HR มือประสานสิบทิศ พิชิตโควิด-ปั้น Growth ให้ SPRC

จิระศักดิ์ มหาสุคนธ์
จิระศักดิ์ มหาสุคนธ์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน)

อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันในประเทศเจอปัญหาหลายเด้ง ตั้งแต่เศรษฐกิจชะลอตัว การพัฒนาของเทคโนโลยีที่พัฒนาไฟฟ้าให้เป็นทางเลือกกับผู้บริโภคในยุคใหม่ การใช้พลังงานไฟฟ้าแทนการใช้น้ำมัน และล่าสุดการระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวมา 1 ปีกว่า ๆ นับตั้งแต่การระบาดระลอกแรกจนถึงขณะนี้ ฉะนั้น การดูแลพนักงาน และการบริหารองค์กรจึงเป็นเสมือนหลังบ้านที่ต้องเชื่อมโยงระหว่างงานกับคนทำงานเข้าไว้ด้วยกัน

ยิ่งเฉพาะกับบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน (complex refinery) ด้วยกำลังการกลั่นที่ 175,000 บาร์เรล/วัน ทั้งยังมีพนักงานอยู่ประมาณ 500 คน

ครอบครัวแห่งความห่วงใย

“จิระศักดิ์ มหาสุคนธ์” ผู้จัดการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC เริ่มต้นเล่าให้ฟังถึงวัฒนธรรมองค์กรและวิสัยทัศน์ของ SPRC ว่าเราคือ “ครอบครัวแห่งความห่วงใย ร่วมสร้างพลัง เพื่อขับเคลื่อนอนาคตของเรา” หรือ One Caring family…Energizing Our Future

“อธิบายง่าย ๆ คือครอบครัวแห่งความห่วงใย หมายถึงจะทำอย่างไรให้คนในองค์กรทำงานอย่างมีความสุข นั่นคือการดูแล และเข้าใจความแตกต่างของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอยู่ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ฝ่าย HR ต้องให้ความสำคัญในการดูแลพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และด้านอื่น ๆ ตามมา ที่สำคัญ HR จะต้องช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต (crisis management) เพื่อป้องกันพนักงานได้รับผลกระทบต่าง ๆ จากการแพร่ระบาดน้อยที่สุด”

“โดยเริ่มจากการให้ความรู้กับพนักงานเป็นอันดับแรกไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิบัติตัว การคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาทำงาน การทำงานแบบ work from home ตามมาด้วยการรายงานสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงเพื่อให้พนักงานหลีกเลี่ยง โดยที่แต่ละขั้นตอนมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น แอปพลิเคชั่นไลน์ และระบบ MS Team เป็นต้น เพื่อติดต่อพนักงานส่วนที่ต้องทำงานแบบ work from home (WFH)

รวมถึงฝ่าย HR ต้องร่วมทำงานกับฝ่ายบริหารจัดการในภาวะวิกฤตว่ามีมากน้อยอย่างไร หรือที่เรียกว่า COVID-19 Crisis Management ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันวันเว้นวัน และมีการสื่อสารให้พนักงานทราบเป็นระยะ ซึ่งปัจจุบันพนักงานของ SPRC ขณะนี้เกือบ 50% ทำงานแบบ work from home โดยที่ SPRC ช่วยเตรียมความพร้อมให้ด้วย”

เพิ่มสวัสดิการหนุน WFH

สำหรับความพร้อมที่ “จิระศักดิ์” ระบุคือเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีในการทำงานคือ โต๊ะทำงาน, คอมพิวเตอร์ และอื่น ๆ ด้วย เพราะเรามีพนักงานที่ค่อนข้างหลากหลาย จึงทำให้ความต้องการในการทำงานแตกต่างกัน

เราจึงเลือกปรับเพิ่มสวัสดิการแบบยืดหยุ่น หรือ flexible benefit ภายใต้งบฯ 24,000 บาทต่อปีเข้าไปอีก 4 รายการคือ อย่างแรกจัดหาอุปกรณ์การทำงานให้สะดวกในการทำงานที่บ้าน, สนับสนุนอุปกรณ์กีฬา, เปลี่ยนยางรถยนต์ใหม่เพื่อความปลอดภัย และการให้พนักงาน outing หรือจัดทริปท่องเที่ยวกับครอบครัวได้

รวมทั้งสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่ครอบคลุมถึงครอบครัวที่บ้าน ทั้งนั้นเพื่อความปลอดภัยมั่นใจในการทำงาน และมั่นใจว่าหากพนักงานติดโควิด-19 จะดูแลรักษาให้หาย และกลับมาทำงานได้

“นอกจากนี้ ในกลุ่มพนักงานที่อาจมีความเสี่ยงหากต้องเดินทางมาทำงาน SPRC จะจัดรถรับ-ส่งพนักงานเช้า-เย็น เพื่ออำนวยความสะดวกและป้องกันการออกนอกเส้นทาง และยังเตรียมพิจารณาให้ช่วยเหลือพนักงานที่ทำงานที่บ้าน หากมีค่าใช้จ่ายในการทำงานที่สูงขึ้นและอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นด้วย

ที่สำคัญเรายังศึกษาโมเดลจากบริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ใช้รูปแบบการทำงานที่เรียกว่า hybrid worker คือในรอบสัปดาห์แต่ละฝ่ายจะต้องจัดสรรคนทำงานทั้งที่สำนักงาน และที่บ้าน เช่น สลับกันมาทำงาน หรือ 2 วันทำงานที่บ้าน ส่วนที่เหลือทำงานตามปกติได้”

“เพียงแต่ขณะนี้ยังต้องใช้รูปแบบของ work from home ไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดยังคงกระจายเพิ่มขึ้นอีกหลายจังหวัด ซึ่งทั้งประเทศมียอดผู้ติดเชื้อไปแล้วกว่า 10,000 ราย หากสถานการณ์ดีขึ้นจะประเมินรูปแบบการทำงานใหม่เพื่อให้สอดคล้องมากยิ่งขึ้น”

“แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะทำให้พนักงานมีข้อกังวลเรื่องการจ้างงานว่าจะมีการลดคนหรือไม่นั้นผมยืนยันคำตอบตรงนี้เลยว่า SPRC ไม่มีนโยบายปลดคนแน่นอน แม้ต้องอยู่ท่ามกลางวิกฤต เพราะเมื่อพิจารณาจากจำนวนพนักงานที่มีอยู่ราว 500 คนนั้น ตามรูปแบบการประเมินเปรียบเทียบและจัดอันดับกับโรงกลั่นที่มีขนาดใกล้เคียงกัน (Personnel Index) จำนวนพนักงานของเราอยู่ในเกณฑ์ 2nd quartile score เมื่อเทียบกับพนักงานของโรงกลั่นอื่น ๆ จึงถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดีมาก”

ลดต้นทุนสู้โควิด-19

ถามว่าก่อนหน้านี้ SPRC เผชิญวิกฤตมากมาย แต่ยังยืนหยัดต่อสู้มาได้ในอุตสาหกรรมการกลั่นนี้ทำอย่างไร ?

“จิระศักดิ์” จึงบอกว่าการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมานั้น SPRC ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของบริษัทลง การลงทุนที่ยังไม่มีความจำเป็นมากนัก เรามีการพิจารณาให้ “เลื่อน” ออกไปก่อน อีกทั้งการให้พนักงานทำงานที่บ้านสามารถช่วยลดต้นทุนของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วส่วนหนึ่ง

เมื่อรวมกับการอบรมพนักงานผ่านระบบออนไลน์ที่ SPRC ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญมากมายอย่างเช่น  PacRim, Skillane ยิ่งช่วยทำให้ภาพรวมของค่าใช้จ่ายจนถึงปัจจุบันลดลง เมื่อรวมทุกวิธีการที่ทำได้ในขณะนั้น แต่กลับได้ผล “เกินคาด” ทั้งยังลดการใช้เงินสูงถึง 2,000 ล้านบาท (ซึ่งถือเป็นการเพิ่มกระแสเงินสด)

“ส่วนวัคซีนป้องกันโควิด-19 SPRC มีการจอง และจัดหาวัคซีนให้กับพนักงาน ด้วยการร่วมมือระหว่างเชฟรอน และคาลเท็กซ์ ซึ่งจะทำให้การจัดหาวัคซีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

“ที่สำคัญ ประโยชน์จะตกอยู่ที่พนักงานและครอบครัวที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเร็วที่สุด เพราะหากพบการติดเชื้อโควิด-19 ในโรงกลั่นน้ำมัน ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เพียงพนักงานและธุรกิจเท่านั้น แต่จะกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และราคาพลังงานอาจปรับราคาสูงขึ้น ดังนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบแบบเต็ม ๆ คือ ผู้บริโภค ซึ่ง SPRC ไม่ต้องการให้เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น”

พัฒนาคนเพื่อลงทุนโรงกลั่น

สำหรับแผนงานในฝ่าย HR “จิระศักดิ์” บอกว่ายังต้องวางแผนร่วมมือกับฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะในส่วนของ “growth project” เพื่อมองอนาคตขององค์กรจะไปในทิศทางใด เพราะเราใช้รายได้ และกำไรเป็นตัวชี้วัด ซึ่งถามว่าฝ่าย HR จะต้องทำอย่างไร ? คำตอบคือโจทย์สำคัญตอนนี้คือ SPRC มีการศึกษาเพื่อเตรียมจะลงทุนปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันให้มีประสิทธิภาพ และสามารถผลิตผลิตภัณฑ์หลากหลายมากขึ้น เพื่อต่อยอดไปจนถึงธุรกิจในอนาคต

“ในช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงมาต่ำสุดที่ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทั้ง ๆ ที่ราคาเดิมเคยไต่ระดับอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จนทำให้ผู้ประกอบการต้องกันแทบจะทั่วทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ก็ตาม ฉะนั้น การมีธุรกิจด้านอื่นๆ หรือปิโตรเคมีจึงน่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจได้ ตรงนี้เป็นแผนธุรกิจอย่างหนึ่งที่ฝ่าย HR ต้องเป็นคู่คิดกับฝ่ายบริหาร”

ดังนั้น เมื่อแผนงานต่างๆ ชัดเจนในระดับหนึ่ง ฝ่าย HR ยังต้องรับโจทย์สำคัญคือการพัฒนาคนที่มีอยู่แล้วกว่า 500 คน ให้มีทักษะการทำงานที่หลากหลายขึ้น พร้อมกับการจัดหาพนักงานใหม่เพื่อรองรับธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ถึงตรงนี้ “จิระศักดิ์” ทิ้งท้ายให้ฟังว่า… พนักงานคือองค์ประกอบสำคัญขององค์กร ต่อให้มีแผนธุรกิจดีแบบไร้ที่ติ แต่ไม่มีคนทำงานเก่ง ๆ มาช่วยขับเคลื่อนก็จะทำให้ประสิทธิภาพของเราลดลงในที่สุด