Health Companion จับมือเภสัชฯ จุฬาฯ พัฒนาการรักษาบนโลกออนไลน์

Health Companion จับมือคณะเภสัชฯ จุฬาฯ ระดมความรู้ และวางแพลตฟอร์มการทำงานของเภสัชกร เพื่อรองรับบริการสาธารณสุขแบบเสมือนจริงบนโลกออนไลน์ (virtual healthcare)

ปัจจุบันเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าแทบจะเปลี่ยนแปลงวันต่อวัน การแพทย์และสาธารณสุขถือเป็นอีกหนึ่งวงการที่ต้องตามติดเทคโนโลยีให้ทัน และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา ทั้งนี้ การแพทย์ทางไกล หรือโทรเวชกรรม (telemedicine) ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคือนวัตกรรมการรักษาที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรับคำปรึกษาจากแพทย์โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ส่งผลช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และแน่นอนว่าลดการติดเชื้อจากสถานพยาบาลได้

แต่ telemedicine อย่างเดียวยังไม่ตอบโจทย์การรักษาที่มีความซับซ้อน ที่ต้องเชี่ยมโยงความเชี่ยวชาญจากหลายวิชาชีพ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง Health Companion หรือ บริษัท เฮ็ลท์ คอมพาเนี่ยน จำกัด ขึ้น โดยเป็นสตาร์ทอัพที่มุ่งสร้างแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Virtual Healthcare เพื่อเชื่อมต่อบุคลากรทางการรักษาที่หลากหลาย ทั้งแพทย์ เภสัชกร แล็บหรือห้องปฏิบัติการ หน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน ฯลฯ มาผนึกกำลังกัน

ล่าสุด Health Companion ได้จับมือร่วมกับ CU Pharmacy Enterprise หรือ CUPE บริษัทสตาร์ทอัพของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU – memorandum of understanding) ในโครงการแอปพลิเคชั่นบริการสาธารณสุขและระบบส่งเสริมสุขภาพ

“อำนาจ สุกาญจนกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Health Companion กล่าวว่า วันนี้การจะทำดิจิทัลแพลตฟอร์มขึ้นมาสักอันถือว่าไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือ ตอบโจทย์การใช้งานจริง ๆ หรือไม่

“อำนาจ สุกาญจนกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Health Companion

“สิ่งที่เรากำลังจะทำนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ป่วยและโรงพยาบาล ดังนั้นการดำเนินงานอย่างมีกลยุทธ์เป็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในช่วงต้นของการดำเนินงาน เราเน้นการสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาทั้งแพทย์ เภสัชกร ห้องปฏิบัติการ หน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน และอีกมากมาย เพื่อมาร่วมกำหนดแนวทาง และให้ know-how ในการออกแบบระบบที่ทุกวิชาชีพจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งต่อการบริการที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยได้”

“ระบบที่เรากำลังออกแบบอยู่นี้จะมีหลายวิชาชีพ หลายโรงพยาบาล หลายหน่วยงาน เข้ามาร่วมมือกัน โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (patient centric) ไม่ได้จำกัดว่า เป็นของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทุกหน่วยงานจะได้รับประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้ร่วมกัน patient centric ซึ่งคาดว่าเริ่มเห็นแพลตฟอร์มอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงกลางปี 2564 นี้”

“ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์” คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานบอร์ด ซียูฟาร์มาซี เอ็นเทอร์ไพรส์ กล่าวว่า ปัจจุบันทางคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ได้บ่มเพาะเภสัชกรเข้าสู่ระบบประมาณ 150 คนต่อปี ตอบโจทย์ทั้งในด้านอุตสาหกรรมนวัตกรรมยา ด้านการดูแลสุขภาพและการใช้ยาประชาชนรวมทั้งผู้ป่วย และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

“หากมองในแง่กรอบอัตรากำลังภาครัฐที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน และกำลังการผลิตของภาคการศึกษา ซึ่งแต่ละปีมีอัตรากำลังเภสัชกรจบใหม่ทั่วทั้งประเทศราว 1,700 คนเข้าสู่ตลาด ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ขาดแคลน แต่หากพิจารณาจากความต้องการที่ควรจะเป็น โดยทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก จำเป็นต้องมีเภสัชกรดูแลการใช้ยาให้แก่ผู้ป่วยอย่างทั่วถึงและเพียงพอ จะพบว่าภาครัฐยังต้องการเภสัชกรเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบันอีกเท่าตัว”

“ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์” คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานบอร์ด CUPE

เนื่องจากบทบาทของเภสัชกรในปัจจุบันพัฒนาไปมาก ทั้งช่วยดูแลการใช้ยา ช่วยให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยและลดปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงจ่ายยาในโรงพยาบาลหรือร้านยา เภสัชกรในปัจจุบันนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลประชาชนได้ในรูปแบบการทำงานเชิงรุก ในบทบาทเภสัชกรครอบครัว (family pharmacist) ที่เภสัชกรจะทำหน้าที่เป็นเสมือนที่ปรึกษาการใช้ยาประจำตัว ครอบครัว หรือชุมชน

หนึ่งในกิจกรรม family pharmacist คือ การเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามดูแลการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่สร้างความใกล้ชิด ช่วยป้องกันและแก้ปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม และเป็นที่พึ่งและที่ปรึกษาให้กับประชาชนในเรื่องการใช้ยา

ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญในอนาคต และเมื่อวันนั้นมาถึง แน่นอนว่าเภสัชกรที่มีอยู่ทั่วประเทศย่อมไม่เพียงพอ แต่หากเรามีดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่ทำให้เภสัชกรได้พบปะกับผู้ป่วย ครอบครัวหรือชุมชนได้ง่ายขึ้น จะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดของการเยี่ยมบ้าน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและบรรเทาปัญหาขาดแคลนบุคลากรลงได้ ขณะเดียวเพิ่มการเข้าถึงบริการทางเภสัชกรรมได้อย่างเพียงพอและทั่วถึ

ความร่วมมือนี้ถือเป็นก้าวเสำคัญที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น ด้วยการผสานเทคโนโลยีเข้ากับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข อีกหนึ่งสตาร์ทอัพไทยที่มีแนวคิดไม่เหมือนใครและน่าจับตามอง