“ซีพีเอฟ” จับมือ “พันธมิตร” สนับสนุนเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรียน

ซีพีเอฟ

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ร่วมกับหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้าส่งมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนปีที่ 21 ให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ดังนี้

โรงเรียนบ้านทุ่งมน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น, โรงเรียนบ้านต่างแดน, โรงเรียนโนนปอแดงวิทยา, โรงเรียนโนนอุดมศึกษา อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู และโรงเรียนส้งเปือย อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เพื่อสนับสนุนเด็ก และเยาวชนผลิตอาหารในโรงเรียนด้วยโปรตีนจากไข่ไก่ เพื่อเรียนรู้หลักการจัดการธุรกิจเกษตร จนนำไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคต

“สมคิด วรรณลุกขี” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นโครงการที่ซีพีเอฟดำเนินการมากว่า 30 ปี เราสนับสนุนมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทในด้านของเทคโนโลยีการเลี้ยง และมอบโรงเรือนเลี้ยงไก่ พันธุ์ไก่ อาหารไก่

“ถ้าถามว่าทำไมโครงการนี้ถึงทำมานาน 30 กว่าปี เหตุผลหนึ่งเพราะซีพีเอฟมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงไก่ไข่ ที่ไปช่วยโรงเรียน ด้วยการให้คำแนะนำด้านการจัดการฟาร์ม และการป้องกันโรคที่ดี เมื่อได้ประสิทธิภาพการเลี้ยงที่ดี ต้นทุนจะต่ำ ทำให้โครงการนี้สามารถเลี้ยงตัวเองได้รุ่นต่อรุ่น”

“ที่สำคัญคือ เราส่งเจ้าหน้าที่ของเราที่เป็นสัตวบาลเข้ามาให้คำแนะนำนักเรียน อาจารย์ และชาวบ้านที่เข้ามาทำโครงการ ว่าทำอย่างไรไก่จะกินอาหารได้ กินน้ำได้ มีร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรค เพื่อให้ผลผลิตตามมาตรฐานของสายพันธุ์”

“ผลตรงนี้คือสิ่งที่เป็น key success จนทำให้โครงการประสบความสำเร็จ และตอนนี้มีทั้งหมด 855 โรงเรียนที่อยู่ในโครงการ ที่สำคัญ เรามีแผนขยายโครงการประมาณ 20-25 โรงเรียนในทุก ๆ ปี โดยในส่วนหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ เข้ามาสนับสนุนมีทั้งหมด 132 โรงเรียน และนอกจากนั้นยังมีบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) มาช่วยสนับสนุนด้วย”

ซีพีเอฟ

“สมคิด” อธิบายต่อว่า เราตั้งใจต่อยอดโครงการเลี้ยงไก่ไข่เป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนเข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีเรื่องการเลี้ยงไก่ การตลาด และการจัดการฟาร์ม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ได้ หรือเริ่มต้นธุรกิจเล็ก ๆ ได้ ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้จะทำให้ชุมชนเกิดความยั่งยืน เพราะนอกจากเลี้ยงไก่แล้ว ยังสามารถปลูกพืชผักสวนครัวที่ใช้ปุ๋ยจากมูลไก่

“นอกจากนี้ยังมีการติดตามเรื่องการเลี้ยงไก่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงมีเครื่องมือที่ใช้ระบบ chatbot รวบรวมข้อมูลเป็นรายสัปดาห์ เพื่อติดตามงานของแต่ละโรงเรียน เช่น ไก่ให้ไข่กี่ฟอง กินอาหารกี่กรัม กินน้ำกี่ซีซีต่อตัว เพราะสิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่าไก่จะมีสุขภาพดีหรือไม่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของเราให้ความช่วยเหลือได้ทัน”

“เรอิจิ ฟุจิตะ” ประธานส่วนการศึกษาคณะกรรมการฝ่ายความช่วยเหลือสังคม หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ กล่าวว่า องค์กรตระหนักถึงความสำคัญของอาหารมื้อกลางวันเพื่อโภชนาการที่ดีของเด็ก จึงเริ่มสนับสนุนโครงการนี้ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนปีละ 5 โรงเรียน รวมส่งมอบไปแล้วทั้งหมด 132 โรงเรียน ซึ่งเรายังสนับสนุนโครงการต่อไป

“การเลี้ยงไก่ไข่ทำให้นักเรียนมีอาหาร ซึ่งเป็นอาหารโปรตีนที่ดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพของนักเรียนเพื่อจะเติบโตเป็นกำลังของประเทศ นอกจากนี้ นักเรียนยังฝึกการบริหารจัดการ มีการเก็บไข่ ขายไข่ อันเป็นทักษะการเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนำไปเป็นวิชาชีพเลี้ยงตัวได้อย่างหนึ่ง สำหรับนักเรียนเติบโตขึ้นไปแล้ว”

จึงนับเป็นโครงการที่สร้างแหล่งอาหารอย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอ เพราะจากการที่โรงเรียนนำผลผลิตไข่ไก่ไปขายให้แก่ชุมชน จึงทำให้ชุมชนรอบข้างบริโภคไข่ไก่ในราคาถูกกว่าท้องตลาด ขณะเดียวกัน นักเรียนยังได้ลงมือปฏิบัติจริง ฝึกทักษะอาชีพ มีโอกาสเรียนรู้ทั้งด้านการผลิต การจัดการ และการตลาดอีกด้วย