PTTEP Teenergy ปลูก-ปั้น-เปลี่ยนเยาวชนรักษ์ สวล.

ในมุมของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. นอกจากจะมีภารกิจหลักในการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศ ยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ด้วยแนวคิดที่ว่า “นักบุกเบิก ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม และร่วมพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน”

จากความมุ่งมั่นดังกล่าว ถูกต่อยอดมาสู่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ รวมถึงโครงการ PTTEP Teenergy ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปีที่ 4 พร้อมกับการขยายโครงการให้กว้างมากขึ้น ด้วยการเพิ่มพื้นที่การจัดกิจกรรมทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วไทย

โดยมีกลยุทธ์ 3 ป. คือ ปลูก-ปั้น-เปลี่ยน เริ่มด้วยการปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างโอกาสในการเรียนรู้นอกห้องเรียน รวมถึงปั้นเยาวชนให้มีความรู้สู่การหล่อหลอมหัวใจอนุรักษ์ และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเยาวชนให้มีความพร้อมในการทำประโยชน์ให้กับสังคม อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเยาวชนในการออกไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคม

“ศิริพงษ์ เฟื่องลิขิต” ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม ปตท.สผ. เล่าภาพรวมให้ฟังว่า หลังจากจัดกิจกรรมมา 3 ปีที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ได้ประเมินและพบว่าเยาวชนมาจากภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าเยาวชนภูมิภาคอื่นให้ความสนใจกิจกรรมนี้เช่นกัน แต่ข้อจำกัดด้านระยะทาง และพื้นที่อาจทำให้พวกเขาไม่สะดวกมาเข้าร่วมกิจกรรม ในปีนี้ทาง ปตท.สผ.จึงขยายโครงการไปสู่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ด้วย

สำหรับภาคเหนือปักหมุดพื้นที่ที่สวนป่าเขากระยาง จ.พิษณุโลก ส่วนภาคอีสานจะจัดกิจกรรมกับโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศภูฝอยลม จ.อุดรธานี และภาคใต้จะเป็นที่สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จ.สงขลา ซึ่งแต่ละจังหวัดล้วนเกี่ยวพันกับการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ. โดย ปตท.สผ.มีพื้นที่ปฏิบัติการที่แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ จ.พิษณุโลก ขณะที่ภาคอีสานมีโครงการสินภูฮ่อม ใน จ.อุดรธานี พร้อมทั้งมีฐานปฏิบัติการสนับสนุนที่ จ.สงขลา

“หลังจากที่ได้พื้นที่จัดกิจกรรมแล้ว จะดูว่าพื้นที่นั้น ๆ มีความโดดเด่นอย่างไรบ้างอย่างที่ จ.พิษณุโลก เราร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 ในการเข้าไปที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และปีนี้เราอยากน้อมนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 มาให้เยาวชนได้เรียนรู้ จึงจับมือกับมูลนิธิยุวสถิรคุณ ในการเข้ามาให้ความรู้กับเยาวชน และสอดแทรกเรื่องนี้ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ”

ทั้งนั้น โครงการ PTTEP Teenergy ได้รับการตอบรับจากเยาวชนเป็นอย่างดี เพราะมีนักเรียนชั้น ม.4-5 สมัครกว่า 3,100 คน แต่ได้คัดเลือกเหลือ 280 คน แบ่งเป็นภาคละ 70 คน โดยการทำกิจกรรมจะเปิดโอกาสให้เยาวชนนำเสนอโครงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรับทุนสนับสนุนในการดำเนินโครงการ ซึ่งมีทั้งหมด 40 ทุน ทุนละ 10,000 บาท สำหรับนำไปปฏิบัติจริง และสร้างประโยชน์ในท้องถิ่นของตนเอง

ขณะเดียวกัน เพื่อให้เกิดเครือข่ายเยาวชนที่ทำงานต่อเนื่อง “ศิริพงษ์” บอกว่า ปตท.สผ.ได้ผลักดันให้มีการก่อตั้งชมรม PTTEP Teenergy ซึ่งเยาวชนจะร่วมกันทำประโยชน์ให้กับสังคมภายใต้การบริหารจัดการของกลุ่มเยาวชนเอง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนมีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยน และทำกิจกรรมร่วมกัน ในการสร้างเครือข่ายนักอนุรักษ์รุ่นเยาว์ที่เข้มแข็ง โดยจะมีเงินกองทุนตั้งต้นให้ 50,000 บาท และปัจจุบันมีเยาวชน PTTEP Teenergy รวม 210 คน

“เราเห็นโครงการเกิดขึ้นเยอะมาก แต่ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ เพราะไม่มีเงินทุน ซึ่งหลังจากพวกเขาทำโครงการเสร็จแล้ว เราจะมีการติดตามและประเมินผล ซึ่งสิ่งที่น้อง ๆ จะได้คือความรู้ในการบริหารจัดการโครงการ ซึ่ง 40 ทุนที่กระจายออกไปเป็นเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ที่กระจายเมล็ดพันธุ์ไปตามภูมิภาคต่าง ๆ โดยเราเชื่อว่าเมื่อเมล็ดพันธุ์เหล่านี้เบ่งบานจะสร้างความชุ่มชื่นให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี”

การสร้างความเข้มแข็งของโครงการไม่เพียงแต่ดำเนินการกับการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่รุ่นพี่ที่เข้าร่วมโครงการในปีก่อนหน้าจะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลน้อง ๆ อีกด้วย นอกจากนั้น ยังมีพนักงานจิตอาสาของ ปตท.สผ.มามีส่วนร่วมด้วย

“บริษัทเปิดรับสมัครพนักงานทั้งในออฟฟิศและพื้นที่ปฏิบัติการ ซึ่งมีการคัดเลือกพนักงานด้วยว่าเขามีทัศนคติอย่างไร เพราะเราอยากได้คนที่อยากทำประโยชน์เพื่อสังคมจริง ๆ ไม่ใช่มาทำกิจกรรมแล้วจบไป โดยมีพนักงานจากหลายฝ่ายเข้ามาร่วมทำค่ายครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักธรณี วิศวกรปิโตรเลียม วิศวกรสิ่งแวดล้อม รวมแล้วประมาณ 10 คน กระนั้น สิ่งที่มากกว่าการมาเป็นจิตอาสาคือพวกเขาจะได้บอกเล่าประสบการณ์ให้กับน้อง ๆ ด้วยว่า เส้นทางการทำงานของอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างไร”

อันจะช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น