บทบาทตลาดทุนไทย สร้างภูมิคุ้มกันสังคมอย่างยั่งยืน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

ในงานสัมมนา “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” ที่จัดโดย “หนังสือพิม์ประชาชาติธุรกิจ” และ “สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” มีหัวข้อหนึ่งที่กล่าวถึง “บทบาทของตลาดทุน สร้างภูมิคุ้มกันสังคม ยกระดับสังคมยั่งยืน” โดยมี “ดร.ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แสดงปาฐกถาพิเศษ

ที่ไม่เพียงจะมุ่งเน้นเรื่องบทบาทของ ตลท.ต่อการเป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย หากในเรื่องของการดูแลและรับผิดชอบต่อสังคมก็ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ ตลท.จะต้องมอบองค์ความรู้ให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

“ดร.ภากร” บอกว่า สำหรับบทบาทของตลาดทุนที่จะมีส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันสังคมและยกระดับสังคมยั่งยืนนั้น จะเกี่ยวข้องกับ 2 บทบาทที่ ตลท.จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือหนึ่ง การสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนชาวไทยมีความรู้ ยกระดับความรู้ทางการเงิน ความมั่นคงทางการเงิน (financial literacy) ซึ่งถือเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญที่จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศก้าวผ่านกับดักความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

“สอง การสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างคุณภาพให้กับบริษัทจดทะเบียน โดยการยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG) ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจ จนพัฒนามาสู่การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (environmental) และสังคม (social) รวมเป็น ESG ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป”

“ดังนั้นทั้ง 2 บทบาทที่กล่าวมาจึงเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของ ตลท.ในการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้มีภูมิคุ้มกันและสามารถพัฒนาไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน เพราะวันนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง สิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกรรมต่าง ๆ ตลอดจนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมไทย”

Advertisment

“ทุกภาคส่วนจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับสภาพแวดล้อมที่จะเปลี่ยนไป ซึ่งการที่ ตลท.ร่วมมือกับทุกภาคส่วนจึงเหมือนเป็นการต่อจิ๊กซอว์ที่ผสานพลังจากจุดเล็ก ๆ ของระบบเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมต่อและร้อยเรียงสู่ภาพใหญ่ ซึ่งภาพใหญ่นี้กำลังเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนชาวไทยในเรื่องความรู้ ความสามารถทางการเงิน (financial literacy) ซึ่งหลายคนอาจมองว่าไกลตัว แต่ความรู้ในด้านนี้มีความสำคัญมาก และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ”

เพราะจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 25% ภายใน 10 ปี จาก 53.5% ของ GDP ในปี 2552 เป็น 78.6% ของ GDP ในปี 2561 โดยหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย (รองจากเกาหลีใต้) ทั้งยังพบว่าคนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย แถมยังมีหนี้มากขึ้น จนทำให้หนี้ไม่ลดลงเลย จนเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก

ฉะนั้นการมีความรู้ทางการเงินเพื่อการบริหารเงินส่วนบุคคลจึงถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องคำนึงถึง และเมื่อรวมกับความก้าวหน้าและวิทยาการทางการแพทย์ จะทำให้เราจะมีชีวิตที่ยืนนานขึ้นด้วย ตรงนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วง

“ดร.ภากร” กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อกลับมามอง “หนี้ครัวเรือน” ของไทย พบว่าส่วนใหญ่หนี้ที่เกิดขึ้นประมาณ 40-50% เป็นหนี้ระยะสั้น เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล, หนี้บัตรเครดิต, หนี้รถยนต์ ในขณะที่หนี้บ้านซึ่งเป็นหนี้ระยะยาวมีเพียง 33% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

Advertisment

“จากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อผสมผสานเข้ากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในเรื่องการเกิดขึ้นของ e-Commerce จนทำให้เราสามารถเลือกซื้อของผ่านโทรศัพท์มือถือ และจัดส่งได้ถึงที่ ความสะดวกสบายเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับที่ต้องเดินทางไปซื้อของอย่างในอดีต พฤติกรรมการใช้จ่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้การใช้จ่ายเงินมากขึ้น คำนึงถึงการออมน้อยลง และก่อหนี้เพื่อการบริโภคมากขึ้น”

“ภาระที่เกิดจากหนี้ระยะสั้นเหล่านี้ถือเป็นหนี้ที่ลูกหนี้ได้รับความกดดันสูงในภาพรวม เพราะการก่อหนี้เป็นการนำเงินในอนาคตออกมาใช้ และมีผลกระทบต่อการบริโภค โดยการก่อหนี้สามารถกระตุ้นการบริโภคได้เฉพาะในช่วงแรก ๆ แต่จะฉุดรั้งการบริโภคในอนาคต เพราะต้องนำเงินมาผ่อนจ่าย ทำให้เงินเหลือที่จะนำมาจับจ่ายใช้สอยมีน้อยลง ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาการเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาว”

“การมีความรู้และทักษะทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลานาน แต่เป็นเรื่องที่ควรทำ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาวของประเทศ”

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ตลท.จึงให้ความสำคัญต่อการเผยแพร่ความรู้ทางการเงิน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแรกให้กับประชาชนคนไทย โดย ตลท.ทำงานมาแล้วกว่า 2 ทศวรรษเพื่อวางรากฐานความรู้ทางการเงิน ในหลากหลายกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่ระดับนักเรียน เราปลูกฝังวินัยการออม เพื่อไม่ให้ใช้จ่ายเกินตัว เพราะยังไม่มีรายได้ ผ่านโครงการ Fin Lit for Youth โดยได้ผลักดันหลักสูตรด้าน personal finance เข้าสู่ระบบการศึกษา (เงินทองของมีค่า) ส่งเสริมความรู้และทักษะนอกห้องเรียนผ่านการแข่งขันเศรษฐศาสตร์ เพชรยอดมงกุฎ

ในระดับนักศึกษา บ่มเพาะความรู้ทางการเงิน ส่งเสริมการเรียนรู้ด้าน personal finance & investment ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และเตรียมพร้อมนักศึกษาเข้าสู่อุตสาหกรรม (Young Financial Star Competition) ในระดับประชาชนทั่วไป ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ ไปจนถึงวัยเกษียณ เราส่งเสริม financial literacy กลุ่มพนักงาน และมีโครงการ Happy Money, Happy Retirement ทั้งยังมีช่องทางให้ความรู้หลากหลาย ห้องสมุดมารวย มี INVESTORY (พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน) ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ การเงินและการลงทุน ส่วนกลุ่มที่เป็นผู้ลงทุน เราได้สนับสนุนให้เป็นผู้ลงทุนคุณภาพ ผ่านห้องเรียนนักลงทุน และส่งเสริมความรู้สู่นักลงทุนในวงกว้างผ่าน investor education platform และสื่อ social media, e-Learning

ภารกิจที่สำคัญนี้เกิดจากความร่วมมือและผสานพลังทั้งจากภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และเครือข่ายพันธมิตรที่ร่วมกันทำงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงาน ก.ล.ต. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ดังนั้นการที่ ตลท.ให้ความสำคัญและร่วมมือกับพันธมิตร ตลอดจนเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่และสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนชาวไทยมีความรู้ ยกระดับความรู้ทางการเงิน มีความมั่นคงทางการเงิน จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันแรกให้กับคนไทยใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ไม่สร้างหนี้เกินตัว มีเงินออม เข้าใจถึงทางเลือกในการลงทุนด้วยสินค้าและบริการที่หลากหลาย

“ดร.ภากร” กล่าวว่า สำหรับภูมิคุ้มกันที่สองคือภูมิคุ้มกันของภาคธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมา ตลท.ดำเนินการมาโดยต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนากฎเกณฑ์และองค์ความรู้เกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตั้งแต่ 25 ปีผ่านมา ทั้งยังวางรากฐานและพัฒนาองค์ความรู้ด้าน CG ให้กับบริษัทจดทะเบียน ซึ่งการที่ภาคธุรกิจมีธรรมาภิบาลที่ดี ได้ส่งผลให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายขึ้น จนทำให้บริษัทเติบโตต่อไปได้

“กว่า 20 ปีที่เราสร้าง infrastructure สร้างเครือข่ายกับทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรภายในประเทศและต่างประเทศ เรามุ่งพัฒนาธุรกิจและสังคม โดยให้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีธรรมาภิบาล CG และให้ความสำคัญกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งปัจจุบันเราบูรณาการ CG และ CSR และมุ่งสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน sustainability”

“ทุกวันนี้ระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เปลี่ยนแปลงไป การดำเนินธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืนเท่านั้น จะสามารถเป็นภูมิคุ้มกันที่ทำให้ภาคเอกชนประเทศไทยและโลกของเราเติบโตได้อย่างยั่งยืน ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างในปัจจุบันมี 20 บริษัทจดทะเบียนไทยมีชื่ออยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และยังมีอีกหลาย ๆ บริษัทจดทะเบียนไทย ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง สามารถดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และมีความรับผิดชอบต่อสังคมได้โดยเข้าร่วมในโครงการ THSI ตลท.”

“ภารกิจในการสร้างภูมิคุ้มกันกับสังคมไทย และเพื่อโลกของเรา ไม่ได้เป็นเรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ไม่ได้เป็นเรื่องของภาครัฐ หรือเอกชน แต่เป็นหน้าที่ ภารกิจของพวกเราทุกคนเราต้องร่วมมือกันสานพลังให้เกิดขึ้น สิ่งสำคัญต้องเริ่มต้นจากตัวเรา เริ่มจากครอบครัว จากที่ทำงาน จากธุรกิจที่จะปรับใช้ในชีวิตประจำวัน วิธีการปฏิบัติ และการวางแผนการทำงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ในที่สุดสิ่งต่าง ๆ จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย และโลกของเรา”

ถึงตรงนี้ “ดร.ภากร” บอกว่า สิ่งที่ ตลท.จะดำเนินการต่อจากนี้คือการเดินหน้าหาพันธมิตรเพื่อผลักดันและส่งเสริมให้เกิดภูมิคุ้มกันในการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักของสหประชาชาติให้เกิดขึ้น และมุ่งสร้างความยั่งยืนของประเทศไทย

ทั้งนี้เพราะ ตลท.ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อผสมผสานพลังจากจุดเล็ก ๆ ของระบบเศรษฐกิจในการเชื่อมโยงและร้อยเรียงไปสู่ภาพใหญ่ ดังนั้นความร่วมมือของ ตลท.จึงน่าจะสร้างประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมต่อไป