“เป็น อยู่ คือ” ค่ายรุ่นใหม่หัวใจอนุรักษ์

ค่ายเป็นอยู่คือของซี.พี.
คอลัมน์ CSR Talk

เมื่อเยาวชนเป็นความหวัง และอนาคตของประเทศ การสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ จึงเป็นภารกิจระดับชาติที่ผู้ใหญ่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม แต่คำนิยามของ “คุณภาพ” คืออะไร หากจะตีเส้นให้เด็ก ๆ เดินตามโดยยึดถือเพียงสิ่งที่ทำตามกันมา คงจะเข้าถึงใจเด็ก Gen นี้ไม่ได้แล้ว

บทบาทของผู้ใหญ่จึงต้องปรับเปลี่ยนจากเขียนกรอบสูตรสำเร็จ เป็นให้เด็กเขียนเส้นทางอนาคตของตัวเอง โดยผู้ใหญ่เพียงแค่คอยชี้แนะและประคับประคองเท่านั้น

ความห่วงใยเกินพอดีอาจทำให้ดูยากที่จะปฏิบัติ แต่เมื่อวันที่ 1-2 สิงหาคม 2563 ผ่านมา มีผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งนำแนวคิดทำนองนี้มาเป็นเครื่องมือสร้างเยาวชนบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีให้เกิดกระบวนการคิด จิตสำนึก รวมถึงหัวใจอนุรักษ์ถิ่นฐานบ้านเกิดและสิ่งแวดล้อมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในนามค่าย “เป็น อยู่ คือ” ที่สื่อถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบนบริบทนั้น ๆ เช่น เป็นครู อยู่สมุย คือคนที่พัฒนาเด็ก เป็นต้น มีนัยที่ค่อนข้างเปิดกว้างมาก

ค่าย “เป็น อยู่ คือ” ถูกออกแบบโดย บริษัท กะทิ กะลา จำกัด และมูลนิธิเกาะสีเขียว ภายใต้การสนับสนุนจาก ซีพี ออลล์ ผู้บริหารออลล์ ออนไลน์ และเซเว่นอีเลฟเว่น ในประเทศไทย ด้วยประสบการณ์ด้านสื่อและกิจกรรมเพื่อเด็กเยาวชนและสิ่งแวดล้อมมาร่วม 30 ปี ทำให้เข้าใจว่าแท้จริงแล้วเด็ก ๆ ต้องการอะไร และอะไรที่จะทำให้คนรุ่นใหม่พัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องบีบบังคับและรักษาวัยเยาว์ของพวกเขาให้ได้มากที่สุด

“ศุ บุญเลี้ยง” นักคิด, นักเขียน หัวเรือใหญ่ของกะทิ กะลา และเป็นผู้จัดการค่าย อธิบายว่า ทั้งปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกคนต้องเริ่มตระหนักในความสำคัญของภูมิปัญญา คุณค่าของทรัพยากร อยากให้ได้สืบทอดต่อไปยังเยาวชนคนรุ่นใหม่ จึงคิดจะพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบค่ายเยาวชน

สำหรับค่ายครั้งนี้มีนักเรียนระดับมัธยมต้นจากโรงเรียน 5 แห่งบนเกาะสมุย โรงเรียนละ 5 คน เป็นตัวแทนมาร่วมกิจกรรมที่เปิดโลกทัศน์และสร้างทัศนคติที่เหมาะสม ร่วมกับครูอาจารย์จากแต่ละโรงเรียน โรงเรียนละ2 คน ทั้งเป็นผู้สังเกตการณ์และเก็บเกี่ยวความรู้ รวมทั้งเทคนิคไปต่อยอดการสอนให้ลูกศิษย์คนอื่น ๆ ต่อไป

“เราให้ความสำคัญกับการคิดการระดมสมอง มีกระบวนการให้คิดหนึ่งวัน แล้วถ้าเราไม่ให้เวลาเขา แต่ให้เขานำเสนอเลย เด็กพวกนี้ก็จะพูดไปเรื่อย ๆ แต่เรารู้สึกว่ากระบวนการคิดนั่งเขียน ถกเถียงกันว่าเอาอย่างไรกันดีกระบวนการแบบนี้หลายแห่งยังขาดอยู่เวลาเราทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เรามักจะไปดูเรื่องขยะก่อนเลย ส่วนมากจึงมีแต่เก็บขยะ ถ้าผมเป็นเด็กคงคิดว่าจะให้เก็บขยะอย่างเดียวเหรอ ใครไม่รู้ทิ้งทำไมให้เราเก็บ แต่เบื้องหลังของขยะมันคือเรื่องสิ่งแวดล้อม และเบื้องหลังสิ่งแวดล้อม มันคือวิถีชีวิตของคน เช่น คนที่ใช้สมุนไพร เขาก็ไม่ใช้พลาสติก เขาก็ไม่สร้างขยะอยู่แล้วคนโบราณที่เขาใช้ไม้ ใช้หิน มันก็ไม่ทำลายอยู่แล้ว เราก็เหมือนว่าไปเจอวิถีชีวิตที่มันดีงาม พอเพียง จะสะท้อนมาเรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องขยะอยู่แล้ว”

กิจกรรมของค่าย “เป็น อยู่ คือ” จึงมีหลากหลาย ตั้งแต่ทัศนศึกษา, เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน, เวิร์กช็อป,สร้างสรรค์ผลงานแบบกลุ่ม ฯลฯ โดยทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสำนึกรักบ้านเกิด ในแง่การอนุรักษ์ควบคู่กับการดำรงชีวิต

“สุวิทย์ กิ่งแก้ว” ที่ปรึกษาอาวุโสคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวเสริมว่า “ซีพี ออลล์ มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินตามปณิธานขององค์กร คือ ร่วมสร้างสรรค์ และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน พร้อมกับร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้ชื่อโครงการ 7 Go Green ตั้งแต่ปี 2550 เพื่อลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติก ที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศ อาทิ โครงการรักษ์อันดามัน ร่วมใจลดใช้ถุงพลาสติก, คิดถุ๊ง คิดถุง ผ่านการสร้างเครือข่ายเยาวชนไทย ลดใช้ถุงพลาสติก, ปฏิเสธถุง…ได้บุญ, 7 Go Green Recycled Plastic Road และลดวันละถุง…คุณทำได้”

“โดยโครงการลดวันละถุง…คุณทำได้ สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกและเปลี่ยนเป็นยอดสมทบทุนรวมกว่า211 ล้านบาท มอบให้กับโรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลในชุมชน และโรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดาร รวม 77โรงพยาบาล ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ”

“ด.ญ.ปุณิกา (ใบเงิน) พุ่มช่วย” อายุ 12 ปี นักเรียน home school ระดับชั้น ป.6 เล่าถึงความในใจในการเข้าค่ายครั้งนี้ว่า ที่มาเข้าค่ายเพราะชื่นชอบการพบปะเพื่อนใหม่ ๆ และมีความสนใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว หนูสนใจเรื่องการรณรงค์และการอนุรักษ์ค่ะ มาค่ายนี้กลุ่มของหนูได้ไปทัศนศึกษาที่สวนสมุนไพร Honey Rose ทำให้ได้รับความรู้เรื่องสมุนไพร ได้ความรู้เรื่องการลดใช้ถุงพลาสติก ได้ฝึกการพูด และการแสดง

“เพราะกลุ่มของหนูเลือกนำเสนอผลงานผ่านการแสดงละคร เกี่ยวกับว่านสาวหลง สมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นหอม เป็นเรื่องตลก ๆ ของผู้ชายคนหนึ่งที่จีบสาวไม่ติด แล้วคุณยายแนะนำให้ใช้ว่านสาวหลงที่มีกลิ่นหอม พวกหนูได้แรงบันดาลใจจากสวนสมุนไพร ซึ่งหนูได้ทดลองทำสบู่เหลวจากสมุนไพรด้วยค่ะ ในอนาคตหนูอาจได้นำความรู้ที่ได้จากค่ายนี้มาใช้ เพราะความฝันหนึ่งของหนูคือ ทำน้ำหอม หนูก็เลยชอบเรื่องสมุนไพร เพราะสมุนไพรมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ พอดีกับที่หนูไปเรียนรู้มาเลย”

“ส่วนเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหนูรู้จักโครงการของเซเว่นอีเลฟเว่น เช่น ลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติก มีประโยชน์มากกับเกาะสมุย เพราะปกติหนูเห็นถุงพลาสติกถูกทิ้งเต็มเลย พอเซเว่นฯรณรงค์ก็ลดการใช้ถุงพลาสติกไปได้ทำให้บนเกาะดูสะอาดขึ้นระดับหนึ่งตัวหนูเองก็อยู่ในกลุ่มนักอนุรักษ์ของเกาะสมุย เก็บขยะที่ชายหาดทุกสัปดาห์และเลิกใช้ถุงพลาสติกหันมาใช้ถุงผ้า และกระบอกน้ำแทน แต่ถ้าเกิดฉุกเฉินบางทีก็ต้องใช้ แต่เราใช้แล้วไม่ทิ้งเราเก็บมาทำ eco brick”

ขณะที่ “ด.ญ.อริษา (ยะ) มาเอี่ยม” นักเรียนชั้น ม.3 อายุ 15 ปี จากโรงเรียนบ้านอ่างทอง (วันครู 2502) เล่าในมุมเดียวกันว่า ทันทีที่รู้ว่าค่ายนี้เกี่ยวกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ก็สนใจที่จะมาเข้าร่วม เพราะสนใจเรื่องต้นไม้เป็นพิเศษ ประจวบเหมาะกับที่กลุ่มของหนูได้ไปทัศนศึกษาที่บ้านมะพร้าวแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับต้นมะพร้าวที่สำคัญของเกาะสมุย

“หนูสนุกมากเลยค่ะ เพราะได้เรียนรู้การทำขนมจากมะพร้าว ได้รู้ว่ามะพร้าวไม่ใช่ทำได้แค่อย่างเดียว แต่มีประโยชน์หลายอย่างมาก ทั้งที่หนูเกิดที่สมุย และเป็นคนสมุย จำความได้ก็เห็นต้นมะพร้าวหน้าบ้านแล้ว แต่ไม่เคยสนใจ พอมารู้จริง ๆ ว่ามีประโยชน์เยอะ ความคิดของหนูก็เปลี่ยนค่ะว่ามีประโยชน์เยอะขนาดนี้เชียวหรือ นอกจากนี้ หนูยังได้เรียนรู้ด้วยว่ามะพร้าวเคยเป็นอาชีพหลักของคนบนเกาะสมุยเลย ทั้งส่งออก และค้าขายทางเรือ ความรู้ทั้งหมดที่

หนูได้จากค่ายนี้ หนูคิดว่าจะเอาไปเล่าให้พวกน้อง ๆ ฟังว่า ต้นมะพร้าวไม่ได้มีประโยชน์แค่เป็นอาหารนะ แต่เอามาทำของใช้ได้ เครื่องจักสานได้ เอามาทำเป็นยาสมุนไพรก็ได้ ให้เด็ก ๆ ได้รู้ว่า อย่ามองต้นมะพร้าวเป็นแค่ต้นมะพร้าวธรรมดา และที่บ้านหนูทำค้าขายกับนักท่องเที่ยว พอนักท่องเที่ยวกลับมา หนูก็อยากให้พวกเขาทิ้งขยะให้ถูกที่ เป็นไปได้ก็อยากให้ช่วย ๆ กัน โดยที่หนูก็จะเป็นคนคอยบอกพวกเขาด้วยค่ะ”

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า “เป็น อยู่ คือ” เป็นอีกหนึ่งค่าย “ต้นแบบ” ให้ครูอาจารย์นำไปประยุกต์ใช้กับการจัดค่ายกิจกรรมให้นักเรียนต่อไป และเด็ก ๆ จะได้รู้ถึงภูมิปัญญาของคนสมุย และตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการลงมือทำงาน จนกลายเป็นองค์ความรู้ติดตัว และส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป