องค์กรและคน หลังโควิดระบาดจะเป็นยังไง

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์

โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

 

นอกจากเชื้อโคโรน่าไวรัสหรือโควิด-19 จะอาละวาดระบาดเป็นวงกว้าง จนทำความเสียหายให้กับโลกใบนี้แล้ว สิ่งที่ตามมาหลังจากการระบาดคือความเปลี่ยนแปลงอีกมากมายหลายเรื่องเลยนะครับ

ใครที่คิดว่าโควิดจะจบลงภายใน 2-3 เดือน ผมว่าน่าจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ได้เลย เพราะกว่าที่จะมีวัคซีนหรือมียาที่รักษาออกมาเท่าที่ดูข่าวก็ไม่ต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งในระหว่างนี้โลกต้องอยู่ในความหวาดระแวงว่าในส่วนที่หายแล้วจะกลับมาเป็นซ้ำใหม่อีกหรือไม่ การเดินทางของผู้คนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศจะเป็นยังไง ฯลฯ

ที่ผมพูดมานี้ไม่ได้มุ่งหวังให้ท่านที่อ่านจิตตกนะครับ และก็ไม่ได้เป็นการมองโลกในแง่ร้ายด้วย เพียงแต่ต้องการให้พร้อมรับความเป็นจริงโดยไม่หลอกตัวเอง และเตรียมความพร้อมในการวางแผนรับมือให้ดีที่สุดต่างหาก

ในมุมมองของผมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารคน และองค์กรผมมองว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ทั้งคน องค์กรน่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามมาภายหลังวิกฤตครั้งนี้หลาย ๆ เรื่องดังนี้ครับ

1.คนในองค์กรจะต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ คนที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงจะอยู่ยาก ทำงานยากขึ้น และถ้าทำงานยากไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นคนที่องค์กรเลิกจ้างไปในที่สุด แล้วเขาก็จะหาคนที่พร้อมเปลี่ยนแปลงเข้ามาทำงานแทน

2.เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น และคนในองค์กรต้องเพิ่มทักษะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้มากขึ้น เร็วขึ้นกว่าเดิม ในช่วงวิกฤตโควิดเราจะเห็นหลายองค์กรนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการทำงานที่บ้าน (work from home) เช่น ใช้ Zoom หรือไลน์กลุ่ม หรือ Google Hangouts หรือ Microsoft Team ในการประชุมออนไลน์ ดังนั้น เทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นแกนหลักที่สำคัญในการทำงานของทุกฝ่ายงานด้วยแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ หลากหลายคนที่แอนตี้เทคโนโลยี ไม่ยอมเรียนรู้เทคโนโลยีในการทำงานใหม่ ๆ ไม่ปรับตัวเองให้ใช้เทคโนโลยีเป็น
ก็จะไม่ได้ไปต่อกับองค์กร

3.องค์กรจะหันมาให้ความสำคัญหรือมา focus กับแผนระยะสั้นแบบปีต่อปีมากกว่าจะมาทำแผนระยะกลาง (ประมาณ 3 ปี) หรือแผนระยะยาว (5 ปีขึ้นไป) เพราะจะมีความเปลี่ยนแปลง (โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีรอบตัว) ที่เร็วมาก การทำงานตามแผนระยะสั้นปีต่อปีจะมีความยืดหยุ่นมากกว่า และสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ดีกว่าแผนระยะยาว

4.องค์กรจะมีการจ้างคนที่มี multiskills คือทำงานได้หลาย ๆ อย่างในคนคนเดียว โดยมุ่งไปที่ผลลัพธ์หรือเป้าหมายที่กำหนด ไม่จำเป็นต้องจ้างคนมาจำนวนมาก ๆ เป็นกองทัพเหมือนสมัยก่อนที่มักจะมองว่าองค์กรไหนมีพนักงานเยอะ ๆ คือองค์กรที่ยิ่งใหญ่และมั่นคง แต่ในยุคนี้ต่อไปการมีพนักงานที่ไม่จำเป็นมากเกินไปคือต้นทุนแบบ fixed cost ที่อาจจะทำให้องค์กรไปไม่รอด

5.องค์กรต้องให้ความสำคัญในเรื่อง big data ให้มากยิ่งขึ้น ยิ่งมีข้อมูลสมบูรณ์ถูกต้องในแต่ละด้านมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้สามารถนำมาใช้วิเคราะห์เพื่อวางแผนในด้านต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้นเท่านั้น องค์กรที่จะไม่สามารถแข่งขันได้คือองค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญของ big data

6.ผู้นำองค์กรจะต้องมีทักษะในการจัดการยามวิกฤต (crisis management) และต้องกล้าตัดสินใจด้วยเหตุด้วยผลและบนฐานข้อมูล big data ตามข้อ 5 ผู้นำที่ชอบยื้อชอบซื้อเวลาไม่กล้าตัดสินใจ ผู้นำที่โลเล จะถูกบอร์ดปลดออกในที่สุด

ทักษะเกี่ยวกับภาวะผู้นำสำหรับคนที่เป็นผู้บริหารระดับสูงจึงเป็นเรื่องจำเป็น และไม่ใช่จบลงด้วยการส่งผู้บริหารไปเข้าอบรมหลักสูตรภาวะผู้นำนะครับ ควรจะต้องพัฒนาภาวะผู้นำด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย และมีการติดตามประเมินผลที่ชัดเจน

7.การสื่อสารเป็นเรื่องจำเป็นมากโดยเฉพาะการสื่อสารในภาวะวิกฤต (crisis communication skill) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขอความร่วมมือจากพนักงานเพื่อ leave without pay, การขอความร่วมมือลดเงินเดือนลงเพื่อให้องค์กรอยู่รอด ฯลฯ จำเป็นจะต้องมีการสื่อสาร 2 ทางอย่างจริงใจ และเปิดใจเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน

การสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ก่อนหน้าเกิดวิกฤตจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้ปัญหาของการสื่อสารยามวิกฤตลดน้อยลงไปได้เยอะ

8.งาน routine ที่ไม่เกิดประโยชน์จะถูกตัดทิ้ง ซึ่งอาจรวมถึงคนที่ทำงานแบบ routine นั้นด้วย รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไปจากที่เคยเน้นเวลาการมาทำงานเป็นหลัก จะเปลี่ยนมาเป็นการมุ่งที่ผลงานว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้หรือไม่

นี่แหละครับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปของคน และองค์กรหลังจากนี้เป็นต้นไปในมุมมองของผม ซึ่งท่านที่อ่านเรื่องนี้ก็อาจจะมีความเห็นเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ก็ลองแชร์ไอเดียกันมาดูนะครับ จะได้เป็นประโยชน์กับส่วนรวม เพื่อเตรียมปรับตัวให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงจากวิกฤตในครั้งนี้ครับ