ชงครม.เพิ่มส่งเงินประกันสังคมฝั่งนายจ้าง เป็น 60% ต่ออายุแรงงาน MOU ต่ออีก 1 ปี

ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกนะทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังการประชุมหารือร่วมกับประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงแรงงานจากผลกระทบของโควิด-19 ว่า การหารือแบ่งเป็น 2 ประเด็นคือ1) ขอให้ภาครัฐ ลดเงินส่งเข้าประกันสังคม และ 2) ให้มาตรการดูแลและเยียวยาของภาครัฐครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งกิจการที่ถูกสั่ง “ปิดชั่วคราว”และธุรกิจอื่นๆ เพื่อหยุดการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะบริษัททัวร์ท่องเที่ยวที่การช่วยเหลือไม่ครอบคลุม

สำหรับบริษัททัวร์ที่ได้รับผลกระทบนั้น ก.แรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เตรียมจัดอบรมเพื่อรีสกิล-อัพสกิล ด้านภาษาเพิ่มเติม ให้กับไกด์นำเที่ยวให้เชี่ยวชาญด้านภาษาอื่นๆที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ภาษารัสเซีย ภาษาญี่ปุ่น และภาษาจีนเป็นต้น

นอกจากนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (31 มี.ค.63) กระทรวงแรงงานมี 2 เรื่องหลักๆที่จะนำเสนอ คือ การจ่ายเงินประกันสังคมสมทบของผู้ประกอบการ จากเดิมที่ร้อยละ 50% เพิ่มเป็นร้อยละ 60% เพื่อให้เงินเยียวยาสำหรับลูกจ้างในกรณีถูกเลิกจ้าง ไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ซึ่งเทียบเคียงมาจากแรงงานนอกระบบที่ได้รับชดเชย และ สำหรับแรงงานต่างด้าวที่อยู่ภายใต้ MOU แบบรัฐต่อรัฐและจะหมดอายุสัญญาว่าจ้างเร็วๆ นี้ ให้ยืดระยะเวลาต่อไปอีก 1 ปี โดยไม่จำเป็นต้องกลับประเทศในช่วงการระบาดของโควิท-19 ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

“ศูนย์ SOS ของก.แรงงานจะเข้ามาดูแลต่อสัญญาแรงงานต่างด้าว เพราะเกรงว่าหากปล่อยให้กลับประเทศต้นทางในช่วงเตรียมต่อสัญญา อาจทำให้มีการระบาดของโควิด-19 ในไทยเพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ก.แรงงานจะดูแลทั้งลูกจ้าง นายจ้างในระบบให้เดินหน้าธุรกิจต่อไปได้” ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว