ESG บริบทใหม่แบงก์กรุงศรี มุ่งสู่ธนาคารชั้นนำ-เติบโตยั่งยืน

ปัจจุบันความต้องการของผู้ลงทุนในเรื่องของข้อมูลบริษัทจดทะเบียน ไม่ได้มีเฉพาะแต่ข้อมูลทางด้านการเงินเท่านั้น หากยังให้ความสำคัญกับข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลอีกด้วย หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ “ESG” (environmental, social and governance)

เพราะข้อมูล ESG ทำให้ผู้ลงทุนเห็นโอกาส และความเสี่ยง รวมถึงขีดความสามารถขององค์กรที่มีผลต่อการเจริญเติบโตในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนใช้ตัดสินใจเลือกที่จะลงทุน โดยเห็นได้จากตัวเลขการเติบโตของกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG มาผนวกในการวิเคราะห์ โดยในปี 2561 พบตัวเลขมีเม็ดเงินสูงถึง 17.54 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับปี 2559

จากความสำคัญดังกล่าว ทำให้หลายองค์กรธุรกิจนำเอา ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ของการดำเนินธุรกิจ ทั้งยังมีการประเมิน และจัดการผลกระทบที่มีต่อผู้คนในสังคม และโลก ด้วยการเปิดเผยข้อมูลในด้านต่าง ๆ ทั้งการจ้างงานอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในมิติต่าง ๆ

เฉกเช่นเดียวกับ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่ไม่เพียงให้ความสำคัญ และนำเอา ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมีการตั้งสายงานด้าน ESG ขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งมี “พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน เป็นหัวเรือใหญ่ในการแสวงหาแนวทาง นโยบาย หรือแนวปฏิบัติ เพื่อพัฒนากลุยทธ์ด้าน ESG ให้ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ

“พูนสิทธิ์” เล่าให้ฟังว่า สายงานด้าน ESG ถือเป็นหน่วยงานใหม่ของธนาคารกรุงศรีฯ ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยพัฒนากลยุทธ์ในเรื่อง ESG ซึ่งเป็นทราบกันดีว่า ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เป็นสิ่งที่ผู้ลงทุน หรือแม้แต่หน่วยงานที่กำกับดูแล ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมถึงคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คาดหวังและให้ความสำคัญ

“เพราะส่งผลให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงเรื่องของ ESG เช่นกัน โดยเฉพาะในบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่เริ่มเข้าใจว่าการมีกลยุทธ์ หรือกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG ที่ดี จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร ทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่ความยั่งยืนได้ในที่สุด”

“ในส่วนของธนาคารกรุงศรีฯ เรามองว่า ESG เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งยังสอดคล้องกับทิศทางของโลก ซึ่งถ้าหากย้อนดูพันธกิจของเราจะพบว่า เป้าหมายสำคัญ คือ การมุ่งเป็นธนาคารชั้นนำในภูมิภาค ตอบสนองความต้องการของสังคม และลูกค้าอย่างยั่งยืน ตรงนี้เองจึงถูกนำมาเป็นแนวปฏิบัติ และกลยุทธ์ในการจัดการความเสี่ยงของเรา ซึ่งจากการประเมินพบว่า สิ่งที่สำคัญในเรื่อง ESG มีอยู่ 2 มิติ ได้แก่ ผลกระทบทางตรง (direct impact) อย่างการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ผ่านการใช้ไฟฟ้า การขนส่ง การเดินทางติดต่อสื่อสาร ซึ่งตรงนี้ธนาคารจำเป็นต้องหาวิธีในการลดการปล่อย CO2 ในกระบวนการธุรกิจ”

“โดยเราจัดให้มีการบริหารจัดการ ดูแลพนักงาน ทั้งในเรื่องของสวัสดิการ คุณภาพชีวิต รวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ทั้งยังมีส่วนช่วยเหลือชุมชนในสังคมที่ธนาคารเข้าไปดำเนินธุรกิจ ส่วนเรื่องธรรมาภิบาลจะเป็นเรื่องของการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเราเป็นสมาชิกของแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption-CAC) ทั้งยังมีแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ”

ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม (indirect impact) “พูนสิทธิ์” บอกว่า เราในฐานะผู้ให้บริการทางด้านการเงินสามารถมีส่วนทำให้ ESG ดีขึ้น ด้วยการไม่ปล่อยเงินกู้ หรือการปล่อยสินเชื่อ ให้กับธุรกิจที่สร้างผลกระทบในด้านลบต่อทรัพยากรธรรมชาติ หรืออุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในภาพรวมอย่างรุนแรง ขณะเดียวกัน เรายังมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการ หรือกระบวนการสู่อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตรงนี้ถือเป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งธนาคาร และเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างมาก

“ส่วนบริบททางด้านสังคม เราจะให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่ไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ใช้แรงงานเด็ก หรือใช้แรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งเหล่านี้เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมเหล่านั้นมีส่วนรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจ มีมาตรฐานเป็นตามกฎหมาย นอกจากนี้ ในเรื่องของธรรมาภิบาล เราฐานะสมาชิก CAC จะต้องสนับสนุนให้ลูกค้าเป็นสมาชิก และแจ้งให้ลูกค้าว่าเราเป็นหนึ่งในสมาชิก ซึ่งไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ”

“จะเห็นได้ว่าสายงานนี้เป็นเรื่องใหม่มาก ๆ ซึ่งอาจจะเรียกว่าการบริหารจัดการความเสี่ยงรูปแบบใหม่ เพราะเดิมนั้นการปล่อยสินเชื่อจะมองเพียงความสามารถในการชำระหนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ GDP ที่จะส่งผลต่อการชำระ แต่วันนี้และในอนาคต ถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไปอีก 1 องศา ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ของธุรกิจอย่างไร”

“หรือถ้ามีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รัฐออกกฎหมายในการยกเลิก ห้ามใช้พลาสติก จะส่งผลต่อเราอย่างไร ลูกค้าผู้ผลิตพลาสติกที่ไม่สามารถเปลี่ยน production line มาเป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ จะกระทบต่อพอร์ตสินเชื่อของธนาคารอย่างไรบ้าง ซึ่งการประเมินแบบนี้ถือว่ามีความยากขึ้น เพราะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความเสี่ยง ESG จึงเป็นสิ่งจำเป็นทั้งต่อธุรกิจของตัวเราเอง และธุรกิจของลูกค้า”

“พูนสิทธิ์” กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกส่วนสำคัญคือการทำความเข้าใจ และสื่อสารให้กับคนในองค์กรรู้ว่า ESG คืออะไร โดยจะมีการจัดกิจกรรมสร้างองค์ความรู้ สร้างความตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานที่จะต้องไปหาลูกค้า หรือแม้กระทั่งทีมบริหารความเสี่ยงต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนี้ อีกทั้งต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร

“ในการทำงานนั้น เรายังนำนโยบาย หรือทางปฏิบัติที่ดีของ Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) ในเรื่อง ESG มาเป็นกรอบในการพัฒนากลยุทธ์ แต่ด้วยความที่ธุรกิจของธนาคารกรุงศรีฯมีกว่า 17 กลุ่ม สิ่งที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันได้ เราจึงใช้กรอบความเข้าใจในเรื่อง sustainable banking และ ESG ในการทำความเข้าใจถึงผลกระทบ และสิ่งที่เป็นความยั่งยืน จนออกมาเป็น 2 ประเด็นที่จะใช้เป็นกรอบในการดำเนินธุรกิจทั้ง 17 กลุ่ม คือ การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ และความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์การเงิน”

“เพราะต่อไปในอนาคต ความต้องการของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป การออกผลิตภัณฑ์และบริการ จำเป็นต้องตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมในวงกว้าง อย่างในปัจจุบันเราเองให้ความสนใจเรื่องของ green finance ทั้งตัว green bond ที่เป็นลักษณะของพันธบัตรที่สนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ social bond ที่เป็นการนำเงินที่ได้จากการระดมไปช่วยเรื่องการจ้างงานให้กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรือการสนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง คาดว่าภายในปีนี้จะมีการออกพันธบัตรดังกล่าวตัวใดตัวหนึ่ง เพียงแต่ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้”

“ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีโครงการที่จะร่วมกับ ตลท.ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยการบริการทางด้านการเงิน โดยนำเอาบล็อกเชนเข้ามาใช้ เพื่อให้ทุกคนสามารถตรวจสอบว่าเงินที่บริจาคไปอยู่ตรงไหน ส่งต่อไปยังบัญชีผู้รับได้อย่างไร ตรงนี้เป็นการนำเอานวัตกรรมเข้าใช้ในการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ ถือเป็นพันธกิจที่สำคัญขององค์กรนั้น ๆ”

ถึงตรงนี้ “พูนสิทธิ์” บอกว่า เมื่อมีกรอบในการดำเนินธุรกิจทั้ง 2 เรื่องแล้ว ธนาคารกรุงศรีฯจึงพยายามเชื่อมโยงเรื่อง ESG เข้ากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals-SDGs) โดยเชื่อมกรอบการดำเนินธุรกิจเพื่อจะช่วยลดปัญหาความยากจน พัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต ทำให้ชุมชน สังคม มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“สำหรับการดำเนินการเรื่อง ESG ของเราจะทำตามแผนธุรกิจ 3 ปี โดยขณะนี้อยู่ในแผนที่ 2 ระหว่างปี 2561-2563 ซึ่งเพิ่งเริ่มดำเนินการ ขณะที่แผน 3 จะเริ่มตั้งแต่ปี 2564-2566 คาดว่าต่อไปเราจะเห็นเป้าหมาย ทิศทางในการดำเนินงานเรื่อง ESG ของธนาคารกรุงศรีฯที่มีความชัดเจนมากขึ้น”

“โดยมีการตั้งเป้าหมายถึงทาร์เกตในสิ่งที่ต้องการทำ ทั้งการออกผลิตภัณฑ์ทางด้านการเงินที่เหมาะสม หรือการกำหนดโครงสร้างอัตราส่วนของสินเชื่อว่าจะกี่เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในธรุกิจที่มี ESG และนอกจากการให้ความรู้เกี่ยวกับ ESG กับลูกค้าแล้ว ต่อไปเราเองอาจจะมีการคัดกรองหุ้น หรือประเมินหุ้นที่มีความเสี่ยงด้าน ESG น้อยที่สุด หรือไม่มีเลยให้กับผู้ลงทุน ซึ่งตรงนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี”

นับเป็นกลยุทธ์ที่สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรที่ต้องการมุ่งเป็นธนาคารชั้นนำในภูมิภาค เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม และลูกค้าอย่างยั่งยืนอีกด้วย