ทางรอด “วิสาหกิจชุมชน” กระจายรายได้-ระดมทุนพิทักษ์ป่า

แม่ริม
แม่ริม

กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีเป้าหมายชัดเจนว่าการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างเครือข่าย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตร อีกทั้งยังเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับเกษตรกรอีกด้วย ทั้งยังมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ 100% จึงมาผนึกรวมกันเป็นเครือข่ายจากผู้ซื้อ ผู้ขาย ฯลฯ เพื่อสร้างวิสาหกิจชุมชนที่แข็งแกร่งขึ้น

ผลเช่นนี้ จึงทำให้มีโอกาสสัมภาษณ์ “รัฐภัทร์ ศรีจันทร์เกิด” ประธานนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่า และกรรมการบริหาร บริษัท เอฟแอลอาร์ 39 วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ถึงเป้าหมาย และการสร้างระบบที่จะเอื้อให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานได้ โดยไม่ใช้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ แต่จะเป็นการลงขันของผู้ประกอบการ

รัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด
รัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด

เบื้องต้น “รัฐภัทร์” สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกษตรกรในพื้นที่ต้องเผชิญมาอย่างต่อเนื่อง คือ 1) ปัญหาหนี้สินเต็มเพดาน จากฐานข้อมูลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังไม่นับรวมโครงการด้านการเงินของภาครัฐที่สนับสนุนภาคการเกษตรอื่น ๆ

2) เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ค่อนข้างเสี่ยงในเชิงธุรกิจ โดยเฉพาะกรณีต้องประสบปัญหาภัยธรรมชาติ รวมไปจนถึงราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ “ผันผวน” ตามแต่สถานการณ์ในตลาดว่ามีความต้องการมาก-น้อยแตกต่างกันไป

3) ปลูกพืชที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

4) ปัญหาซ้ำซ้อนในเรื่องสิทธิใช้พื้นที่ทำกิน

และ 5) แม้ว่าจะมีภาครัฐสนับสนุนแต่ขั้นตอนต่าง ๆ ใช้เวลานาน อาจจะไม่ทันต่อความเดือดร้อนของเกษตรกร

“โครงการที่ดำเนินการก่อนหน้านี้คือการขายตรง ระหว่างเกษตรกรเครือข่ายไปถึงร้านค้าต่าง ๆ วันนี้จำนวนเครือข่ายเกษตรกรที่มากขึ้น แนวคิดเรื่องวิสาหกิจชุมชนจึงเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าจะต้องทำ เมื่อรวมตัวกันได้แล้ว จึงจำเป็นต้องใช้ระบบที่มีความทันสมัยเพื่อช่วยบริหาร และกระจายสินค้าไปยังลูกค้า แนวทางที่เริ่มดำเนินการไปแล้วคือการลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าในเขตกรุงเทพฯ และในอนาคตอาจต้องเพิ่มในพื้นที่อื่น ๆ รอบปริมณฑล”

“ยิ่งไปกว่านั้นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนยังมองไปถึงการพัฒนา platform ใหม่ ๆสำหรับใช้เพื่อการระดมทุน โดยการนำไปดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมพร้อม ๆ กับการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระดมทุนเพื่อสนับสนุุนการปลูกป่า พร้อมทั้งฟื้นฟูป่าจากการทำไร่ข้าวโพด ตรงนี้เป็นโครงการที่ทำร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund For Nature) หรือ WWF องค์กรนานาชาติที่ดำเนินการด้านการอนุรักษ์ ที่เตรียมเปิดตัวในช่วงสิ้นปีนี้ โดยเป้าหมายจะระดมทุนเพื่ออนุรักษ์ผืนป่า และประโยชน์ส่วนใหญ่ยังตกอยู่ที่เกษตรกรไทยอีกด้วย”

แม่ริม

“นอกจากนั้น เกษตรกรจะต้องมีรายได้ที่ดีถึงจะหลุดบ่วงหนี้ได้ เพราะเมื่อปลอดหนี้ก็สามารถไปลงทุนต่อเพื่อการเติบโตยั่งยืน แต่ถ้ามองจากปัจจุบันการลงทุนเล็ก ๆ ที่ 5,000-10,000 บาท ยังไม่มีฉะนั้นระบบที่เราเตรียมพัฒนาจะสนับสนุนเกษตรกรตั้้งแต่องค์ความรู้ เมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า ไปจนถึงการบริหารจัดการแหล่งน้ำ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อการดูแลป่า อย่างเช่น การดูแลป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง จนกว่าจะได้ผลผลิตที่จำนวน 2,000 บาทต่อไร่ ซึ่งเป็นการใช้เงินจากภาคเอกชนและผู้ประกอบการ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหมุนทำให้ธุรกิจและชุมชนอยู่ได้”

นอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ยังมีพันธมิตรที่มีทิศทางเดียวกัน อย่างศูนย์การเรียนรู้เกษตรวิชญาที่นำแนวพระราชดำริ และหลักปรัชญาเกษตรพอเพียงมาปรับใช้ ซึ่ง “รัฐภัทร์” เน้นย้ำว่า การดำเนินการดังกล่าวเพื่อฟื้นฟูป่า และเกษตรกรจะต้องแก้ไขพื้นที่ปลูกข้าวโพดให้กลับมาเป็นผืนป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง นอกจากนี้ กลุ่มวิสาหกิจยังทำ “โมเดลอาชีพ” ที่เกษตรกรเป็นผู้เลือกว่าจะเป็นสมาร์ทฟาร์มหรือเป็นออร์แกนิกฟาร์ม

แต่สุดท้ายจะต้องอยู่บนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”การขับเคลื่อนครั้งนี้ของภาคเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ เรามองเห็นปัญหาแล้วว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวของเกษตรกรนั้น ทำลายสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น ข้าวโพดที่ต้องใช้พื้นที่ในการปลูกค่อนข้างมาก เมื่อประเมินพื้นที่ภาคเหนือตอนบนสูงถึง 7 ล้านไร่ โดยที่ภาครัฐไม่มีนโยบายแก้ไขที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม อีกทั้งปัญหาดังกล่าว ยังเกี่ยวโยงกับประเด็นปัญหาในสิทธิพื้นที่ทำกินอีกด้วย เราจึงต้องผลักดันคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมคิด ร่วมทำด้วย”

“อย่างเช่นศูนย์การเรียนรู้ที่อำเภอแม่แจ่ม บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ ที่มีโมเดลด้านการเกษตรที่สามารถให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้ได้ อีกทั้งขณะนี้ยังมีความร่วมมือกับสถานศึกษาในระดับมัธยม เช่น โรงเรียนมัธยมในอำเภอแม่แจ่ม ที่นี่เด็กแต่ละปีจะอยู่ที่ 1,000 คน แต่เรียนต่อในมหาวิทยาลัยเพียง 500 คน ส่วนที่เหลืออีก 500 คนไม่ได้เรียนต่อก็จะเข้าสู่วิถีชีวิตชุมชนปกติ อาจเข้ามาเรียนคอร์สสั้น ๆ กับเราบ้าง เพื่อเป็น startup ภาคการเกษตร”

“โลกยุคปัจจุบันจะไปสั่งให้คนรุ่นพ่อรุ่นแม่หยุุดปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็ไม่ได้ แต่หากจะเดินหน้าต่อ ต้องมาโฟกัสที่รุ่นลูก วันนี้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดในเชียงใหม่เป็นคนในเจเนอเรชั่นยุคแรก ๆเมื่อ 20 ปีที่แล้วและกำลังจะหมดไปกับหนี้สิน ธ.ก.ส.กว่าหมื่นล้านบาทในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีต่อจากนี้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นลูกหลานอาจจะไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว เหล่านี้คือภาพที่ไม่ควรเกิดขึ้น และเราควรจะมีทางออกให้กับสังคมไทย วิธีคิดเรื่องของการจัดการสมัยใหม่นั้น ผมมองว่าคนรุ่นใหม่จะเข้ามาช่วยได้มาก โดยเฉพาะการครีเอตธุรกิจตามเศรษฐกิจยุคใหม่ เพราะเราจะขายผักแค่ในตลาดสดนั้นไม่ได้แล้ว ต้องไปให้ไกลกว่านั้น”

“รัฐภัทร์” ขยายความถึงช่องทางการขายพืชผลทางการเกษตรว่าขณะนี้ได้มองไปที่การจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ในรูปแบบ “ออนไลน์” รวมถึงการซื้อขาย”สินค้าล่วงหน้า” ทั้ง 2 เรื่องยังอยู่ในระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม หลังจากนั้นจะนำมาถ่ายทอดต่อให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เห็นภาพทั้งระบบ และอีกข้อสำคัญ หากต้องการให้การพัฒนารูปแบบวิสาหกิจเกิดขึ้นจริง หน่วยงานภาครัฐควรลดบทบาทให้มากที่สุด

“ควรให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมคิด แต่หากคิดแบบภาครัฐ จะติดอยู่ที่ทุนใหญ่ทั้งหมด หรือแม้กระทั่งหน่วยงานของรัฐอย่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่เป็นผู้คิดโครงการต่าง ๆ ทั้งที่ในทางปฏิบัตินั้นควรให้คนในท้องถิ่นเป็นผู้ขับเคลื่อน เพราะการรวมศูนย์ไว้ที่ภาครัฐจะกลายเป็นห่วงโซ่ใหญ่ที่ติดอยู่กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น และภายหลังจากที่วางแผน และดำเนินงานบางส่วนไปแล้ว ปรากฏว่ามีผู้สนใจโมเดลนี้อย่างเช่น สถาบันการเงินจากฮ่องกงและกลุ่มบริษัท อโกด้า ต้องการซื้อแพ็กเกจด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเราจึงวางแผนสำหรับอนาคตเพื่อเตรียมซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกด้วย”

“อย่างช่วงก่อนหน้านี้ที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่าโลกในปัจจุบันทุกอย่างเหนือความคาดหมายทั้งสิ้น นักเศรษฐศาสตร์ที่ว่าเก่งแต่เมื่อมาเจอกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ถือว่ายาก สาเหตุคือไม่เคยมีการกระจายการใช้ทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน เกิดความเหลื่อมล้ำ มีแต่เพียงทุนชั้นนำที่กอบโกยทรัพยากรของประเทศ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ บางกิจการก็ถูกผูกขาดโดยภาครัฐ”

แต่สิ่งที่จะทำให้ประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้คือต้องเริ่มแก้ไขกันตั้งแต่โครงสร้าง ด้วยการ “ลดอำนาจ” ข้าราชการในระดับภูมิภาค เพื่อเปิดทางให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดการพื้นที่ของตัวเอง

……………………….

วิสาหกิจชุมชนพุ่ง 9.1 หมื่นแห่ง

รายงานจากกองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า สรุปจำนวนวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่อนุมัติการจดทะเบียน เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563มีจำนวนวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ 91,971 แห่ง รวมสมาชิกทั้งสิ้น 1,547,495 ราย โดยจังหวัดที่มีการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1) ร้อยเอ็ดรวม 5,151 แห่ง 2) ศรีสะเกษ รวม4,092 แห่ง 3) มหาสารคาม รวม3,884 แห่ง 4) ขอนแก่น รวม3,529 แห่ง และ 5) บุรีรัมย์ รวม 3,407 แห่ง

เมื่อจำแนกแล้วแบ่งเป็นกลุ่มกิจการผลิตสินค้า การผลิตพืชอยู่ที่27.9% การผลิตปศุสัตว์ 23.4%การแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหาร 10.9% การผลิตปัจจัยการผลิต7.9% ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ/เสื้อผ้า 7.1%

การผลิตสินค้าอื่น ๆ 6.2% การผลิตประมง 3.8% เครื่องจักสาน 3.7% เครื่องดื่ม 2.8% ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2.4% เครื่องไม้และเฟอร์นิเจอร์ 1.1% ของชำร่วยของที่ระลึก 0.9% ขณะที่เมื่อจำแนกตามกลุ่มกิจการให้บริการ แบ่งเป็นการบริการอื่น ๆ 47.7%ออมทรัพย์ชุมชน 26.1% ร้านค้าชุมชน 12.7% ท่องเที่ยว 9.7%สุขภาพ 3.5% และซ่อมเครื่องจักรกล 0.3%