ทิ้ง “ขยะ” อย่างตระหนักรู้

คอลัมน์ CSR Talk

โดย ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา

 

ตอนนี้เราทุกคนน่าจะเริ่มคุ้นชินกับการไม่ได้รับแจกถุงพลาสติกตามห้างค้าปลีกหลักต่าง ๆ กันแล้ว รวมถึงการได้ยินสปอตโฆษณา แคมเปญรณรงค์ต่าง ๆ ที่ให้เราละ เลิกการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (no single use bag) แต่สิ่งที่มักเกิดขึ้นในใจดิฉันทุกครั้งที่ได้ยินคือ…เราสามารถลดปัญหาขยะพลาสติกด้วยวิธีการนี้จริง ๆ หรือ ?

ความตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติก เนื่องจากปัญหาขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ทั่วโลกเริ่มตื่นตัว และให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ จากบทความ To ban or not to ban, thecomplex challenge posed by plastic and its alternatives ของ KPMG ตอนหนึ่งกล่าวว่า จากรายงานของ TearFund หน่วยงานคริสเตียนที่ดำเนินกิจกรรมทางสังคมของอังกฤษระบุว่า การผลิตพลาสติกจากทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 400 Mt ต่อปี ซึ่งมากกว่ารอยเท้าคาร์บอนของอังกฤษต่อปีเสียอีก และถ้าหากยังผลิตพลาสติกต่อไปด้วยสถิติเช่นนี้ ภายในปี 2050 (อีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า) ธุรกิจพลาสติกจะมีสัดส่วนคิดเป็น 20% ของปริมาณการใช้น้ำมันของโลก

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาวายยังพบว่า เมื่อพลาสติกแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และโดนความร้อน จะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่อันตราย 2 ชนิดด้วยกัน คือ มีเทน และเอทิลีน ซึ่งก๊าซมีเทนนั้นสามารถที่จะดักความร้อนเอาไว้ได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 8 เท่าเลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านี้ยังพบว่าขยะพลาสติกของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ จะถูกส่งออกไป “รีไซเคิล” ยังประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ด้วยเหตุผลที่ว่าโครงสร้างด้านขยะของอังกฤษยังไม่สามารถจัดการได้ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาที่รับไปต่างไม่สามารถจัดการกับขยะพลาสติกได้เช่นเดียวกัน ขยะเหล่านี้จึงถูกเผา หรือทิ้งไป แทนที่จะถูกจัดการอย่างปลอดภัย กลับกลายเป็นสาเหตุต่อการเจ็บป่วย อาทิ โรคมะเร็ง, โรคหัวใจ หรือโรคท้องร่วง ของประชาชนมากถึง 1 ล้านคน

ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ประเทศกำลังพัฒนาเริ่มปฏิเสธการนำเข้าขยะพลาสติก และนั่นหมายความว่า อังกฤษต้องจัดการกับขยะเหล่านี้ด้วยตัวเอง

สำหรับประเทศไทยเอง มีความเคลื่อนไหวในเรื่องปัญหาขยะพลาสติกที่เข้มข้นเช่นเดียวกัน ทั้งการที่ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าสะดวกซื้อ ร่วมกันงดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 100% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา และคาดว่าภายใน 1 มกราคม 2564 ทุกกลุ่ม ทุกร้าน ทั้งผู้ประกอบการรายย่อย, ร้านของชำ, ร้านค้าอื่น ๆ รวมไปถึงแผงค้าในตลาดสดจะเลิกแจกถุงพลาสติก ซึ่งนับเป็นแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

หากมองกันตามหลักเหตุและผลแล้ว การลด ละ เลิกการใช้ถุงพลาสติก เท่ากับปริมาณขยะจะลดลง ไม่มีอยู่อย่างเกลื่อนกลาดบนท้องถนน, ไม่ลงทะเล, ไม่เกิดการปนเปื้อน และสัตว์น้ำจะไม่เสียชีวิตจากการบริโภคถุงพลาสติกเข้าไปในร่างกาย…อย่างนั้นหรือ ?

แล้วถ้าเราหันมาใช้ถุงกระดาษ, ถุงผ้า, กล่องกระดาษใส่อาหารกันหมด แต่ยังคงพฤติกรรมการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แบบถุงพลาสติก ยังทิ้งขยะกันแบบเดิม ๆ อย่างที่เคยทำมา เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่เจอข่าว “พบเศษผ้าอุดตันในลำไส้ของสัตว์น้ำ” หรือ “พบเศษกระดาษที่ย่อยไม่หมดอยู่ตามที่ต่าง ๆ”

แล้วเราต้องทำอย่างไรกันแน่ที่จะสามารถจัดการปัญหาเรื่องขยะได้อย่างยั่งยืน ?

โดยหันมาใช้วัสดุทดแทนอื่น ๆ ดีกว่าการใช้พลาสติกจริง ๆ หรือ ?

ผลการวิจัยเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากถุงพลาสติก, ถุงกระดาษ และถุงผ้าจาก The Northern Ireland Assembly พบว่า การผลิตถุงกระดาษใช้พลังงานสูงกว่าการใช้ถุงพลาสติกถึง 4 เท่า ต้องตัดต้นไม้เพื่อมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ (ในขณะที่ต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกนะ) โดยขั้นตอนการผลิตจะต้องเผาชิ้นไม้ด้วยความร้อนสูง และมีกระบวนการทางเคมี ซึ่งกระบวนการทางเคมีนี่แหละที่เป็นสาเหตุให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น ฝนกรด และมลพิษทางน้ำ

เมื่อพิจารณาถึงเรื่องการขนส่ง ถุงพลาสติกจะมีน้ำหนักเบา สามารถขนส่งได้สะดวก และมีปริมาณมากกว่าถุงกระดาษ หรือถุงผ้าต่อครั้ง และสำหรับประเด็นการนำกลับมาใช้ใหม่นั้นพบว่าถุงกระดาษมีความทนทานน้อยกว่าการใช้ถุงพลาสติก ส่วนถุงผ้าแม้ว่าจะมีความทนทาน และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม จากรายงานจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมและอาหาร (Ministry of Environment and Food) ของประเทศเดนมาร์ก เรื่อง Life Cycle Assessment of Grocery Carrier Bag ทำให้ทราบว่า ถุงพลาสติกนั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าถุงผ้าออร์แกนิกเสียอีก ยิ่งไปกว่านั้น หากต้องการจะให้มี environmental footprint เท่ากับถุงพลาสติก เราจะต้องนำถุงผ้ากลับมาใช้ใหม่มากกว่า 10,000 ครั้งค่ะ รวมถึงเรื่องความสะอาดของถุงผ้าในการนำมาใส่อาหารเวลาไปจ่ายตลาดอีกด้วยค่ะ

ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความตระหนักรู้ โดยเริ่มต้นจากตนเองก่อน เพราะจากที่เล่าสู่กันฟังมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้ต้องการจะออกมาบอกว่าพลาสติกดี และหันกลับมาใช้ถุงพลาสติกกันต่อเถอะ แต่อย่างใด หากเพียงต้องการนำเสนอแนวความคิดว่า ทุกอย่างมี 2 ด้าน และเราจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบด้าน ก่อนที่จะทำอะไร เพราะทุกอย่างบนโลกใบนี้ล้วนสัมพันธ์กัน ทุกการกระทำของเราล้วนส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง

สำหรับดิฉัน เรื่องเหล่านี้ต้องมาจากความตระหนัก และเริ่มต้นจากตนเองค่ะ ว่าส่วนตัวของเราแต่ละคนนั้นจะสามารถช่วยลดปริมาณขยะได้อย่างไรบ้าง เช่น พกถุงผ้าเวลาไปซื้อของ หรือหากไม่สะดวกพกถุงผ้า เราอาจเลือกพับถุงพลาสติกแล้วพกใส่กระเป๋าไว้แทน พกแก้วน้ำส่วนตัว พกกล่องอาหารไปซื้ออาหาร ร้านค้าจะได้ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติก

ยกตัวอย่าง คนใกล้ตัวของดิฉัน หากวันไหนลืมพกแก้วออกจากบ้าน แล้วต้องซื้อกาแฟ หลังดื่มเสร็จจะเอาแก้วและหลอดกลับมาล้าง เช็ดให้สะอาด แล้วจะเอาไปเก็บไว้ในรถ เผื่อครั้งต่อไปลืมแก้วจะได้มีแก้วพลาสติก และหลอดเดิมของตัวเอง เก็บไว้สำหรับการซื้อกาแฟในครั้งต่อไป หรือหลายครั้งที่นำแก้วกาแฟพลาสติกไปใช้เป็นกระถางเพาะต้นกล้า หรือปลูกต้นไม้ต้นเล็ก ๆ แทนค่ะ ตรงนี้ครอบคลุมถึงการทานอาหารให้หมด ไม่เหลือทิ้ง การไม่ซื้อหรือสะสมสิ่งของเครื่องใช้ หรืออะไรก็ตามที่มากเกินความจำเป็น เป็นต้น

ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การมีวินัยในการทิ้งขยะ และการแยกขยะค่ะ

การเริ่มต้นที่ตัวเรา ช่วงแรกอาจจะยาก เนื่องจากต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่เมื่อทำไปเรื่อย ๆ จนเป็นนิสัย และทุกคนต่างดูแลในส่วนของตัวเอง

เมื่อนั้น พลังเล็ก ๆ ของแต่ละคนจะรวมกันกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาธรรมชาติ และรักษ์โลกใบนี้อย่างยั่งยืนค่ะ