการตรวจสอบที่มากกว่าปกติ หรือการกีดกันไม่ให้นำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่ได้มีมาตรฐานสวัสดิการแรงงานที่ดีพอ ฯลฯ

สอง ต้องตระหนักว่าตลาดที่แข่งขันสมบูรณ์ไม่มีอยู่จริงในทุกสถานการณ์ ดังนั้นโครงสร้างทุนนิยมที่ดีจะต้องมีพื้นที่ให้รัฐเข้ามาวางนโยบายการควบคุมอุตสาหกรรม จัดหาสาธารณูปโภคไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ตลอดจนจัดเก็บภาษี และจัดสรรทรัพยากรเพื่อสร้างความเป็นธรรม โดยมีข้อแม้ว่า โครงสร้างนี้จึงต้องยืดหยุ่น และมีการประเมินเหตุผลของมาตรการของภาครัฐอยู่เสมอ หากสามารถสร้างโครงสร้างที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ และมีรัฐคอยประกบควบคุม ทุนนิยมจะดำเนินไปได้โดยเข้มแข็ง

โดยโครงสร้างต้องครอบคลุมมิติอย่างกว้างขวางครบถ้วน เพราะในสถานการณ์ที่คับขันขนาดนี้ เราอาจไม่มีเวลาอีกแล้วสำหรับความผิดพลาด อย่างที่ “บัน คี มูน” เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเคยพูดว่า…เราพลาดไม่ได้ เพราะเราไม่มีโลกใบที่สองให้แก้ตัว

“ทุนนิยมอาจไม่ใช่สิ่งที่สวยงามที่สุด แต่ผมเชื่อว่าทุนนิยมน่าจะยังมีบทบาทสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาของโลกใบนี้”