ปลัดแรงงานเผย”ผู้ประกันตน”ซมพิษโควิด 1 ล้านราย ต้องจ่ายชดเชย 20,000 ล้านบาท

แฟ้มภาพ

วันที่ 15 เมษายน 2563 นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ… ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยถึงขนาดที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นการชั่วคราวและลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานไม่สามารถทำงานได้ และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเองหรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ให้ลูกจ้าง ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการแต่ไม่เกิน 90 วัน โดยจะรีบออกกฏกระทรวงให้มีผลบังคับใช้ภายในสัปดาห์นี้

ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมมีเงินในส่วนกองทุนว่างงานอยู่ 164,000 ล้านบาท ที่จะนำมาดูแลผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คาดว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และได้รับเงินชดเชยประมาณ 1 ล้านคน โดยเงินชดเชยที่จะจ่ายให้เดือนละ 5,045-9,300 บาท คาดว่าในช่วง 3 เดือนนี้จะใช้เงินจากกองทุนประกันสังคมจ่ายชดเชยให้ผู้ว่างงาน ประมาณ 20,000 ล้านบาท

ส่วนผู้ว่างงานที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจ สํานักงานประกันสังคมได้กันเงินจ่ายชดเชยไว้ให้ 90,000 ล้านบาท สำหรับ 1.1 ล้านคน ในช่วงเวลา 2 ปีจากนี้ แบ่งออกเป็น ผู้ลาออก เพิ่มสิทธิ์รับเงินชดเชยจาก 30% เป็น45% ระยะเวลา 90 วัน ถูกเลิกจ้าง เพิ่มสิทธิ์จาก 50% เป็น 70% ระยะเวลา 200 วัน

“ขอยืนยันว่าเงินที่นำมาใช้ไม่แตะกองทุนในส่วนชราภาพที่มันอยู่ 1.6 ล้านล้านบาท ส่วนกองทุนในส่วนประกันสุขภาพที่ใช้อยู่ประมาณปีละ 50,000 ล้านบาทนั้น สํานักงานประกันสังคมพร้อมนำเงินมาเพื่อรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างเต็มที่ โดยปัจจุบันมีจำนวน 362 คน ให้ทางโรงพยาบาลรักษาอย่างเต็มที่ส่วนจะใช้เงินเท่าไหร่ ทางโรงพยาบาลจะมีการมาเบิกกับสำนักงานประกันสังคม อย่างไรก็ตาม พบข้อมูลว่าตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 อุบัติเหตุลดลงอย่างมากทำให้รายจ่ายด้านนี้ลดลง”

 

Advertisment