เปิด รพ.สนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร รองรับผู้พิการติดโควิด 224 เตียง

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี รองรับผู้พิการติดโควิด 224 เตียง วางระบบดูแล 24 ชั่วโมง พร้อมบริการ 1 มิถุนายนนี้

วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อรองรับผู้พิการติดเชื้อโควิด-19 ก่อนเปิดให้บริการวันที่ 1 มิถุนายนนี้

นายจุรินทร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ ได้จัดตั้งภายในอาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ใช้พื้นที่บริเวณห้องพักชั้น 5 ถึงชั้น 10 ของอาคาร เบื้องต้นสามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 224 เตียง ถือเป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อคนพิการแห่งแรกเพื่อดูแลรักษาคนพิการ ที่ติดเชื้อโควิดแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะให้การดูแลทั้งคนพิการและครอบครัวที่อายุ 15-65 ปี เป็นการประสานความร่วมมือหลายภาคส่วน

ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวง อว.สนับสนุนด้านอาคารสถานที่และการจัดสภาพแวดล้อม และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ พร้อมทั้งนำนวัตกรรมมากกว่า 11 ชิ้น และระบบเทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ป่วยระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม อาทิ รถเข็นบังคับระยะไกลส่งของให้ผู้ป่วย เครื่องฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวีซี เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ และฆ่าเชื้อ ระบบ TTRS (เครื่องช่วยสื่อสารสำหรับคนหูหนวก) เปลปกป้อง (เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ)

ขณะที่สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนด้านการแพทย์ อุปกรณ์การตรวจรักษา/เวชภัณฑ์ และดำเนินภารกิจหลักในการรักษาอาการป่วยและเชื่อมประสานระบบเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับความต้องการของคนพิการ ส่วนกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวง พม. จะทำหน้าที่ในการประสาน ส่งต่อ และให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์ และสวัสดิการในระหว่างที่คนพิการและครอบครัวพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนาม รวมถึงวางแผนการให้ความช่วยเหลือและติดตามภายหลังหายจากอาการป่วยและปลอดเชื้อโควิดเดินทางกลับสู่ครอบครัวและชุมชน

ทั้งนี้ ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีรายงานคนพิการติดเชื้อโควิด แต่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามทั่วไป หรือ Hospitel บางแห่งได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อความพิการเฉพาะด้านนั้น ๆ ดังนั้นแล้ว การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับคนพิการแห่งนี้ต้องใช้ผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เป็นการบูรณาการงานร่วมกันเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง

กระทรวงสาธารณสุขโดยสถาบันสิรินธร จึงเข้ามาดูแลผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้พิการร่วมกันกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินที่ต้องจัดการแบบพิเศษ ด้วยการสนับสนุน ทีมผู้ดูแลรักษา ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล ทีมสหวิชาชีพและเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติงาน ที่เตรียมการวางระบบการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเหมาะสมกับความพิการ และสามารถติดตามถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาที่พักรักษาตัว

รวมทั้งเตรียมแผนการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลกรณีฉุกเฉิน จัดเตรียมรถพยาบาลรองรับภารกิจตลอด 24 ชั่วโมง โดยกระบวนการรับข้อมูลผู้ป่วยคนพิการจะมีการประสานงานรับเรื่องจากทั้งสายด่วนคนพิการ และสายด่วน 1668 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด