ภารกิจ “เซ็นทรัล ทำ” สร้างสรรค์คุณค่าธุรกิจเพื่อสังคม

โครงการ “จริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต”

ตลอดเวลากว่า 73 ปีของการดำเนินธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล มีเจตนารมณ์ที่ต้องการร่วมรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม โดยมีความเชื่อมั่นว่าการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ต้องเริ่มจากความร่วมมือ และการลงมือ “ทำ” จึงจัดทำ “เซ็นทรัล ทำ” (Central Tham) ที่เป็นร่มใหญ่ของโครงการเพื่อพัฒนาสังคมต่าง ๆ ในกลุ่มเซ็นทรัล

ภายใต้แนวคิดสร้างสรรค์คุณค่าธุรกิจคู่สังคม (creating shared value-CSV) ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสร้างงาน พัฒนาอาชีพ และส่งเสริมชุมชน พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานและผู้คนในชุมชนอย่างยั่งยืน

ปี 2564 จึงเป็นอีกหนึ่งปีที่ “เซ็นทรัล ทำ” สานต่อโครงการต่าง ๆ และพยายามเร่งให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยล่าสุดมีการสรุปความสำเร็จตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปี 2563 ว่า สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากกว่า 1,200 ล้านบาท พัฒนาคุณภาพชีวิตกว่า 500,000 คน ครอบคลุมกว่า 100,000 ครัวเรือน จากการพัฒนาพื้นที่ชุมชนใน 44 จังหวัด

พัฒนาอาชีพคนพิการ

“พิชัย จิราธิวัฒน์” กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า เซ็นทรัล ทำ เป็นวิธีคิดที่สอดคล้องกับความยั่งยืน จนนำมาปฏิบัติจริง ด้วยการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งพนักงาน ประชาชน ภาคีเครือข่าย และไม่เพียงแต่เน้นการพัฒนาด้านการศึกษา คุณภาพชีวิตที่ดี การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ยังสนับสนุนการสร้างอาชีพให้คนพิการ การพัฒนาสินค้าชุมชนในหลากหลายแนวทาง

พิชัย จิราธิวัฒน์
พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล

“ตัวอย่างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของโครงการสำคัญในปี 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน มีดังนี้ โครงการส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาอาชีพคนพิการในปี 2563 ของกลุ่มเซ็นทรัลและบริษัทในเครือ เช่น เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น, เซ็นทรัลพัฒนา และโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา ได้ให้อาชีพคนพิการอย่างต่อเนื่อง โดยจ้างงาน 451 คน, ส่งเสริมสร้างอาชีพ 237 คน และให้พื้นที่เพื่อออกร้านและทำธุรกิจ 100 คน ส่งผลให้กลุ่มเซ็นทรัลได้รับรางวัลองค์กรสนับสนุนคนพิการ
ดีเด่น 4 ปีซ้อนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และรางวัลองค์กรสนับสนุนคนพิการดีเยี่ยม ประจำปี 2563”

โครงการส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาอาชีพคนพิการ

“เริ่มต้นของการส่งเสริมศักยภาพ และพัฒนาอาชีพคนพิการเกิดจากความต้องการที่จะเปลี่ยนมุมมองในสังคมในการอยู่ร่วมกันกับกลุ่มคนที่แตกต่าง หลายครั้งที่คนพิการมักจะถูกตัดสินว่าทำไม่ได้ และตัดโอกาสโดยบอกว่าไม่ต้องทำ แต่เราอยากสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกคนเห็นความสามารถ และศักยภาพของคนพิการ

และเชื่อว่าพวกเขามีศักยภาพที่จะทำ แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างโอกาสพวกเขาได้ทำ ด้วยศักยภาพที่กลุ่มเซ็นทรัลมี จึงสร้างโอกาสการจ้างงาน และส่งเสริมอาชีพให้กับคนพิการ เช่น จ้างงานประจำเป็นพนักงาน contact call center ให้กับเพาเวอร์บาย และไทวัสดุ ที่ศูนย์พระมหาไถ่ จ.ชลบุรี

คืนป่าสู่ธรรมชาติ

“พิชัย” เล่าว่า วิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) คือ ปัญหาของทุกคน และฮีโร่ที่จะต่อสู้กับปัญหานี้ได้ดีที่สุดคือต้นไม้ แต่หากคนไทยยังตัดไม้ทำลายป่า หรือประกอบกิจกรรมใด ๆ ที่กระทบต่อธรรมชาติโดยไม่ปลูกป่าทดแทนก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง

ยกตัวอย่างในช่วงอดีต ป่าภูชี้เดือน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล และคนในชุมชนทำการปลูกฝิ่นในพื้นที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปทหารและตำรวจตระเวนชายแดนได้เข้าปราบปราม จากนั้นชาวบ้านหันไปทำไร่เลื่อนลอย และปลูกข้าวโพด จึงมีการตัดไม้ทำลายป่า และสร้างหมอกควัน

จนมาถึงช่วงโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่แนะนำให้ชาวภูชี้เดือนลองปลูกกาแฟด้วยวิธีธรรมชาติ 100% เพราะเป็นพืชที่สามารถปลูกได้โดยไม่ต้องตัดไม้ เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน ทำให้พื้นที่สีเขียวของป่าคืนกลับมา

“ตลาดกาแฟในประเทศไทยมีการแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะมีกาแฟหลากหลายแบรนด์จากทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น กลุ่มเซ็นทรัลจึงเข้าไปช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันให้กับชุมชนภูชี้เดือน ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การดูแล ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการนำผลผลิตมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพดี ภายใต้แบรนด์สินค้าเพื่อชุมชนไทย อย่าง Good Goods”

“พร้อมกับกระจายช่องทางการจัดจำหน่าย และนำไปร่วมโปรโมตในงานแสดงสินค้าต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 เราช่วยสร้างรายได้ผ่านวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟอินทรีย์รักษาป่าภูชี้เดือน 3.3 ล้านบาท ทั้งยังร่วมมือกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ฟื้นฟูผืนป่าด้วยการร่วมรณรงค์ปลูกป่า สามารถฟื้นคืนผืนป่าไปกว่า 500 ไร่”

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

“พิชัย” อธิบายว่า กลุ่มเซ็นทรัลมุ่งเน้นที่จะคงเอกลักษณ์ท้องถิ่น และสืบสานวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่หล่อหลอมสังคมในปัจจุบัน และเชื่อว่าชุมชนคือผู้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยความตั้งใจที่อยากร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ควบคู่กับการสร้างอาชีพให้คนในชุมชน

และเห็นถึงภูมิปัญญาอันโดดเด่นด้านการทอผ้าของชุมชนนาหมื่นศรี จ.ตรัง ที่มีประวัติศาสตร์ 200 ปี ที่มีลวดลายโบราณที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์กว่า 100 ลาย จึงเริ่มต้นปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรีที่ ต.นาหมื่นศรี ในปี 2557

“เมื่อก่อนชาวบ้านขาดความรู้หลายเรื่อง เช่น การทำร้านค้าปลีกการจัดเก็บสต๊อกเส้นด้าย เราจึงเข้าไปช่วยให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ และแนะทำหน้าร้านให้มีมาตรฐานและสวยงามมากขึ้น ทำชั้นจัดเก็บ และแยกสีเส้นด้ายให้สะดวกต่อการค้นหา ทั้งส่งเสริมให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และสอนให้สมาชิกของชุมชนนาหมื่นศรีเข้าใจโลกธุรกิจ ใส่ความคิดสร้างสรรค์ และออกแบบผลิตภัณฑ์มาช่วยเสริมให้ผลงานผ้าทอของนาหมื่นศรีมีความทันสมัย และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น รวมถึงจัดตั้งเป็นโครงการวิสาหกิจชุมชนนาหมื่นศรี เพื่อสร้างอาชีพให้กับชุมชนโดยรอบพิพิธภัณฑ์”

“ที่สำคัญภูมิปัญญาต้องมีเด็กรุ่นใหม่สานต่อ เราจึงสร้างศูนย์การเรียนให้อยู่กับชุมชนด้วย โดยปี 2563 มีสมาชิกในโครงการกว่า 159 คน สร้างรายได้รวมรายปีไปกว่า 9 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวไปเยือนกว่า 1,300 คน คาดว่าถ้าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว”

กำจัดขยะจากต้นทาง

“พิชัย” บอกว่า ขยะที่เกิดขึ้นบนเกาะส่วนใหญ่จะถูกทิ้งลงในทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายภูมิทัศน์ และสิ่งมีชีวิตในทะเล ดังนั้น เพื่อลดปัญหาขยะล้นทะเล กลุ่มเซ็นทรัลจึงเริ่มการคัดแยกขยะเพื่อนำไปจัดการต่ออย่างถูกวิธี โดยขยะอินทรีย์จะถูกนำไปแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“เราทำโครงการสมุยโมเดล Samui Zero Waste ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีให้เป็นโครงการเมืองต้นแบบด้านการจัดการขยะตามแนวเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เน้นการจัดการขยะจากต้นทาง”

โครงการสมุยโมเดล Samui Zero Waste ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

โดยร่วมกับเทศบาลนครเกาะสมุย นำขยะอินทรีย์จากแฟมิลี่มาร์ทและเซ็นทรัล เฟสติวัล สมุย ไปแปรรูปผ่านเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ (COWTEC) ไปเป็นก๊าซหุงต้ม อาหารสัตว์และปุ๋ย เพื่อนำไปใช้ในการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ โดยก๊าซหุงต้มที่ผลิตได้จะนำไปใช้ในการประกอบอาหารกลางวันให้กับนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 1 วัดละไม

และใช้ในการเรียนการสอนของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยในปี 2563 ผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปประกอบอาหารกลางวันให้กับนักเรียนจำนวน 500 คน/วัน และลดค่าใช้จ่ายเดือนละกว่า 5,000 บาท

สร้างทางเลือกให้ชุมชน

คนไทยต้องมีแหล่งอาหารปลอดภัยใกล้บ้าน ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเซ็นทรัลจึงอยากสร้างเส้นทางอาหารปลอดภัยตั้งแต่ต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้า โดย “พิชัย” อธิบายเรื่องนี้ว่า ต้องการสนับสนุนอาหารปลอดภัยให้กับลูกค้าที่ปลูกและขายจากมือเกษตรกรโดยตรง เพื่อสร้างทางเลือกให้ทุกคนเข้าถึงผักและผลไม้ที่ปลอดสารเคมี จึงได้จัดทำโครงการ “จริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต”

“ตลาดจริงใจเป็นแหล่งรวมผักผลไม้ปลอดภัย และสินค้าขึ้นชื่อประจำจังหวัด ที่เกษตรกรท้องถิ่นปลูกและนำมาวางจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้ความต้องการของผู้บริโภค และเพื่อเป็นแหล่งรวมวัตถุดิบปลอดสารของทุกครัวเรือน”

โครงการนี้ยังช่วยเปิดโอกาสให้เกษตรกรท้องถิ่นนำพืชผักปลอดภัยและสินค้าชุมชนมาจำหน่ายในพื้นที่ของกลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัล เช่น ท็อปส์ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ ปัจจุบันเปิดแล้ว 23 สาขา และมีแผนจะเพิ่มเป็น 34 สาขาในปี 2564 ซึ่งในปี 2563 ได้สร้างรายได้ให้กับชุมชนมากกว่า 193 ล้านบาท

“พิชัย” กล่าวด้วยว่า ปี 2564 เซ็นทรัล ทำ จะแสดงจุดยืนในการสานต่อโครงการพัฒนาชุมชนและสังคมใน 4 มิติ คือ การสร้างอาชีพที่มั่นคง (better work) การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี (better life) การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี (better world) และการสร้างสังคมที่ดี (better society) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน

นับว่า “เซ็นทรัล ทำ” สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญของกลุ่มเซ็นทรัลจนกลายเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานราก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย