“นกยูง” ในดินแดน “เพนกวิน”

คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์

โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

 

เมื่อวันก่อนได้รับเชิญไปพูดในหัวข้อ From Good to Great ให้กับผู้บริหารและลูกค้าขององค์กรแห่งหนึ่ง ผมเริ่มต้นด้วยการชวนผู้ฟังคิดว่าเหตุใดบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เคยประสบความสำเร็จ อย่าง Kodak, Nokia, Blockbuster, IBM, Motorola, Polaroid ฯลฯ จึงล้มเหลว

เป็นเพราะพวกเขาไม่รู้เหรอว่าการเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึง ?

คงไม่น่าเป็นไปได้ เพราะขนาดผู้ที่อยู่นอกวงการอย่างเรา ยังมองเห็น และสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แล้วคนที่ทำธุรกิจนั้น ๆ โดยตรง จะไม่สำเนียกเลยหรือ เดิมทีผมเคยเชื่อว่าองค์กรจะประสบความสำเร็จได้

ต้องอาศัยปัจจัยหลัก ๆ 3 อย่างประกอบกัน คือ

1.มีเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน

2.มีกลยุทธ์ที่สามารถทำความฝันให้เป็นความจริง

3.มีการผลักดัน ติดตาม และประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ

แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาในฐานะที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่าง ๆ มากมาย กลับพบว่าหลายองค์กรที่มีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ประการ ไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป แล้วอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ขาดหายไป ?

ผมตามหาอยู่นาน จนกระทั่งมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “A Peacock in The Land of Penguins” (นกยูงในดินแดนของนกเพนกวิน) จึงค้นพบคำตอบ

หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นเล่าถึงนกเพนกวินฝูงหนึ่งที่อาศัยอยู่รวมกันบนเกาะแห่งหนึ่ง วันหนึ่งเพนกวินหัวหน้าฝูงเรียกประชุมเหล่าเพนกวินผู้ใหญ่ เพื่อหารือกันว่า…จะทำอย่างไรจึงสามารถเพิ่มความหลากหลายของนกในหมู่เกาะแห่งนี้ได้

เพราะที่ผ่านมามีแต่นกเพนกวินสีขาวดำ เดินไปเดินมา ไม่มีความคิดใหม่ ๆ ไม่มีสิ่งแปลก ๆ ไม่มีความแตกต่างหลากหลาย ดูแล้วน่าเบื่อ

หลังจากถกกันอยู่นาน ที่ประชุมสรุปว่า…เราต้องช่วยกันสรรหานกใหม่ ๆ แปลก ๆ มาอยู่บนเกาะด้วยกัน

จากนั้นภารกิจการตามล่าหานกใหม่จึงเริ่มต้นขึ้น

ในที่สุด จึงได้นกมากมายหลายชนิด อาทิ นกกระจอก, นกกางเขน, นกเอี้ยง, นกกระจอกเทศ, นกอินทรี รวมทั้งนกยูงด้วย และเพื่อช่วยให้นกเหล่านั้นปรับตัวเข้ากับเพนกวินบนเกาะแห่งนี้ได้เร็วขึ้น จึงจัดให้มีการปฐมนิเทศนกใหม่ รวมทั้งแจกสูทเพนกวินสีขาว-ดำ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งมอบหมายให้เพนกวินอาวุโสทำหน้าที่พี่เลี้ยง สำหรับนกใหม่ทุก ๆ ตัว

เมื่อเวลาผ่านไป นกแต่ละตัวต่างแสดงความเป็นตัวตนออกมา นกกระจอกก็ร้องจิ๊บ ๆ ทั้งวัน นกเอี้ยงก็ส่งเสียงร้องตามประสาของมัน นกกระจอกเทศก็วิ่งไปวิ่งมา นกยูงก็รำแพนหาง ฯลฯ

นกพี่เลี้ยงเริ่มให้ feedback กับนกชนิดต่าง ๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมของเกาะเพนกวิน นกบางตัวรับไม่ได้ ก็บินออกจากเกาะไป นกบางตัวพอปรับตัวได้ ก็กลายเป็นเพนกวินในรูปลักษณ์นกชนิดอื่น เหลือเจ้านกยูง
ตัวเดียวที่ยังอิหลักอิเหลื่ออยู่ ถูกเตือนไปหลายครั้งเรื่องรำแพนหาง จนกระทั่งได้จดหมายเตือนครั้งสุดท้าย (ทัณฑ์บน) หากรำแพนหางอีกที คราวนี้จะถูกขับออกจากเกาะ

แต่จนแล้วจนรอด นกยูงก็คือนกยูง เธอรำแพนหางครั้งสุดท้าย ก่อนที่ต้องจากเกาะเพนกวินแห่งนี้ไปพร้อม ๆ
กับความสับสนปะปนกับความเสียใจ เมื่อเวลาผ่านไป หัวหน้าใหญ่ของเหล่าเพนกวินเรียกประชุมนกผู้ใหญ่ทุกตัว เพื่อทบทวนโครงการสรรหานกใหม่ หลังจากถกกันอยู่นาน จึงได้ข้อสรุปว่า…นกชนิดต่าง ๆ ที่เราไปหามา เป็นนกที่ขาดคุณสมบัติที่เหมาะสม

จึงตกลงกันว่าจะไปช่วยกันหานกรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม

เรื่องราวจบลงเพียงเท่านี้ แต่ทิ้งคำถามไว้ให้คิดว่าตกลงปัญหาอยู่ที่นกใหม่ หรือปัญหาอยู่ที่เหล่านกเพนกวิน ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบ จึงถึงบางอ้อว่า…ไม่ว่าองค์กรจะมีวิสัยทัศน์ที่สวยหรู และกลยุทธ์โดดเด่นเพียงใด ก็แพ้วัฒนธรรมที่คนส่วนใหญ่ในองค์กรยังยึดถืออยู่

“Peter Drucker” กูรูด้านการบริหารจัดการ เคยเปรียบเปรยไว้ว่า…culture eats strategy for breakfast แปลว่า วัฒนธรรมกินกลยุทธ์เป็นอาหารเช้า หมายความว่าวัฒนธรรมมีความสำคัญมากกว่ายุทธศาสตร์ทางธุรกิจ

คำถามต่อไป คือ วัฒนธรรมมาจากไหน ?

คำตอบง่ายมากครับ วัฒนธรรมสะท้อนผู้นำ ผู้นำเป็นอย่างไร วัฒนธรรมก็เป็นอย่างนั้น ที่สำคัญ การสร้างและเปลี่ยนวัฒนธรรมนี่ ยากยิ่งกว่าการเขียนวิสัยทัศน์

และการกำหนดกลยุทธ์หลายเท่าตัว เพราะการเปลี่ยนวัฒนธรรมต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้นำด้วย คุณคิดว่ายากไหมล่ะ ?

ดังนั้น หากต้องการผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น และประสบความสำเร็จ ต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรก่อนเป็นอันดับแรก

มิเช่นนั้น ไม่ว่ากลยุทธ์จะดีเด่นเพียงใด ก็ไม่มีทางสัมฤทธิผล รังแต่จะเป็นอาหารให้วัฒนธรรมได้กินจนอิ่มท้อง เท่านั้นเอง