เส้นทางขยะอิเล็กทรอนิกส์ จาก “ดีแทค” สู่โรงงานรีไซเคิล “เทส”

แฟ้มภาพ

ปัญหาจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงต่อเนื่องมาหลายปี เนื่องจากประเทศไทยยังเก็บซากเหล่านี้ได้จำนวนไม่มาก และยังกำจัดถูกวิธีน้อย

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการร่างกฎหมายจัดการซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ขณะที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างรวดเร็ว และอนาคตจะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์สะสมไปเรื่อย ๆ

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ ดีแทค ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมมองว่าใน 1 ปี ดีแทคขายโทรศัพท์มือถือได้มากกว่า 500,000 เครื่อง และปัจจุบันเริ่มเห็นเทรนด์ของสมาร์ทวอตช์ กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก แต่อายุการใช้งานเพียงแค่ 2-3 ปีเท่านั้นเอง ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคมักจะเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือภายใน 1-2 ปี

นอกจากนั้น จากการดำเนินโครงการ “จากถังสีฟ้า ทิ้งให้ดี” ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 จากการเก็บซากอิเล็กทรอนิกส์ในองค์กร และรับจากคนทั่วไปนำส่งโรงงานเทส (TES) ผู้นำด้านการจัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าเฉพาะในปี 2562 ดีแทคสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจกว่า 213,476 ชิ้น แบ่งเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับจากสำนักงาน และผู้ใช้งานทั่วไป จำนวน 46,221 ชิ้น คิดเป็น 21%และขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากการขยายโครงข่าย 167,255 ชิ้น หรือคิดเป็น 79% ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่เก็บได้

 

“อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์” ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กร และความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่าจากผลการสำรวจพฤติกรรมการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์เมื่อไม่ใช้งานแล้วของสำนักสิ่งแวดล้อม พบว่ากว่าร้อยละ 50 ของผู้ใช้งานจะเลือกขายซากขยะอิเล็กทรอนิกส์กับผู้รับซื้อของเก่า หรือรถขายของเก่า ซึ่งมักจะนำขยะไปแยกชิ้นส่วน โดยเลือกเฉพาะส่วนที่มีมูลค่านำไปขายต่อได้ และกำจัดซากขยะที่เหลือด้วยการทิ้งปะปนกับขยะทั่วไป ปัญหาสำคัญคือการทิ้งซากผลิตภัณฑ์ปะปนกับขยะทั่วไป และการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง

“ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของดีแทค ที่กำลังดำเนินการอยู่ในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่กลุ่มธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องแผนการตลาด ดีแทคจึงจัดโครงการจากถังสีฟ้า ทิ้งให้ดีเพื่อต้องการอำนวยความสะดวกกับผู้ใช้งาน ให้สามารถทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานไม่ได้แล้วอย่างถูกวิธี โดยตั้งกล่องรับตามสำนักงาน หรือช็อปของดีแทคกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่า จะจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดโดยไม่ใช้วิธีฝังกลบเลย (zero landfill) ภายในปี 2565 และจะควบคุมการใช้พลังงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30% ภายในปี 2573”

“สำหรับดีแทคจับมือกับเทสมาตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว ในแต่ละปี นอกจากได้กำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีแล้ว ยังสามารถคืนโลหะมีค่า และวัตถุดิบสำคัญกลับเข้าสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ได้ 96-98% ของจำนวนขยะที่เก็บได้ เราเชื่อว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์จะกลายเป็นทองคำในอนาคต เพราะมีโลหะมีค่าหลายอัน หากใช้หมดแล้วก็หมดเลย โดยเฉพาะพวกลิเทียม พาราเดียม เป็นโลหะมีค่าที่ขุดจากพื้นดินลงไปลึกมาก ๆ และเมื่อหมดจะไม่มีการผลิตเพิ่ม แล้วโลหะมีค่าเหล่านี้เริ่มมีการใช้เป็นอาวุธต่อรองในการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ “อรอุมา” ยังเล่าเส้นทางกระบวนการจัดหาบริษัทรีไซเคิลบอกว่าเราพิจารณาจากนโยบายการจัดซื้อจัดหาสินค้า และบริการของบริษัท โดยต้องมีการประเมินความเสี่ยงด้านต่าง ๆ อาทิ ธรรมาภิบาล การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมผู้รับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์จะต้องลงนามในเอกสารว่าด้วยข้อตกลงในการปฏิบัติธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ หรือ agreement of responsible business conduct และต้องแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการประเภท 106 ออกโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยระบุประเภทกิจการที่เกี่ยวข้องกับการกำจัด หรือรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผู้รับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีใบรับรองมาตรฐาน NIST 800-88R1 ซึ่งเป็นมาตรฐานการกำจัดข้อมูลต่าง ๆ ที่ยังอาจคงค้างอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันมากที่สุดทั่วโลก

“ที่สำคัญ ดีแทคยังมีหน่วยงานกำกับดูแลห่วงโซ่อุปทาน (supply chain sustainability management) ทำหน้าที่ตรวจประเมินบริษัทผู้ให้บริการรีไซเคิลเหล่านี้เป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทผู้ให้บริการที่ได้รับคัดเลือกมานี้ยังคงรักษามาตรฐานกระบวนการรีไซเคิล มีการพัฒนาระบบการทำงานและเทคโนโลยีอยู่เสมอ”

“กรวิกา ชัยประทีป” หัวหน้าฝ่ายขายและการตลาดของเทส กล่าวเสริมว่าเทสเป็นผู้นำเรื่องการจัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านมาตรฐานสากลหลายด้าน ทั้งชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม มี 38 สาขา ใน 20 ประเทศทั่วโลก เพื่อรับซากอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็น แอร์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ สำหรับประเทศไทยเทสดำเนินการในขั้นการคัดแยกโลหะ วัสดุต่าง ๆ ก่อนบรรจุส่งไปรีไซเคิลที่โรงงานเทส สิงคโปร์ ซึ่งเป็นโรงงานรีไซเคิลครบวงจร 100%

“การร่วมมือกับดีแทคครั้งนี้ เทสรับซากโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ จากโครงการ และเมื่อถึงโรงงานแล้ว จะตรวจนับ และชั่งน้ำหนักเพื่อรายงานจำนวน และน้ำหนัก รวมถึงสถานที่รับเพื่อแจ้งให้ดีแทคทราบ พร้อมกับยืนยันว่าได้รับอุปกรณ์เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นจะนำเข้าพื้นที่จัดเก็บ และจะคัดแยกวัสดุตามประเภทหลัก ๆเช่น โทรศัพท์มือถือ, แบตเตอรี่, หูฟัง,สายชาร์จแบตเตอรี่, พาวเวอร์แบงก์ เป็นต้น

“เพื่อนำวัสดุหลักดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการแกะแยก อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ หลังการแกะแยกจะบรรจุวัสดุตามแต่ละประเภท วัสดุทั้งหมดจะถูกนำส่งออกไปยังโรงงานของเทสที่สิงคโปร์ เพื่อทำลายหน่วยความจำในเครื่อง และสกัดเป็นโลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำ, ทองแดง,พาราเดียม, เหล็ก, อะลูมิเนียม,ลิเทียม และวัสดุประเภทพลาสติก เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าใหม่ต่อไป เพราะวัสดุบางส่วนสามารถนำไปทำถนนได้”

“ส่วนลูกค้าหลัก ๆ ของเทสคือกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นโรงงานขนาดเล็กรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ไม่เกิน 300 ตัน และแต่ละเดือนจะส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังสิงคโปร์ โดยใส่ตู้คอนเทนเนอร์ยาว 40 ฟุต1 ตู้ ผ่านทางเรือ แต่ยังไม่มีการขยับขยายโรงงานให้เป็นครบวงจรแบบสิงคโปร์ เนื่องจากไทยยังเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้น้อย เพราะหลายคนไม่รู้จะนำไปทิ้งที่ไหน ขณะที่ขยะกลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังไม่ถูกนำเข้าระบบการจัดการอย่างถูกวิธี”

ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมความรู้เรื่องการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ประชาชนเข้าใจมากกว่านี้