อเด็คโก้ วิเคราะห์เทรนด์โลกการทำงานปี 2021

อเด็คโก้ ประเทศไทย ผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล งานเงินเดือน การฝึกอบรม และการพัฒนาบุคคลากร วิเคราะห์ปีหน้าโลกทำงานมี 5 เทรนด์สำคัญ

ลดงบจ้างคนในตำแหน่งที่ไม่จำเป็น

Adecco คาดว่าโครงสร้างองค์กรในปี 2021 และต่อจากนั้น จะมีความ agile มากขึ้น เพื่อให้กระบวนการตัดสินใจสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น ตอบสนองผู้บริโภคและลูกค้าได้ทันท่วงที และลดงบประมาณการจ้างงานในตำแหน่งที่ไม่จำเป็น โดยองค์กรจะหันมาพึ่งพาการใช้บริการ outsource มากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการจ้างพนักงาน outsource โดยฝาก headcount ไว้กับเอเจนซี่ การจ้างพนักงานฟรีแลนซ์และพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราว หรือการจ้างเอเจนซี่เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจในบางส่วน เพื่อทดแทนจำนวนพนักงานประจำที่ถูกลดทอนตามโครงสร้างองค์กรที่ปรับใหม่ และเสริมกำลังคนในโปรเจกต์เร่งด่วนที่การสรรหาพนักงานประจำในรูปแบบปกติอาจทำได้ไม่รวดเร็วเท่าและไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

จากการศึกษาของหลายองค์กรพบว่า โครงสร้างอาจจะแบ่งได้เป็น 3 แบบ

1. Flatter Organization เป็นโครงสร้างองค์กรแบบราบที่ยังมีผู้จัดการอยู่ แต่ลดจำนวนให้มีน้อยที่สุดเพื่อลดลำดับขั้นการตัดสินใจ และกระจายอำนาจตัดสินใจให้กับพนักงานระดับปฏิบัติการที่อยู่หน้างาน

2. Flatarchies เป็นโครงสร้างองค์กรที่ยังมีความเป็นลำดับขั้นอยู่ แต่ยืดหยุ่นสำหรับการปรับมาใช้โครงสร้างใหม่ที่ราบขึ้นชั่วคราว เช่น การฟอร์มทีมเฉพาะกิจขึ้นมาชั่วคราว โดยนำผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาทำงานร่วมกัน ไม่มีใครเป็นนายใคร เมื่อโปรเจกต์จบก็กลับไปแยกย้ายทำงานตามหน้าที่เดิม

3. Holacracy เป็นโครงสร้างองค์กรที่ไม่มีลำดับขั้นและไม่แบ่งแยกสายงาน แต่แบ่งพนักงานออกเป็นทีมเพื่อรับผิดชอบงานต่าง ๆ ตามเป้าหมายขององค์กร พนักงานจะไม่มีหน้าที่หรือตำแหน่งตายตัว แต่ทำงานตามบทบาทที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ

ไม่เน้นงาน operation อีกต่อไป

เมื่อธุรกิจแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมและการตอบสนองผู้บริโภคให้รวดเร็ว การทำงานจึงไม่สามารถเน้น operation อย่างเดียวตามที่เคยเป็นมา องค์กรต้องหันมาโฟกัสที่นวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งการจะสร้างนวัตกรรมได้นั้น ไม่สามารถทำได้เพียงแค่ตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแล หรือการกำหนดนโยบายจากผู้บริหารเท่านั้น หากแต่กุญแจสำคัญอยู่ที่ การสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม (innovation culture) ให้เกิดขึ้นจริงในองค์กร

อีกหนึ่งในความท้ายทายขององค์กรในปี 2021 คือการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ องค์กรต้องกล้าออกจาก comfort zone ยืดหยุ่นกฎระเบียบหรือประเพณีปฏิบัติต่าง ๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน กล้าที่จะทดลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ และยอมรับว่าความล้มเหลวหรือความผิดพลาดเป็นหนึ่งในขั้นตอนก่อนที่จะประสบความสำเร็จ เพื่อให้พนักงานกล้าริเริ่มสิ่งใหม่ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิหรือลงโทษ

ยกตัวอย่าง การจัดสรรเวลาการทำงานของพนักงานของ Google ที่ให้ 20% ของเวลาทำงานเป็นช่วงเวลาของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะ ด้าน 3M ออกกฎให้พนักงานต้องฟังคนที่มีไอเดียจะนำเสนอทุกครั้ง โดยไอเดียจะถูกส่งไปยังทีมเฉพาะกิจ 3 ทีมคือ scouts, entrepreneurs และ implementers ที่รวมคนเก่งจากแผนกต่าง ๆ ที่มีประสบการณ์และแบคกราวด์ต่างกันมาช่วยกันคิดต่อยอดไอเดียและทดลองความเป็นไปได้ต่าง ๆ

ที่มาภาพ: อเด็คโก้ ประเทศไทย

หลักสูตรระยะสั้น-เรียนแบบเร่งสปีด

ตอนนี้เกิดช่องว่างทักษะมากขึ้นในตลาดแรงงาน เพราะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วด้านเทคโนโลยี ทำให้การ re-skill และ up-skill ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่องค์กรต้องทำ

แต่หลายองค์กรยังยึดติดกับการพัฒนาคนผ่านการจัดอบรมให้พนักงานมาเรียนในห้องเรียน ซึ่งบางครั้งมีค่าใช้จ่ายสูง ความรู้ที่ได้อาจไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง เพราะติดที่ระบบการทำงานหรือวัฒนธรรมขององค์กรที่มีอยู่เดิม หรือบางครั้งกว่าจะเรียนจบ และนำความรู้มาใช้ ก็โดนคู่แข่งแซงทำไปก่อนแล้ว จึงทำให้การอบรมไม่ได้ประสิทธิผลเท่าที่ควร

Adecco มองว่าเทรนด์การเรียนรู้ในปี 2021 นี้ จะเน้นการเรียนรู้แบบ “fast track” โดยการสร้างการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นให้เกิดขึ้นในองค์กร (learning agility) เพราะในยุคที่ทุกองค์กรแข่งขันกันด้วยนวัตกรรม การทำงานจะไม่สามารถพึ่งพา best practice ได้เหมือนก่อน เนื่องจากทุกอย่างกลายเป็นเรื่องใหม่หมด

ดังนั้นรูปแบบการเรียนรู้ของพนักงานจะปรับสู่การเรียนรู้ผ่านการทดลองทำสิ่งใหม่หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการทำงาน ที่พนักงานอาจต้องเริ่มต้นจากค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูลผ่านแหล่งความรู้ในอินเทอร์เน็ต หัดทำเอง เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานที่มีความรู้และชุดทักษะต่างกัน เรียนรู้จากบริษัท outsource หรือ partner ที่ร่วมงานด้วย

อย่างไรก็ตามการที่รูปแบบการเรียนรู้แบบนี้จะเกิดขึ้นได้ องค์กรก็ต้องมีความยืดหยุ่นก่อนเพราะหากยังยึดติดกับรูปแบบการทำงานแบบเดิม ๆ พนักงานก็จะไม่มีพื้นที่ให้ทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้เลย

ผู้นำ 2021 ต้องกล้าทำลายขนบเดิม

ในโลกการทำงานยุคใหม่ ปัญหาหรือโจทย์ในการทำงานจะมีความยากและซับซ้อนยิ่งขึ้น การทำงานจะต้องใช้การระดมความคิด และอาศัยความร่วมมือของทีมงานที่มีความแตกต่างและหลากหลายมาช่วยในการแก้ปัญหา ดังนั้นบทบาทของผู้นำก็จะเปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นสั่งการให้ลูกน้องปฏิบัติตามจะเปลี่ยนเป็นเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม

ผู้นำจะมีบทบาทในการสร้างแรงจูงใจ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนในทีม สร้างบรรยากาศและพื้นที่ที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ เปิดใจรับฟังทั้งข้อคิดเห็นและข้อขัดแย้ง รวมถึงแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาคนและนวัตกรรม ผู้นำยุคใหม่จึงต้องมีความกล้าอย่างมากที่จะท้าทายขนบเดิม ต่อสู้กับแรงกดดันต่าง ๆ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์กร

คุณสมบัติผู้นำ 2021 ประกอบด้วย

  • Growth Mindset
  • วิสัยทัศน์และเป้าหมายชัดเจน
  • ยืดหยุ่นและกล้าทำลายข้อจำกัด
  • สร้างแรงบันดาลใจและสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน
  • สนับสนุนความหลากหลายและการมีส่วนร่วม
  • ทำตัวเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว unlearn และ relearn ได้ตลอดเวลา

องค์กรต้องดูแลความรู้สึกของพนักงาน

ในภาวะที่ต้องเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 และความกดดันกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน สิ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ สุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงาน

องค์กรอาจต้องปรับมุมมองให้ครอบคลุมมากขึ้น จากที่เคยมองแค่สุขภาพกาย จะต้องเปลี่ยนมาให้ความสำคัญในการดูแลความรู้สึกทางด้านจิตใจและปัจจัยอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับความสุขในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความเครียดความกดดันที่มาจากหน้าที่และเนื้องานที่รับผิดชอบ ความมั่นคงทางการเงิน สังคมการทำงาน วิถีชีวิต เพราะหากสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงานไม่ดีจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน

โดยองค์กรควรเปิดพื้นที่ให้พนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในนโยบาย well-being รวมถึงกล้าที่จะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานบางอย่างที่อาจส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงาน เช่น การยกเลิกค่านิยมการทำงานหนักและหันมาให้ความสำคัญกับ work-life balance การพิจารณาการ work from home แม้ผ่านช่วงโรคระบาดมาแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค

ลดความเครียดจากการเดินทางและสร้างสมดุลชีวิตให้เพิ่มมากขึ้น หรือการส่งเสริมการสื่อสารกับพนักงานด้วย empathy เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่เป็นแบบรับฟังและช่วยเหลือกัน และลดความกดดันในการทำงาน หรือจัดให้มีศูนย์ให้คำปรึกษาเพื่อช่วยรับฟังความเครียดหรือความกังวลต่าง ๆ ของพนักงาน เป็นต้น

วิธีเหล่านี้นอกจะเสียค่าใช้จ่ายไม่มากแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานในระยะยาว