“SET” ภารกิจเพิ่มสีเขียว จับคู่ค้าปั้น “Platform” รักษ์สิ่งแวดล้อม

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นองค์กรแรกในอาเซียนที่เข้าไปอยู่ใน UN Sustainable Stok Exchang ตั้งแต่ปี 2557 ไม่เพียงแต่ประโยชน์ในแง่ของภาพลักษณ์องค์กรเท่านั้น หากยังเป็น “ตัวอย่าง” ให้กับองค์กรอื่น ๆ เพื่อดำเนินการเรื่องความยั่งยืน หรือ Sustainable Goals ตามกรอบของสหประชาชาติ (UN) รวม 17 ข้ออีกด้วย

“พรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา” ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหารและหัวหน้าสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล และพัฒนาองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการขยับในเรื่องของความยั่งยืนองค์กร หลังประสบความสำเร็จจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับสำนักงานใหญ่ จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ สู่การขยายความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม

“ตอนเมื่อย้ายอาคารสำนักงานใหญ่มาย่านรัชดาภิเษก กอปรกับระดับนโยบายมีความชัดเจนว่าจะโฟกัสไปที่ 5 เรื่องหลัก คือ 1) การสร้างคุณค่าของตลาดทุน 2) การบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน 3) การดูแลและพัฒนาสังคม 4) การดูแลและพัฒนาพนักงาน และ 5) การจัดการสิ่งแวดล้อม โดยใน 5 เรื่องหลักเหล่านี้จะเริ่มต้นจากสิ่งที่ทำได้ก่อน”

“สิ่งที่ทำได้ก่อน” ในความหมายของ “พรรณวดี” คือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยใช้อาคารสำนักงานใหม่เป็นตัวขับเคลื่อน เพราะอาคารสำนักงานถือเป็นการใช้ทรัพยากร จะทำอย่างไรให้สิ่งแวดล้อมการทำงานเกื้้อกูลต่อความเป็นอยู่ของพนักงาน และเกื้อกูลต่อสังคมโดยรวม การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ จะต้องไม่เบียดบังธรรมชาติ โดยต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบอาคารที่ “ลดการใช้พลังงาน”

“เรายอมเสียพื้นที่อาคารข้างละ 1 เมตร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวลงไปในการป้องกันความร้อน และเก็บอุณหภูมิเพื่อลดการใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะจากการใช้เครื่องปรับอากาศที่เคยใช้พลังงานมากที่สุดถึง 60-70% ในการใช้พลังงานรวมทั้งหมด เราจึงมากำหนดสเป็กของเครื่องปรับอากาศก่อนเลยว่า ต้องใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย และเมื่อเริ่มทำแล้วพบว่าลดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เราได้รางวัลมากมายจากหลายเวทีทั้งในและต่างประเทศ”

การใช้อาคารเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมาก เพราะมักจะพบข้อจำกัดจากขนาดพื้นที่ในการขยายพื้นที่สีเขียว จากเดิมที่ขยายโดยยึดพื้นที่แนวนอน จนถึงวันนี้ต้องมองการขยายแบบ “แนวตั้ง” เพิ่มเติม ซึ่ง “พรรณวดี” ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาใน 2 ประเด็นหลัก อันเป็นเสียงสะท้อนจากพนักงานในองค์กร คือ หากใช้วิธีเพิ่มสีเขียวบนโต๊ะทำงาน จะกลายเป็นว่าต้นไม้เข้ามาแย่งอากาศภายในอาคารหรือไม่ และประเด็นเรื่องของเชื้อราที่เกิดจากความชื้น เพราะต้นไม้ต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยง

หลังจากเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่สำนักงานแล้ว จึงมาโฟกัสเรื่องใกล้ตัวพนักงานในองค์กรทุกคน นั่นคือ “การจัดการขยะ” ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมของพนักงานในองค์กรเป็นหลัก รวมไปจนถึงบุคคลภายนอกที่เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯว่า การจัดการขยะเป็นเรื่องทุกคนต้องช่วยกัน

“พรรณวดี”บอกว่า เราเริ่มต้นแคมเปญ “ลดการใช้โฟม” (zero form) ในปี 2559 พร้อมทั้งรณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งอีกด้วย โดยในแต่ละวันภายในอาคารตลาดหลักรัพย์ฯมีการใช้โฟมอยู่ที่ 446 ใบ/วัน ถือเป็นปริมาณที่ค่อนข้างมาก จนกระทั่งวันนี้ไม่มีการใช้โฟมเกิดขึ้นในอาคารแล้ว

“เราไม่ได้เร่งให้คนทั้งองค์กรทั้งหมดต้องไม่ใช้โฟม แต่เราเริ่มทำให้มีความรู้สึกไม่อยากใช้ ด้วยการเชิญชวนพนักงานก่อน และใช้สถิติแต่ละชั้นเป็นตัวชี้วัด จนทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างชั้นด้วย ในช่วงแรกศูนย์อาหารของเรายังมีการใช้โฟมอยู่ จึงต้องลงทุนซื้อกระดาษที่ผลิตจากชานอ้อยให้ และมีการให้บริจาคกล่องที่ใช้ซ้ำได้ เราซัพพอร์ตตรงนี้อยู่3 เดือน ประมาณ 2 บาทกว่า/กล่อง หลังจากนั้น หากใครยังต้องการใช้กล่องจะต้องจ่ายเพิ่มในส่วนต่างดังกล่าว และสุดท้ายการไม่มีการใช้โฟมในที่สุด โดยไม่ได้ผลักภาระไปที่ผู้ประกอบการร้านอาหารแต่อย่างใด”

“พรรณวดี” ยังบอกอีกว่า เมื่อวางรากฐานตั้งแต่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และคัดแยกขยะก่อนทิ้งนั้น จึงตามมาด้วยแคมเปญที่มองเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบครบถ้วนทั้งกระบวนการ เริ่มที่การคัดแยกของเหลือใช้จากโต๊ะทำงานของพนักงาน ส่วนที่เหลือให้นำมาวางที่กองกลาง เช่น แม็กเย็บกระดาษที่ไม่จำเป็นต้องมีทุกโต๊ะ นอกจากนี้อาจมีบางอุปกรณ์ที่ไม่สามารถลดการใช้ลดลงได้ “พรรณวดี” ย้ำในประเด็นนี้ว่า ในเมื่อลดการใช้ไม่ได้ ก็ต้อง “ใช้ให้คุ้ม” จึงเป็นที่มาของแคมเปญที่เรียกว่า “ลดการใช้กระดาษ” โดยเริ่มจากลดการใช้กระดาษในการประชุม และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น ไอแพด เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯยังปลูกความเป็นสีเขียวไปจนถึงขั้นตอน “การจัดซื้อจัดจ้าง” ขององค์กรด้วย “พรรณวดี” อธิบายให้เห็นภาพว่า ต้องการให้คู่ค้าหรือหน่วยงานองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้บริการในมุมที่สอดคล้องกับนโยบายสีเขียวของตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการสรรหา จนถึงการคัดเลือกทีมจัดซื้อจัดจ้าง โดยเราจะหา “คู่ค้า” ที่มีลักษณะของความเป็นสีเขียว ตามมาตรฐานของสินค้าในกลุ่มนั้น ๆ เช่น กระดาษ คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงการใช้โรงแรมที่มีนโยบายส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วย โดยหากจะมีการจัดซื้อจัดจ้างอะไรก็ตาม สินค้าที่มีเรื่องสีเขียวจะเป็นทางเลือกอันดับแรก ๆ ในการพิจารณาคัดเลือกก่อนอีกด้วย

“ตอนนี้มีผู้ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสีเขียวมีราคาลดลงใกล้เคียงกับสินค้าปกติในหมวดเดียวกันแล้ว อย่างเช่น กระดาษ และเชื่อมั่นว่าในอนาคต สินค้าที่ส่งเสริมเรื่องสีเขียวในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จะมีราคาลดลงตามมา ตามความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นด้วย”

เมื่อถามถึงสเต็ปต่อไปของตลาดหลักทรัพย์ฯที่จะดำเนินการในเรื่องของสิ่งแวดล้อม “พรรณวดี” ฉายภาพว่า จะเริ่มขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตรให้มากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างเช่น กลุ่มงานที่ดูแลด้านอาคาร รวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรในพื้นที่ใกล้เคียงกับสำนักงานใหญ่ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น บริษัท AIA บริษัท ทรู บริษัท ซีพี และบริษัทในเครือเซ็นทรัล เป็นต้น รวมถึงยังมีโครงการช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก และการซื้อ-ขาย “คาร์บอนเครดิต” ให้กับภาคเอกชนที่มีความสนใจในอนาคตอีกด้วย

“ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในแง่ของสิ่งที่องค์กรจะได้รับ เพื่อช่วยกันลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่เจอคือคนที่ทำส่วนใหญ่เป็นเจ้าของอาคาร แต่การตระหนักรู้ อยู่แค่เพียงคนในอาคารเท่านั้น ซึ่งถือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น ดังนั้น เป้าหมายของเราจึงอยากให้เกิด green people เพื่อให้คนมีความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และต่อเนื่อง”

และที่น่าจับตาสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสีเขียวของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ “พรรณวดี” ทิ้งท้ายไว้ คือ แนวคิดที่จะสร้างระดับเครื่องมือ หรือ “platform” ใหม่ ๆ ที่นำผู้ซื้อ-ผู้ขายในตลาดคาร์บอนเครดิตมาแมตชิ่งกัน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯจะเป็นตัวกลางให้กับภาคเอกชน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่เรียกว่า “Zero Waste To Land Fill” ไม่ว่าจะเป็นการฝังกลบขยะ และความร่วมมือในการนำขยะมาใช้ประโยชน์ในการเป็นพลังงานความร้อนสูง ที่ร่วมมือกับบริษัท เอสซีจี เพื่อพัฒนาขยะเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต ที่มีเป้าหมายที่ว่าขยะจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม