“CPF” มุ่งแก้ “ค้ามนุษย์” ร่วมมือ “FLEC” พัฒนาประมงยั่งยืน

ความเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ จากวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ใน 17 เป้าหมาย ส่วนหนึ่งธุรกิจมองว่าเป้าหมายในข้อ 10 และ 17 มีความสำคัญเป็นอย่างมาก คือเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและการร่วมมือเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน

สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องตระหนัก คือ เรื่องการมีธรรมาภิบาล ทั้งนี้เองประเทศไทยเคยติดใบเหลืองที่ทางสหภาพยุโรป หรือไอยูยูในด้านการทำประมงผิดกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2558 หน่วยงานรัฐและเอกชนจึงร่วมกันเดินหน้าจัดตั้งศูนย์สวัสดิภาพ และธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Fishermen Life Enhancement Center หรือศูนย์ FLEC) เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงาน และเมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปประกาศปลดสถานะใบเหลืองในภาคประมงไทย เพื่อยอมรับความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาของไทย


 

 

 

 

 

 

 

 


“CPF” หนุน “FLEC” แก้ค้ามนุษย์

“วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทร่วม MOU กับภาครัฐและสังคมในการสนับสนุนศูนย์สวัสดิภาพ และธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2563

โดยมีนโยบายสนับสนุนศูนย์ FLEC ให้เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สนับสนุนการแก้ปัญหาแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชน และป้องกันการค้ามนุษย์ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค ทั้งยังช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านการจ้างแรงงานตามมาตรฐานสากล และกฎหมายแรงงานในการเป็นต้นแบบกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้และป้องกันปัญหาแรงงานในระยะยาว

ขณะเดียวกัน ทางศูนย์มีแนวคิดที่จะส่งเสริมการอนุรักษ์ทะเลผ่านช่องทางการประมง โดยมุ่งเน้นความร่วมมือจากแรงงานประมงบนเรือ เพื่อลดผลกระทบจากขยะที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล อันจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดมุ่งสนองตอบต่อแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติ (SDGs)

“เนื่องจาก CPF ทำธุรกิจสัตว์น้ำคือการเพาะเลี้ยงกุ้ง เราจะต้องมีห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวกับบริบททางทะเล การประกอบการประมงคือการรับซื้อปลาป่นจากโรงงานผู้ผลิต ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิด

ปัญหาที่มองว่าเราเป็นผลพวงของการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น ถ้า CPF เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาตรงนี้ คู่ค้าของเราเขาจะมีความยินดีที่เรามีส่วนร่วมการแก้ไขปัญหาในเรื่องของแรงงาน ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจ ความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าของลูกค้า และภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเราด้วย เช่นเดียวกับโครงการซีพีเอฟ ปลูกปันป้องป่าชายเลน ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557”

“FLEC” ยกระดับคุณภาพชีวิต

“นาตยา เพชรัตน์” กรรมการศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (FLEC) กล่าวว่า จากการดำเนินงานของศูนย์ FLEC ในรูปแบบความร่วมมือของ 5 องค์กร นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อกลางปี 2559 ที่ผ่านมา ศูนย์ได้ช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและป้องกันการค้ามนุษย์เชิงรุก รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน และช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของแรงงานประมง และครอบครัวแบบครบวงจร

ปัจจุบันศูนย์ FLEC ดำเนินการเพิ่มทักษะอาชีพเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และเป็นทางเลือกเป็นอาชีพสร้างรายได้เสริมในอนาคต รวมไปถึงการเพิ่มทักษะชีวิตแก่แรงงานและครอบครัว ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่คนในสังคมให้ช่วยเป็นหูเป็นตาป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการให้ศูนย์เป็นศูนย์กลางความน่าเชื่อถือและไว้วางใจของแรงงานเพื่อนำไปสู่การขจัดปัญหาแรงงานในสงขลาให้หมดลงและป้องกันปัญหา

ส่วนของความยั่งยืนด้านคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว ศูนย์ดำเนินกิจกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานในทุกด้าน ครอบคลุมความเป็นอยู่ การเข้าถึงสาธารณสุข ขยายโอกาสทางการศึกษาภาคบังคับของบุตรแรงงานในประเทศไทย การเพิ่มทักษะความรู้เกษตรพอเพียงเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนแก่ครอบครัวของแรงงาน เช่น สอนปลูกผักสวนครัว ทำน้ำยาล้างจาน ตลอดจนการขยายโอกาสให้แรงงานบนเรือประมงเข้าถึงการใช้ยาและความรู้ด้านสุขอนามัยมากขึ้น

“ปัญหาการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานผิดกฎหมายมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมอื่น ๆ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการแก้ปัญหา ศูนย์ FLEC จึงเป็นต้นแบบของความร่วมมือเพื่อดำเนินงานด้านปัญหาแรงงาน และพัฒนาคุณภาพชีวิต สามารถสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมทั้งด้านปัญหาแรงงานที่เป็นภาพลักษณ์ของประเทศ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน และสามารถขยายเครือข่ายในการป้องกันปัญหาได้มากขึ้น”

ฉะนั้น ทิศทางของประเทศไทยกับเรื่องของการละเมิดแรงงานหรือว่าการค้ามนุษย์ จึงต้องมองอย่างครอบคลุมไม่ใช่เจาะจงในกลุ่มอาชีพใดกลุ่มอาชีพหนึ่ง เพราะมีโอกาสเกิดขึ้นในทุกเส้นทางอาชีพที่แรงงานเข้ามาทำงาน จึงต้องมองให้มากกว่าเรื่องของประมง

ภาคสังคมให้ความรู้แรงงาน

“สาคร สารทลาลัย” ตัวแทนจากสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางเรามีการให้ความรู้กับทางผู้ปกครองเด็กที่เป็นแรงงานประมง ในเรื่องของอนามัยเจริญพันธุ์ วางแผนครอบครัวให้เขามีความพร้อมในการอยู่ประเทศไทย เพื่อลดการมีบุตรเพิ่มขึ้นในประเทศไทย

“ส่วนเรื่องการจัดการเรียนการสอน เรามีห้องเรียนสำหรับเด็กที่มากับผู้ปกครองให้เข้ามาอยู่ในศูนย์ เพื่อเตรียมความพร้อมและให้ความรู้กับเด็กเรื่องการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้นในประเทศไทย เพื่อให้สามารถที่จะเรียนต่อได้ หรือเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะส่งกลับไปอยู่ประเทศของตัวเอง ซึ่งภายในศูนย์จะมีสอนทั้งวิชาภาษาไทย และภาษากัมพูชา”

“สำหรับปัญหาที่พบ เนื่องจากเด็กที่อยู่ในศูนย์มีระดับอายุวัยต่างกัน ตั้งแต่อายุ 4-12 ปี อีกทั้งเด็กที่เข้ามาอยู่ภายในศูนย์ใหม่ ๆ อาจพูดภาษาไทยไม่ได้ ต้องสอนภาษาไทยให้เป็นเรื่องแรก ที่สำคัญจำนวนเด็กภายในศูนย์ก็ไม่คงที่ เพราะเด็กมีการย้ายตามผู้ปกครองที่เป็นแรงงาน ซึ่งก่อนหน้านี้มีเด็กจำนวน 40 คน ในการจัดการเรียนการสอนเราก็จะแบ่งเป็น 2 เวลา เช้าและบ่าย”

“แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่เด็กย้ายถิ่นฐานกลับไปยังประเทศของตัวเอง และปัจจุบันมีจำนวนเด็กอยู่ภายในศูนย์ 20 คน
เราจึงนำเด็กมาเรียนร่วมกัน เพราะง่ายต่อการดูแล เพื่อพยายามที่จะไม่ให้เด็กออกจากบริเวณภายในศูนย์ หรือไปใกล้บริเวณการทำงานของผู้ปกครองคือบริเวณท่าเทียบเรือ เพื่อป้องกันไม่ให้มองว่าเป็นการใช้แรงงานเด็ก”

ผลตรงนี้จึงเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหา และเดินหน้าอย่างเข้มแข็งมาอย่างต่อเนื่องในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน