“วาระความยั่งยืน 2021” สร้างโลกสะอาดด้วยเทคโนโลยี

โลก

วาระเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 (Sustainable Development Goals-SDGs) ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2015 โดยการรับรองของประเทศสมาชิกในกลุ่มสหประชาชาติ (United Nations-UN) เพื่อสร้างสันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองสำหรับผู้คน และโลก

โดยหัวใจสำคัญของวาระนี้ ประกอบด้วยเป้าหมาย 17 ข้อ อันเป็นข้อเรียกร้องเร่งด่วนให้ทุกประเทศดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือกำลังพัฒนา นับตั้งแต่เรื่องการขจัดความยากจน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน เป็นต้น

ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึงทศวรรษที่องค์กร และประเทศต่าง ๆ จะร่วมมือกันให้สามารถบรรลุตามเวลาที่กำหนด

the global goals

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมหัวข้อที่จะเป็นกระแสเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่คาดว่าจะเป็นประเด็นร้อนที่หลายองค์กร และประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญในปี 2021 ดังนี้

ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

จากข้อมูลของสถาบันการเงิน “สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด สหราชอาณาจักร” ระบุว่า เรื่องการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของภาคธุรกิจจะยังคงเป็นประเด็นร้อนในปี 2021 เพราะว่าทั่วโลกกำลังตระหนักว่าอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ โดย คาร์บอนฟุตพรินต์คือปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ทั้งนี้ กว่า 189 ประเทศร่วมเป็นภาคีในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นตราสารกฎหมายที่รับรองภายใต้กรอบอนุสัญญา UNFCCC ฉบับล่าสุด เพื่อกำหนดกฎกติการะหว่างประเทศที่มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยข้อตกลงปารีสถือเป็นแนวทางเร่งกระบวนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศ

ซึ่งถึงตอนนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้ได้ ซึ่งหากความคืบหน้าของแต่ละประเทศทำได้ไม่ดีพอ อาจทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 2.7 องศาเซลเซียส สูงกว่าที่ข้อตกลงปารีสกำหนดไว้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ดังนั้น ปี 2021 ทุกประเทศจึงต้องเร่งมือทำเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารงานของอดีตประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นภาคีข้อตกลงปารีส เมื่อปี 2017 เหตุผลการถอนตัวถูกพูดถึงตามสื่อต่าง ๆ ไว้หลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติการดำเนินงานตามข้อตกลงปารีสอาจประสบปัญหาในด้านการสนับสนุนเงินทุน การขาดการวางแผนที่ดีในเรื่องการชดเชยเมื่อเกิดความสูญเสีย และการขาดการตรวจสอบอย่างเข้มงวด

แต่เมื่อ “โจ ไบเดน” เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐ เขาจึงดำเนินนโยบายของพรรคเดโมแครต ด้วยการประกาศแผนว่าจะเข้าร่วมเป็นภาคีของข้อตกลงปารีสอีกครั้ง

ส่วนประเทศไทยเข้าร่วมในความตกลงปารีส และมีเป้าหมาย NDCs ที่จะดำเนินการภายใต้ข้อตกลงปารีสด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2030 ในสาขาพลังงาน การคมนาคมขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย ขณะที่ประเทศจีนประกาศจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ หรือมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ภายในปี 2069

ด้านภาคธุรกิจอย่าง “ลอรีอัล กรุ๊ป” จัดทำวิสัยทัศน์เพื่อความยั่งยืนใหม่เรียกว่า “L’Oreal for The Future” โดยกำหนดแผนพิชิตเป้าหมายในปี 2030 ที่มีเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย

“อินเนส คาลไดรา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภายในปี 2025 โรงงานและศูนย์กระจายสินค้าของลอรีอัลทุกแห่งทั่วโลกต้องไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้พลังงานทดแทน 100%

“โดยนับตั้งแต่ปี 2005 ลอรีอัล กรุ๊ป ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงาน และศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท 78% ซึ่งลดได้มากกว่าเป้าของปี 2020 ที่ตั้งไว้ที่ 60% และในปลายปี 2019 สถานประกอบการของบริษัททั้งหมด 35 แห่ง มีการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ซึ่งหมายถึงการใช้พลังงานทดแทน 100% โดยในจำนวนนี้เป็นโรงงานถึง 14 แห่ง”

ตลาดการค้าคาร์บอน

ตลาดคาร์บอนเป็นมาตรการที่ใช้จูงใจให้เกิดการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ โดยเริ่มเข้ามามีบทบาทชัดเจนจนนำไปสู่การปฏิบัติ และขยายผลในระดับสากล จนเป็นอีกประเด็นที่หลายองค์กร และหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญสำหรับปีนี้

โดยแนวทางปฏิบัติในตลาดคาร์บอนคือการชดเชยคาร์บอนเครดิต (carbon credit) ด้วยการให้ผู้ที่ต้องลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งอาจเป็นหน่วยงานภาคธุรกิจภาครัฐ หรือระดับประเทศใช้เงินซื้อคาร์บอนเครดิตไปขยายขอบเขตในการปล่อยก๊าซคาร์บอนฟุตพรินต์ของตนเอง หรือเรียกว่าให้คนอื่นลดคาร์บอนฟุตพรินต์แทน ซึ่งเปรียบเสมือนการซื้อขายสินค้าประเภทหนึ่ง

ดังนั้น ใครที่ปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์มาก และไม่อยากเสียเงินมาก จึงต้องมีหน้าที่ปล่อยคาร์บอนให้ลดลง ด้วยการปรับกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ส่วนใครที่ปล่อยน้อยก็ต้องพยายามรักษามาตรฐานและพยายามทำให้ลดลงด้วยเช่นกัน

ซึ่งในประเทศไทยมีตลาดคาร์บอนที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO และภาคส่วนอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ

มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

ขณะที่อีกวิธีที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมคือการลดขยะด้วยแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) โดยคอนเซ็ปต์คือการรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งหมายความว่ามีการสร้างผลิตภัณฑ์และโครงสร้างพื้นฐานน้อยลง เพื่อผลิตให้สินค้านั้น ๆ ใช้ได้นานขึ้น จะได้ไม่กลายเป็นขยะโดยเร็ว

การอนุรักษ์ทรัพยากรจึงเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยเช่นกัน โดยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature-WWF) เปิดเผยรายงานว่า ทั่วโลกกำลังขับเคลื่อนวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินความจำเป็นกว่า 56%

สำหรับประเทศไทย SCG เป็นหนึ่งองค์กรที่ทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way ด้วยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่การผลิต การใช้ และวนกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ โดยขับเคลื่อนผ่านแนวทางการดำเนิน 3 ธุรกิจหลักของ SCG

“รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า กลุ่มพันธมิตร circular economy ในไทยเติบโตอย่างรวดเร็วจาก 45 รายในปี 2019 เป็น 180 รายในปี 2020 โควิด-19 ทำให้ขยะเพิ่มมากขึ้น เพราะไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนไปมีการใช้หน้ากาก และพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเราเชื่อว่า circular economy เป็นทางออกในการลดปัญหาขยะในไทย

แต่กระนั้น ควรจะโฟกัสใน 4 ด้าน คือ

หนึ่ง การสร้างระบบน้ำหมุนเวียน ด้วยการให้ความรู้แก่เกษตรกร

สอง ส่งเสริมการหมุนเวียนวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้ เช่น ตอซังใบข้าว, ใบอ้อย และซังข้าวโพด มาแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล, อาหารสัตว์ และบรรจุภัณฑ์

สาม การยกระดับการจัดการขยะพลาสติกให้เป็นวาระแห่งชาติ

สี่ ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง

เศรษฐกิจสีน้ำเงิน

ต้องยอมรับว่าโลกในปัจจุบันมีน้ำปกคลุมราว 70% ของพื้นผิวโลก ที่สำคัญน้ำยังมีความสำคัญในการช่วยให้มนุษยชาติเจริญรุ่งเรือง ด้วยการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” (blue economy) ที่หลายประเทศหลายกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตที่อาศัยน้ำในการทำธุรกิจต้องทำอย่างสมดุล ด้วยการป้องกันการก่อมลพิษในน้ำไม่จับปลาจำนวนมากเกินไป รวมถึงพัฒนาความเป็นอยู่ของแรงงานให้เป็นธรรม และถูกต้องตามกฎหมายด้วย ซึ่ง blue economy เป็นแนวคิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ, ตำแหน่งงาน และพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนหลายล้านคนไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล

โดยเมื่อเดือน ธ.ค. 2020 ผ่านมา สมาชิกของ Ocean Panel กว่า 14 แห่ง เช่น ออสเตรเลีย, แคนาดา และญี่ปุ่นที่ประกาศความมุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการพื้นที่มหาสมุทรบนแนวทางความยั่งยืนภายใต้เขตอำนาจศาลแห่งชาติ ให้ได้ 100% ภายในปี 2025 ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะช่วยเพิ่มอัตราการผลิตได้มากถึง 6 เท่า ทั้งยังใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 40 เท่า และช่วยให้ผู้คนหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน

สำหรับประเทศไทยต่างขานรับแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินเช่นกัน โดย “พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์” อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวในงานประชุมวิชาการเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ครั้งที่ 1 ที่จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปี 2019 บอกว่าพื้นที่อาณาเขตทางทะเลทั้งหมดของประเทศไทยมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 170,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งยังถูกจัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะเพื่อดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

“ประเทศไทยมีแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ. 2558-2564 ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยในแผนดังกล่าวประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การพัฒนาศักยภาพความมั่นคงของชาติทางทะเล 2.การคุ้มครองการใช้ประโยชน์จากทะเล 3.การสร้างความสงบเรียบร้อยและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทะเล 4.การสร้างความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ องค์ความรู้ และความตระหนักรู้ความสำคัญของทะเล และ 6.การบริหารจัดการผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล”

สร้างเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน

นอกจากนั้น สิ่งที่ช่วยผลักดันความยั่งยืนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ การใช้เทคโนโลยีและการสร้างเทคโนโลยีใหม่เพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืน โดยเรื่องนี้จะถูกพูดถึงโดดเด่นมากขึ้นในปี 2021 เพราะเทคโนโลยีเป็นตัวกระตุ้นสำคัญทั้งต่อภาคส่วนที่ยากต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น การดักจับและการกักเก็บคาร์บอน

ดังนั้น ข้อมูลและเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการช่วยตรวจสอบผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเร่งใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการทำรายงานด้าน ESG ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ฉะนั้น อีก 9 ปีนับจากนี้จึงเป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เพื่อให้โลกยั่งยืนมากขึ้นภายใต้กรอบ SDGs