การสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

คอลัมน์ CSR Talk

โดย ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา

ผ่านไปแล้วกับฤดูกาลแห่งการประเมินเรื่องความยั่งยืนขององค์กร ทั้งแบบประเมินความยั่งยืน (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) ของ RobecoSAM สถาบันผู้ประเมินจากสวิตเซอร์แลนด์ และแบบประเมินหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment หรือ THSI) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ซึ่งปีนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีคำถามเฉพาะรายอุตสาหกรรมเพิ่มเข้ามาด้วย แต่คำตอบจากคำถามเฉพาะนี้จะเริ่มนำมาคำนวณในปี 2563 ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับบริษัทที่เข้าร่วมประเมินได้เตรียมตัว และเห็นแนวคำถามกันก่อน และ DJSI จะประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับในวันที่ 13 กันยายน ส่วน THSI นั้นจะประกาศผลประมาณเดือนตุลาคม ขอเอาใจช่วยทุกบริษัทค่ะ

เมื่อไม่นานมานี้ ดิฉันมีโอกาสพบกับผู้บริหารของบริษัทหนึ่งในอุตสาหกรรมอาหารค่ะ ท่านบอกว่าบริษัทมีความตั้งใจเป็นอย่างมากที่จะดำเนินธุรกิจบนแนวทางแห่งความยั่งยืน เพราะบริษัทเองก่อตั้งมายาวนานกว่า 40 ปีแล้ว และความตั้งใจนี้มิได้เป็นเพราะต้องการได้รับการจัดอันดับอยู่ในดัชนีความยั่งยืนหรือรางวัลใด ๆ แต่คณะผู้บริหารเชื่อว่าการดำเนินธุรกิจบนวิถีแห่งความยั่งยืนจะปรับปรุงการดำเนินงานภายในองค์กรให้มีคุณภาพมากขึ้น ส่งเสริมให้บริษัทดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนจริง ๆ

ดิฉันรับฟังท่านด้วยความยินดีอยู่ภายในใจ เพราะนี่คือสิ่งที่ดิฉัน และเพื่อน ๆ ในแวดวงคนทำงานด้านความยั่งยืนต้องการมาโดยตลอด หลังจากนั้น ท่านถามดิฉันว่าแล้วเราจะทำอย่างไรให้พนักงานเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนนี้ได้บ้าง ดิฉันตอบท่านไปว่าทีมงานด้านความยั่งยืนและฝ่ายบุคคลต้องทำงานร่วมกันในการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนภายในองค์กรจนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรในที่สุด

เพราะถ้าหากเราไปคุยกับเขาเพียงแค่ช่วงกลางปีที่ทำแบบประเมิน หรือปลายปีที่ต้องเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่หน่วยงานในองค์กรจะมองเรื่องความยั่งยืนเป็นงานที่เพิ่มเข้ามาจากความรับผิดชอบปกติ แต่หากเราหมั่นสื่อสารเรื่องเหล่านี้ภายในองค์กรบ่อย ๆ พนักงานจะเริ่มรับแนวคิดนี้มาปรับใช้ในการทำงานได้

สำหรับวิธีการสื่อสารนั้น เบื้องต้นอาจต้องมาดูกันก่อนว่าพนักงานในองค์กรมีลักษณะเป็นอย่างไร ในองค์กรมีช่องทางในการสื่อสารกับพนักงานอย่างไรบ้าง เพื่อจะสามารถปรับ หรือต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสม ดิฉันมีตัวอย่างการสื่อสารภายในองค์กรเรื่องความยั่งยืนจาก 3 องค์กรมาฝากกันค่ะ

“คุณนำพล ลิ้มประเสริฐ” ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี เล่าให้ฟังว่าที่เอสซีจีมีการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนหลากหลายรูปแบบ ทั้งการส่งเมล์ภายในองค์กร, การจัดกิจกรรมและการฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ที่สอดแทรกแนวคิดเรื่องความยั่งยืนเข้าไปด้วย อาทิ หลักสูตร Ready Together สำหรับพนักงานเข้าใหม่จะมี session เรื่องความยั่งยืนโดยเฉพาะ หากเป็นพนักงานระดับกลางจะมีหลักสูตร Business Concept Development ที่มีการสอนเรื่องความยั่งยืน โดยจัดต่อเนื่องมานานกว่า 30 ปี มีจำนวนพนักงานที่ผ่านหลักสูตรแล้วกว่าพันคน

อีกหลักสูตรหนึ่งคือ Young Talent Management (YTM) ที่จัดให้ผู้บริหารระดับกลางของบริษัท มีเนื้อหาเชื่อมโยงประเด็นด้านความยั่งยืนต่าง ๆ มาไว้ในหลักสูตรนี้โดยเฉพาะ และได้จัดอบรมอย่างต่อเนื่องมา 15 ปี มีผู้ผ่านการอบรมกว่า 300 คน โดยมีความตั้งใจให้ผู้บริหารที่ผ่านการอบรมเป็น SD ambassador (ทูตความยั่งยืน) ของบริษัท

อีกวิธีการหนึ่งคือการบอกเล่าเรื่องความปลอดภัย (safety contact) ในแง่มุมต่าง ๆ ทุกครั้งก่อนเริ่มการประชุม หรืออบรม เพื่อให้พนักงานได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ประเด็นหลักด้านการพัฒนาความยั่งยืนของเอสซีจีว่า “คิดก่อนทำ เราปลอดภัย” (Think Safe Work Safe)

ด้าน บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น “ดร.จงโปรด คชภูมิ” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนองค์กร เล่าให้ฟังว่าตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2527 บางจากมีวิสัยทัศน์ว่าจะพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม พนักงานจะซึมซับแนวความคิดนี้มาตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกผู้สมัครเข้ามาเป็นพนักงานของบางจากจะเลือกบุคคลที่มี DNA แบบเดียวกัน อีกทั้งยังมีผู้บริหารระดับสูงเป็นต้นแบบสำหรับการทำงานที่คำนึงถึงความยั่งยืน โดยมักจะถามเสมอว่าสังคม หรือชุมชนจะได้อะไรจากการกระทำใด ๆ ของบางจาก หรือสิ่งนี้จะสร้างผลกระทบต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างไร

โดยมักไม่ค่อยถามถึงผลประโยชน์ด้านธุรกิจ ตรงนี้จึงเป็นการตอกย้ำ และหล่อหลอม วิสัยทัศน์ ค่านิยมขององค์กรผ่านกระบวนการทำงานที่สื่อสารออกไปสู่พนักงานให้ทราบว่าบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร

“ดร.จงโปรด” เล่าให้ฟังอีกว่าเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน บริษัทสามารถจัดการเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงครึ่งวันเท่านั้น ซึ่งหากไม่เกิดเหตุ เราจะไม่ทราบเลยว่าสิ่งที่ได้ทำมาตลอดนั้นได้ส่งผลแล้ว นี่คือผลลัพธ์เมื่อทำงานด้วยความจริงใจ เราจึงได้รับการยอมรับจากสังคม (social license to operate) เพราะชุมชนมองคนบางจากทุกคนเหมือนเป็นลูกหลานของพวกเขา นอกจากการมีผู้บริหารเป็นต้นแบบที่ดีแล้ว ต่อมายังมีการพัฒนา KPI ของพนักงานในด้านการมีส่วนร่วมกับชุมชนอีกด้วย

ตัวอย่างสุดท้ายจาก บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น “คุณสุดารัตน์ เจริญเกตุมงคล” หัวหน้าสายงานบริหารลูกค้าและการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนแบ่งปันว่า การสื่อสารด้านความยั่งยืนของเอสซีฯจะเริ่มจากวิสัยทัศน์ของบริษัท “เพื่อเช้าวันใหม่ที่ดี (For Good Morning)” ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกบ้านของเอสซีฯมีเช้าวันใหม่ที่ดี และสดใสเพื่อให้สามารถออกไปสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับทั้งตนเองและสังคมได้ โดยเริ่มจากผู้บริหารระดับสูงทำตัวเป็นต้นแบบ เพื่อให้พนักงานเห็น และเข้าใจถึงวิธีการทำงานที่นำแนวคิดด้านความยั่งยืนมาปรับใช้ การออกแบบสารเรื่องความยั่งยืนที่ต้องการจะสื่อจะต้องมีความสนุก น่าสนใจ เข้าใจง่าย และเลือกวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมกับพนักงานในแต่ละเจเนอเรชั่น อาทิ จดหมายภายในองค์กร, LINE@, คลิปวิดีโอ และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ เอสซีฯยังมีการสื่อสารผ่านกลุ่มพนักงาน SC people champion ผู้เปรียบเหมือนสื่อกลางระหว่างบริษัทกับพนักงานเพื่อลดช่องว่างระหว่างกัน สิ่งเหล่านี้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับพนักงาน และพัฒนาเป็นวัฒนธรรมองค์กรด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในที่สุด

การสร้างวัฒนธรรมด้านความยั่งยืนให้เกิดขึ้นภายในองค์กรนั้นต้องใช้เวลา และถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งค่ะ แต่ผลลัพธ์นั้นยิ่งใหญ่คุ้มค่า เมื่อองค์กรมีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนแล้ว การสื่อสารให้พนักงานได้เข้าใจ จะสร้างแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ถึงเป้าหมายการเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนได้ค่ะ

ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวทางการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนภายในองค์กรจาก 3 บมจ. ที่นำมาแบ่งปันกันในครั้งนี้ จะช่วยให้ท่านมีแนวคิดสำหรับสร้างการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนที่เหมาะสมระหว่างบริษัท และเพื่อนพนักงานของท่านค่ะ