DeeMoney ทางสู่ “ฟินเทค” ยึดจิตวิทยาเชิงบวกในการบริหาร

รัศเมฆ ศรีเศรษฐี
รัศเมฆ ศรีเศรษฐี กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ดีมันนี่ จำกัด

ในอดีตบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อใช้สื่อสารระหว่างประเทศ โดยในประเทศไทยมีบริษัท สวัสดีช้อป จำกัด เป็นผู้ให้บริการบัตรโทรศัพท์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด

แต่ด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด เกิดการเข้ามาของการสื่อสารแบบ over-the-top (OTT) หรือการสื่อสารผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในรูปแบบเปิด ผ่านแอปพลิเคชั่นอุปกรณ์เคลื่อนที่ ทำให้บัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศถูกดิสรัปต์ด้วยเทคโนโลยีใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปี ในธุรกิจโทรคมนาคมของสวัสดีช้อป และมีฐานลูกค้าหลักคือ คนไทย ชาวต่างประเทศ นักท่องเที่ยวที่พำนักระยะยาว และแรงงานต่างด้าว ทำให้บริษัทสามารถทรานส์ฟอร์มองค์กรไปสู่อุตสาหกรรม FinTech ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทลูกที่ชื่อว่า บริษัท ดีมันนี่ จำกัด (DeeMoney) เพื่อให้บริการใช้จ่ายเงินข้ามพรมแดนสามารถเข้าถึงได้โดยลูกค้าทางการเงินในหลากหลายระดับ

ทั้งนี้ DeeMoney ได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (nonbank) เป็นรายแรกของประเทศในปี 2560 และบริษัทแม่ยังได้รับใบอนุญาตประเภทสถาบันทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเพื่อให้บริการส่งเงินข้ามพรมแดน และใบอนุญาตให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

เส้นทางสู่ FinTech

“รัศเมฆ ศรีเศรษฐี” กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ดีมันนี่ จำกัด บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าเริ่มจากการทำธุรกิจโทรคมนาคมในปี 2542 โดยให้บริการการสื่อสารแบบ VOIP (voice over the internet protocol) หรือการสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือโครงข่ายอื่น ๆ ที่ใช้อินเทอร์เน็ตโปรโตคอล ซึ่งเราทำเป็นบัตรโทรศัพท์เพื่อช่วยการโทรไปต่างประเทศในราคาถูกและคุณภาพดีและสวัสดีช้อปถือว่าเป็นผู้นำตลาดที่มีลูกค้ากว่า 2 ล้านคน ทั้งลูกค้ารายบุคคล ลูกค้าองค์กร และ SMEs

“ประมาณปี 2553 เราเริ่มเห็นเทรนด์ว่า การสื่อสารแบบ OTT ผ่านแอปพลิเคชั่น เช่น Skype, WhatsApp, Facebook ได้รับความนิยม และมีสมาร์ทโฟนออกมาในตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจเทเลคอมเป็นธุรกิจขาลง”

“จึงมาคิดว่าจะปรับตัวอย่างไร เพื่อยังรักษาฐานลูกค้าของเราไว้ จนเริ่มมองเห็นว่าลูกค้าของเราที่เป็นชาวต่างประเทศและแรงงานต่างด้าว มีโอกาสสูงมากที่จะโอนเงินกลับบ้านเกิดเพื่อไปให้คนครอบครัว เราจึงพยายามปรับตัวเข้าสู่ตลาดการโอนเงินต่างประเทศ (money remittance service) และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2561”

การปรับตัวของพนักงาน

“รัศเมฆ” กล่าวว่า ตอนปรับจากองค์กรเทเลคอมมาเป็นฟินเทค เราเห็นชัดว่าบุคลากรบางคนตามไม่ทัน ดังนั้น สิ่งที่เราทำเพื่อพาพนักงานเดินไปพร้อมกับองค์กรได้ คือ การ upskill หรือการยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น เพื่อรองรับการเติบโต

“แต่การเรียนรู้เพื่อยกระดับทักษะนั้นไม่ใช่เพียงแค่การใส่ข้อมูลความรู้เข้าไปเพียงอย่างเดียว หากแต่การเรียนรู้ที่ถูกต้องประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ

หนึ่ง learn การเรียนรู้ผ่านการสังเกตการอ่าน การฟัง หรือการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น เป็นต้น

สอง unlearn การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา หรือกล้าลบสิ่งเดิม ๆ ทิ้งไป

สาม relearn การเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ ๆ เพื่อนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีกว่า”

ผู้บริหารที่ DeeMoney ยึดการให้ความช่วยเหลือเป็นแนวทางการบริหารคน โดยเราจะถามลูกน้องเสมอว่า เราช่วยอะไรได้บ้าง และพวกเขาต้องการอะไร นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับการสัมภาษณ์พนักงานหลังจบช่วงการทดลองงาน ไม่ว่าพนักงานคนนั้นจะผ่านการทดลองงานหรือไม่ผ่านก็ตาม

รวมถึงการทำ town hall (การประชุมที่เป็นการพบกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงกับพนักงาน) ทุกเดือน เพราะเราเชื่อว่ามุมมองที่ผู้บริหารมองเอง คิดเอง อาจไม่ถูกต้องเสมอไป ดังนั้น ต้องรับฟังเสียงของพนักงานโดยตรง และทำให้พนักงานรับรู้การเคลื่อนไหวของบริษัทว่า กำลังเกิดอะไรขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ การมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร (employee engagement) และประสิทธิผล (productivity) เพิ่มขึ้นมาก

งานกับคนรุ่นใหม่

“รัศเมฆ” อธิบายว่า เหตุผลที่พนักงานรักที่จะอยู่กับ DeeMoney คือ เป็นองค์กรที่มี work-life balance, มีความเป็นครอบครัว, สามารถเข้าหาทีมผู้บริหารได้ และพนักงานเห็นว่าบริษัทสร้างผลกระทบที่ดีให้กับสังคม

“ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้คนรุ่นใหม่อยู่กับองค์กร และบริษัทเองก็เชื่อว่า คนทำงานยุคใหม่ให้ความหมายของงานมากกว่าเงินเดือน แต่พวกเขามองถึงคุณค่าขององค์กรว่าทำประโยชน์ให้คนในสังคมได้หรือไม่”

โดยสิ่งที่ DeeMoney ทำ คือ การให้บริการโอนเงินที่สะดวกและปลอดภัยจากประเทศไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ตอนนี้มีประเทศปลายทางกว่า 37 ประเทศ และเราคิดค่าบริการเรตเดียว คือ 150 บาทคงที่ ต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น และสามารถใช้งานได้ผ่านทางเว็บไซต์ และทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือไปที่สาขาก็ได้ การทำเช่นนี้ช่วยให้คนที่มีรายได้น้อยสามารถส่งเงินไปบ้านเกิดได้มากขึ้น และล่าสุดเราเปิดบริการรับเงินโอนจากต่างประเทศมาไทยแล้ว

ทั้งนี้ ผลงานของ DeeMoney ทำให้บริษัทคว้ารางวัลแห่งความยอดเยี่ยมจากองค์กรต่าง ๆ เช่น รางวัล Remittance Product and Service of The Year จาก The Asian Bankers Award ปี 2562 รางวัล Most Promising New Fintech Start-up ในงาน International Finance Awards ปี 2563 และรางวัล Best Money Transfer Solutions Provider จาก Global Business Outlook Awards ปี 2563

ผู้บริหารหญิงใน FinTech

“รัศเมฆ” บอกว่า FinTech เป็นองค์กรที่มีผู้ชายเป็นผู้บริหารมากกว่าผู้หญิง ดังนั้น จึงพยายามอย่างมากที่จะผลักดันตนเอง และพิสูจน์ตนเอง จนสามารถพาองค์กรมาสู่จุดที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง คือการได้ใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย

“การทำงานช่วงแรกกดดันตนเองมากและพยายามเรียนรู้ทุกอย่างใน FinTech จนถึงช่วงที่รู้สึกว่า เราพยายามหนักเกินไปจึงปรับไมนด์เซต และทำให้ตนเองเข้าใจว่าการเป็นผู้บริหารไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่สิ่งที่ต้องทำคือ จ้างคนที่ฉลาดกว่า เก่งกว่า เพื่อให้เขาแนะนำเรา และช่วยกันพาองค์กรเติบโต”

“ดิฉันยึดหลักจิตวิทยาเชิงบวกในการบริหารเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิภาพในองค์กร และเล็งเห็นความสำคัญของคนเสมอ นอกจากนั้น เชื่อว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม อายุ และเพศ จะช่วยเปิดกว้างทางความคิดและช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงาน ทำให้มองสิ่งต่าง ๆ ได้กว้างกว่า มีมุมมอง และไอเดียที่มากขึ้น”

การเข้าใจเรื่องจิตวิทยามีประโยชน์มากบวกกับความชอบจึงเลือกเรียนจิตวิทยาที่ University of Western Australia ประเทศออสเตรเลีย และนำความรู้ที่ได้มาบริหารองค์กร ไม่เพียงเท่านั้น ยังถ่ายทอดความรู้ให้พนักงานด้วย โดยเฉพาะเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ (emotional quotient-EQ) เพราะเป็นประโยชน์ในการทำงานร่วมกับคนอื่นที่มีความแตกต่างกัน

โควิด-19 ส่งผลบวก

“รัศเมฆ” เล่าว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความกังวลให้พอสมควรในช่วงแรก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ DeeMoney กลับเป็นตรงข้าม มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเยอะขึ้น ยอดการโอนเงินก็มากขึ้น

“อาจเป็นเพราะเป็นเวลาที่ทุกคนถูกบังคับให้เว้นระยะห่างทางสังคม บวกกับการล็อกดาวน์ปีที่แล้ว จากคนที่เคยใช้วิธีส่งเงินกลับประเทศด้วยการไปธนาคาร การบินกลับประเทศบ้านเกิด หรือฝากคนรู้จักไป ก็ไม่สามารถทำได้ในช่วงดังกล่าว ทำให้ต้องปรับตัวใช้เทคโนโลยี และหันมาหาแพลตฟอร์มของเรามากขึ้น ทำให้บริษัทเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และเคลื่อนที่เร็วมาก”

นับว่าหลักการบริหารของ DeeMoney ตอกย้ำความมุ่งมั่นเพื่อจะยกระดับบริการทางการเงินของไทยอย่างต่อเนื่อง