กางแผนซีเอสอาร์ “ซี.พี.” ปลูกป่าลดคาร์บอนเป็นศูนย์ปี 2030

หลังจากบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซี.พี.) ประกาศความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. จัดทำโครงการ “WE GROW ปลูกเพื่อความยั่งยืน” ที่มีเป้าหมายร่วมกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้วยการปลูกไม้ยืนต้นเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดังนั้น ซี.พี.จึงตั้งเป้าจะปลูกไม้ยืนต้นให้ได้ 2 ล้านต้น ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ธุรกิจดำเนินอยู่ทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมจากพนักงานทั้งหมดกว่า 3 แสนราย คู่ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

“จอมกิตติ ศิริกุล” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ กล่าวว่า “ปัญหาภาวะโลกร้อน” ส่งผลต่อเกษตรกรที่ต้องพึ่งพิงน้ำในการทำการเกษตร ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์นำโดย “คุณศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเล็งเห็นถึงปัญหา จึงได้ประกาศเป็นนโยบายให้ทุกกลุ่มธุรกิจในเครือขับเคลื่อนร่วมกัน โดยประกาศ 3 ข้อ คือ หนึ่ง ต้องทำธุรกิจด้วยใจที่ยั่งยืน สอง ต้องสร้างสังคมที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สาม ให้เรื่องการปลูกต้นไม้เป็นเรื่องด่วนที่พนักงานทุกคนต้องดำเนินการ

จอมกิตติ ศิริกุล

“คุณศุภชัยจะเน้นการปลูกต้นไม้ ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องหลักที่จะดำเนินการในปีนี้ โดยเฉพาะชุมชนพื้นที่ต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่รอบ ๆ พื้นที่ธุรกิจ จึงถูกออกแบบผ่านโครงการสำคัญอย่าง WE GROW ปลูกเพื่อความยั่งยืน เพื่อไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนในปี 2030 พร้อมกับประกาศเจตนารมณ์ว่าบริษัทและการดำเนินธุรกิจของเราทั้งหมดต้องสร้าง carbon neutral ด้วยการลดก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศให้เป็นศูนย์ ภายใน 10 ปีข้างหน้า”

“สำหรับโครงการ WE GROW ปลูกเพื่อความยั่งยืน จะเริ่มที่ภาคเหนือก่อน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ ซี.พี.ดำเนินกิจการอยู่หลายจังหวัด และบางแห่งของภาคเหนือเคยเป็นพื้นที่เขาหัวโล้นจากการขึ้นไปทำเกษตรบนเขา ผมมีหน้าที่ดูแลด้านความยั่งยืนในพื้นที่ภาคเหนือตาม 4 ลุ่มน้ำที่กลุ่มธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำปิง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, ลุ่มน้ำวัง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง, ลุ่มน้ำยม อ.ปง จ.พะเยา และลุ่มน้ำน่านที่ อ.ท่าวังผา จ.น่าน ในพื้นที่ 4 ลุ่มน้ำนี้ โดย ซี.พี.ได้ร่วมกับภาครัฐและชุมชนริเริ่มโครงการปลูกต้นไม้มาตั้งแต่ปี 2559 ควบคู่กับการสร้างอาชีพแก่ชุมชน ตอนนี้ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 508,224 ต้น ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 6,000 ไร่”

“แต่ลุ่มน้ำยมมีสัดส่วนการปลูกต้นไม้แค่ 10% ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น เนื่องจากการมีส่วนร่วมของชาวบ้านยังไม่มากนัก ดังนั้น ในปี 2563 เราจึงเริ่มโครงการที่บ้านดอนไชยป่าแขม อ.ปง จ.พะเยา ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ที่เครือ ซี.พี.เข้าร่วมพัฒนาชุมชนแห่งนี้เป็นเวลากว่า 2 ปี โดยร่วมพัฒนากับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม 78 ครัวเรือน นอกจากนั้น ยังส่งเสริมให้ชุมชนปลูกไผ่เพื่อเพาะกล้าขาย เนื่องจากไผ่มีความต้องการในตลาดสูง”

“จอมกิตติ” กล่าวต่อว่า เรายังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า เพราะเหมาะกับสภาพพื้นที่ต่ำ พร้อมทั้งหาช่องทางเข้าสู่ตลาด ซึ่งเราไม่ได้จำกัดว่าจะต้องจำหน่ายให้กลุ่มธุรกิจ ซี.พี.เท่านั้น พวกเขาสามารถจำหน่ายแก่ตลาดอื่น ๆ ได้ด้วย

“และในปีนี้ ซี.พี.จะเลือกปลูกไม้เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง เช่น ต้นเเคนา, ราชพฤกษ์, หว้า, พะยูง, ตะเคียนทอง, สารภี, ยางนา, สัก, ไผ่ และมะม่วง โดยปลูกบริเวณพื้นที่บ้านดอนไชยป่าแขม 1,000 ต้นในระยะแรก ส่วนเป้าหมายต่อไปจะขยายพื้นที่ปลูกให้ได้ 10,000 ต้นบริเวณลุ่มน้ำยม และเพิ่มให้ได้มากกว่า 100,000 ต้นบนพื้นที่ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่านในลำดับต่อไป”

กมล เชียงวงค์

“นายกมล เชียงวงค์” ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวเสริมว่า การปลูกต้นไม้เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องความชุ่มชื้นในระบบนิเวศ ทั้งยังช่วยลดคาร์บอน ซึ่งโครงการ WE GROW ปลูกเพื่อความยั่งยืน สอดคล้องกับ6 ยุทธศาสตร์ของจังหวัดพะเยาที่กำลังจะขับเคลื่อน โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญคือเรื่องป่า และเรามีแผนปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตพื้นที่ 3 ด้าน คือ

หนึ่ง เขตป่าอุทยานป่าไม้ ซึ่งมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.พะเยาเป็นหน่วยงานหลักในการฟื้นฟูผืนป่าเสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์

สอง สนับสนุนให้เกิดป่าชุมชน แหล่งที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้จากผลผลิต

สาม ให้เอกชนมาร่วมกันปลูกต้นไม้

“ทั้งหมดนี้คือแผนที่เรากำหนดไว้ โดยมุ่งหวังว่าชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล เพื่อให้เกิดความยั่งยืนมิใช่ทำแล้วจบ ส่วนอีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องน้ำ เนื่องจากพะเยามีพื้นที่สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 2,247 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่เก็บกักได้เพียง 159 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมีมากกว่า 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น เราจึงมีการจัดสรรงบประมาณจัดการด้านน้ำเพื่อมาช่วยเหลือชาวบ้าน”

“โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนบ้านดอนไชยป่าแขม ซึ่งตอนนี้เราซ่อมแซมแหล่งน้ำชุมชนไปแล้ว เพราะเป็นพื้นที่เก็บน้ำของชาวบ้าน ด้วยการขุดลอกพัฒนาหนองน้ำประมาณ 11 กิโลครึ่ง ลึก 3 เมตร กว้าง 100 เมตร ถ้าทำแล้วเสร็จ เราจะได้น้ำเพิ่มขึ้นจากเดิม 4-5 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อทำการเกษตร ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาต้นไม้ที่มีอยู่ รวมถึงการปลูกต้นไม้เพิ่ม ซึ่งคาดว่าจะเกิดเป็นป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ในอนาคต เนื่องจากการปลูกต้นไม้ ไม่ใช่แค่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในระบบนิเวศเท่านั้น แต่ต้องส่งเสริมให้ชาวบ้านมองเห็นโอกาส และช่องทางใหม่ ๆ อันเป็นนโยบายหลักของเครือ ซี.พี.”

จำเนียร สมนาเมือง

“จำเนียร สมนาเมือง” คณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ บ้านดอนไชยป่าแขม อ.ปง จ.พะเยา กล่าวถึงประโยชน์ที่ตนเองและชุมชนได้รับว่าเดิมชาวบ้านปลูกข้าวโพดและเลี้ยงวัว แต่ปัญหาที่พบคือรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ เพราะต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ที่ผ่านมาเรามีการจัดตั้งโรงปุ๋ยชุมชนเพื่อใช้เอง แต่ไม่เห็นผล จึงล้มเลิกมาหลายปีแล้ว

“แต่ภายหลังเมื่อ ซี.พี.เข้ามาสำรวจ และเริ่มพัฒนาชุมชน จึงเกิดการตั้งวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาช่วยถ่ายทอดความรู้ ด้วยการนำซังข้าวโพดที่ได้จากการปลูก และมูลวัวมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการทำปุ๋ย ซึ่งวัตถุดิบ 40 ตัน จะผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ถึง 23 ตัน เพื่อจำหน่ายให้กับเครือข่ายเกษตรกรของเรา ทั้งนั้นเพื่อลดต้นทุนการทำเกษตรแบบเดิม ๆ รวมถึงการปลูกไผ่ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการทดลองปลูกไปได้เพียง 20 ต้นเท่านั้น แต่ต่อไปมีการวางแผนว่าจะปลูกไผ่ให้ได้ 50 ไร่ รวมทั้งปลูกกาแฟอีกจำนวนหนึ่ง”

“ที่สำคัญ ตอนนี้ชุมชนและตัวแทน ซี.พี.กำหนดเป้าหมายร่วมกันว่าจะขับเคลื่อนปุ๋ยอินทรีย์ให้ได้ตามมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ และกรมวิชาการเกษตร ถ้าหากผ่านเงื่อนไขตามมาตรฐานไปได้ เราก็จะได้ทะเบียนประกันว่าปุ๋ยอินทรีย์ที่เราทำผ่านมาตรฐานเพื่อเป็นหลักในการขับเคลื่อนสู่การสร้างชื่อ และขยายตลาดในลำดับต่อไป ทั้งนั้นเพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคต”