ผ่าแผนดูแลสังคม “ปตท.” ไม่ลดงบประมาณ พร้อมสร้างโปรเจ็กต์ใหม่

"อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) ปตท.

แม้ต้องเผชิญปัญหาตั้งแต่ราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวน และยืนราคาต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เศรษฐกิจชะลอตัว ตามมาด้วยปัจจัยที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน คือ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ทั้งราคาและความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกดิ่งลงอย่างหนัก ธุรกิจน้ำมันระส่ำขาดทุน (stockloss) อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

จนทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถึงแม้จะต้องขาดทุนในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2563 ราว 1,554 ล้านบาท แต่เมื่อสภาพเศรษฐกิจยังมีอาการน่าเป็นห่วง จึงเป็นที่จับตาว่า ปตท.จะละ-ลด-เลื่อน โครงการที่ยังไม่มีความจำเป็นหรือไม่

โดยเฉพาะการดำเนินการเพื่อดูแล สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตรงนี้จึงเป็น “โจทย์ใหม่” ที่ท้าทาย “ผู้นำ” อย่าง “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) ปตท.คนล่าสุด ที่เพิ่งจะเข้ามารับไม้ต่อจาก “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” อย่างเป็นทางการเมื่อเร็ว ๆ นี้

“อรรถพล” เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า กลุ่ม ปตท.ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม และชุมชนอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็ตาม ปตท.จะวางกรอบงบประมาณเดิมเอาไว้ที่ 1-5% ของ net operating profit เพื่อการลงทุนทางสังคม ที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหา สร้างรายได้ให้กับชุมชนเป้าหมาย

“เนื่องจากนโยบายของ ปตท.วางไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะให้น้ำหนักในการลงทุนด้านสังคม ด้วยการใช้รูปแบบที่เรียกว่า “วิสาหกิจชุมชน” หรือ “SE” (social enterprise) โดยใช้กลไกการบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจมาบวกกับความรู้ และนวัตกรรมสังคม เพื่อให้มีความยั่งยืนทางการเงินจากรายได้หลักที่มาจากสินค้าและบริการ”

“โดยไม่ต้องพึ่งพาการบริจาค แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบันอาจต้องใช้เครื่องมือที่หลากหลายมากขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการ และสภาพปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่”

ดูแลสังคม 3 รูปแบบ

ฉะนั้น แผนการดำเนินการด้านการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมของ ปตท. จึงใช้วิธีผสมผสานมากขึ้น ประกอบด้วย 3 รูปแบบ

1) รูปแบบการบริจาค

2) รูปแบบของ CSR

และ 3) รูปแบบ SE

“นอกจากนี้ ยังต้องบริหารการใช้งบประมาณให้ลงตัว คือ จะปรับลดงานในส่วนของการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กร มาช่วยเหลือสังคมด้วยการให้ เงินบริจาค”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคม โรคระบาด และภัยพิบัติ ยิ่งเฉพาะการระบาดของโควิด-19ที่กลายเป็นบทเรียนของประเทศ สิ่งเหล่านี้คือการตั้งรับปรับใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะในปัจจุุบันมากที่สุด”

แต่เมื่อมองย้อนกลับไปช่วงต้น-ปี 2562 ก่อนที่โลกจะเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 “อรรถพล” ไล่เรียงภารกิจในการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมว่า ปตท.กำหนดทิศทางกลยุทธ์ด้านกิจการสังคมในปัจจุบัน และล่วงไปถึงอนาคต โดยนำโควิด-19 มาเป็นองค์ประกอบในการกำหนดบทบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ช่วงการแพร่ระบาด เน้นการสนับสนุน “เชิงป้องกัน” จึงต้องเริ่มสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ก่อนเป็นอันดับแรก ตั้งแต่การจัดหาแอลกอฮอล์ให้กับสาธารณสุข และโรงพยาบาลต่าง ๆ

อีกทั้งยังช่วยเหลือด้วยการมอบชุดป้องกันไวรัส, เตียงผู้ป่วย ไปจนถึงมอบเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ ตามมาด้วยการ “ลดค่าใช้จ่าย” เพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19รวมงบประมาณในระยะ 1 นี้ อยู่ที่กว่า850 ล้านบาท

ระยะที่ 2 ช่วงการฟื้นฟูผลกระทบ ปตท.โฟกัสไปที่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ, คุณภาพชีวิต, ความเป็นอยู่ โดยกลุ่ม ปตท.ปรับใช้เครือข่ายความรู้ และความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านของกลุ่มบริษัทในเครือ ปตท.

ทั้งนั้นเพื่อฟื้นฟูผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ชุมชน จากฐานการดำเนินการที่ทำมาก่อนหน้านี้ เช่น การส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับชุมชน ด้วยการใช้ประโยชน์จากสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ที่มีอยู่ทั่วประเทศ และส่งเสริมการขายผ่านระบบดิจิทัล

พร้อมทั้งกระตุ้น “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ผ่านการท่องเที่ยว ภายใต้เครือข่ายศูนย์ความรู้ชุมชนที่ ปตท.ต้องการให้ต่อเนื่องจากโครงการรักษ์ป่าสร้างคน 84 ตำบลวิถีพอเพียง และเครือข่ายทางสังคม เช่น พื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ตลอดจนถึงการส่งเสริม และการพัฒนาทักษะอาชีพด้านต่าง ๆผ่าน platform หรือเทคโนโลยี เช่น ด้านพลังงานชุมชน

ระยะที่ 3 การดำเนินการอย่างยั่งยืน โดย ปตท.ต้องการ “ยกระดับ” การทำงานภายใต้วิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ PTT by PTT ซึ่ง “อรรถพล” ระบุว่า เน้นการบูรณาการกับธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งนำนวัตกรรมสังคม และความร่วมมือ

ยกตัวอย่าง คือ การส่งเสริมบริการสีเขียว ที่ ปตท.มองว่าจะสร้างประโยชน์ให้ระบบเศรษฐกิจระยะยาว จากการใช้โอกาส ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนในระยะยาว

เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมือง

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนผ่าน platform การเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น ทางด้านการศึกษาที่จะเน้นให้เกิดการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของเครือข่าย 139 โรงเรียน สร้างทักษะผู้นำชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนา

โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางมาช่วยพัฒนาทักษะความรู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ (upskill-reskill) เพื่อเน้นสร้างความร่วมมือกับหน่วยงาน และภาคีที่สำคัญ เช่น กทม. ในการร่วมแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น

“ที่ ปตท.คิกออฟไปแล้ว คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง (urban green) ปตท.ผลักดันการปลูกป่าไปแล้วรวมกว่า 1 ล้านไร่ เพิ่มความเข้มข้นในการอนุรักษ์ป่าผ่านการสร้างความร่วมมือจากชุมชนรอบพื้นที่ เพื่อให้เป็นเสมือนหลักประกันว่า ป่าที่ปลูกไปแล้วนั้นจะยืนต้น และเติบโตต่อไปในอนาคต”

เมื่อถามถึงโครงการด้าน SE ของ ปตท. “อรรถพล” บอกว่า วิสาหกิจชุมชน ยังเป็นเครื่องมือที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ด้วยการใช้ประโยชน์จาก competency ของ ปตท.เพื่อสร้างธุรกิจที่สังคม ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วม (inclu-sive business) ในการช่วยทำให้ชุมชนเติบโตไปพร้อม ๆ กับ ปตท.

“สำหรับโครงการที่ ปตท.ดำเนินการไปแล้วนั้น เน้นให้เกิดสิ่่งที่เรียกว่า performance excellence ซึ่งจะต้องสะท้อนให้เห็นว่าเป็นโครงการที่มีต้นทุนที่”แข่งขัน” ได้, เลี้ยงตัวเองได้ และต้องสามารถขยาย social impacts ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ และดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 รวมถึงผลักดันชุมชนให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ (owner-ship model)”

กำจัดขยะด้วย upcycling

สำหรับในส่วนของโครงการใหม่ของ ปตท.ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ผ่านการลงทุนของบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด จะมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาเรื่องขยะ และพลังงาน “อรรถพล”อธิบายเรื่องนี้ให้เห็นภาพของ SEชัดเจนขึ้้นว่า ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นที่ ปตท.และสังคมมีความสนใจร่วมกันอีกทั้งยังสอดคล้องกับความเชี่ยวชาญของบริษัท, ผู้ถือหุ้นที่จะร่วมกันขับเคลื่อน

นอกจากนี้ ในปี 2562 ผ่านมา เราเริ่ม”นำร่อง” ส่งเสริมการจัดการขยะ และเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติกผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “upcycling” ที่ได้รับความสนใจ และกลายเป็นกระแสให้เกิดการพัฒนารูปแบบเดียวกันไปสู่องค์กรอื่นอีกด้วย

ตรงนี้ถือเป็นการขยายฐานภาคีในการร่วมมือเพื่อดูแลสังคม, ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จนทำให้เกิดภาคีเครือข่าย และมี “พลัง” ในการทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น

เพราะดั่งที่ทราบการทำงานทางด้านกิจการเพื่อสังคมไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ขององค์กรแต่เพียงฝ่ายเดียว หากยังทำเพื่อประเทศชาติด้วย