ภาคธุรกิจเพื่อสังคม Green Business Pathway

ภาพจาก : สถาบันปลูกป่า ปตท.
ภาพจาก : สถาบันปลูกป่า ปตท.

จากงานเสวนา “New Green Possibilities” ที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานผ่านมา โดย we!park ร่วมกับ The International Urban and Regional หน่วยงานภายใต้สหภาพยุโรป อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2564 (Bangkok Design Week 2021)

ภายใต้หัวข้อ “Green Business Pathway” หรือเส้นทางธุรกิจเพื่อเมืองสีเขียว เพื่อเปิดเวทีให้ภาคธุรกิจนำเสนอบทบาทของตนเองว่าจะอุทิศต่อการพัฒนาเมือง ในการเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ลูกค้า และผู้อาศัยอยู่ในเมืองอย่างไรบ้าง

ปตท.เปลี่ยนที่ว่างเปล่าเป็นป่า

เบื้องต้น “ศาศวัต สุนทรส” ผู้แทนจากสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลจัดทำโครงการปลูกป่าถาวรขึ้นมาเมื่อปี 2537 เหตุเพราะช่วงนั้นป่าไม้ในประเทศถูกตัดทำลายจำนวนมาก จึงต้องฟื้นฟูเป็นการเร่งด่วน โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 5 ล้านไร่ทั่วประเทศ ดังนั้น ปตท.จึงอาสาเข้าร่วมโครงการด้วยการปลูก 1 ล้านไร่ จนกระทั่งทำสำเร็จตามเป้าที่วางไว้ในปี 2545

ภาพจาก : สถาบันปลูกป่า ปตท.
ภาพจาก : สถาบันปลูกป่า ปตท.

“ผลเช่นนี้ จึงทำให้ ปตท.ขยายผลสู่การก่อตั้งสถาบันปลูกป่าเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการทรัพยากรป่าอย่างยั่งยืนด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับประเทศอีก 1 ล้านไร่ รวมถึงดำเนินการอนุรักษ์ และฟื้นฟู พื้นที่ปลูกป่า 1 ล้านไร่เดิม ให้ระบบนิเวศเกิดความสมดุล และลดปัญหาภาวะโลกร้อน”

“รวมทั้งยังได้สร้างศูนย์เรียนรู้การจัดการป่าขึ้น 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ป่าในกรุง และป่าวังจันทร์ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการปลูกและฟื้นฟูป่าแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงยังพัฒนาศักยภาพบุคลากรสถาบันให้มีความเชี่ยวชาญในด้านการปลูกป่า และการพัฒนาเครือข่าย”

ภาพจาก : สถาบันปลูกป่า ปตท.
ภาพจาก : สถาบันปลูกป่า ปตท.

“โดยเป้าหมายต่อไปขององค์กรของเราต้องการจะยกระดับการดำเนินงานเพื่อสังคมมากขึ้น และสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”

“เราจึงตั้งเป้าจนถึงการบริการปลูกป่าด้วยการจัดทำโครงการ Forest for Chance เพื่อจะเปลี่ยนที่ดินว่างเปล่าให้เป็นป่า โดยผู้ใดมีที่ดิน แต่ไม่รู้จะทำอะไร หรืออยากปลูกป่า แต่ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนก่อน เราจะอาสาทำให้ และเจ้าของที่ดินสามารถควบคุมได้ว่าต้องการให้เป็นป่าแบบไหน ก็ต้องบูรณาการร่วมกัน ซึ่งเป็นการให้บริการแบบ one stop serviceด้านป่าไม้”

MQDC ปฏิบัติการกู้ชีพต้นไม้

ขณะเดียวกัน บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC ที่มีแนวคิดจะขยายพื้นที่สีเขียว พร้อมกับสร้างความแข็งแกร่ง และความผูกพันระหว่างชุมชนกับต้นไม้

“ดร.การดี เลียวไพโรจน์” หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ MQDC กล่าวว่า อสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ทำลายพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก จากการสร้างตึกตราขึ้นมา ดังนั้น MQDC จึงมีความตระหนักดีว่า เราจะต้องรับผิดชอบ และสร้างพื้นที่สีเขียว หรือสภาพแวดล้อมดี ๆ ขึ้นมาใหม่

“ยกตัวอย่าง โครงการ The Forestias ที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนที่ดินขนาดเกือบ 400 ไร่ ที่นอกเหนือจากโครงการที่อยู่อาศัย ยังเป็นป่ากลางกรุงผืนใหญ่ด้วยการปลูกต้นไม้ให้ได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมสีเขียวให้คนได้อยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ จนนำมาซึ่งความสุขของผู้อยู่อาศัยบนโครงการ”

“ที่สำคัญคาดหวังว่า บนพื้นที่โครงการจะช่วยลดอุณหภูมิด้านนอกได้กว่า 2 องศาในอนาคตขณะนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาวิจัยเรื่องการนำต้นไม้มาปลูก ไม่ใช่การอพยพจากพื้นที่อื่นมาปลูกในพื้นที่เรา แต่เราได้คุยกับชุมชนท้องถิ่น และพาร์ตเนอร์ทำโครงการ Forest Rescue หรือเรียกว่าปฏิบัติการกู้ชีพต้นไม้ที่ไม่สามารถอยู่ในพื้นที่เดิมได้แล้วสู่บ้านหลังใหม่”

ปรับปรุงทางเท้า-ลานจอดรถ

“วรวรรต ศรีสอ้าน” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ถ้าพูดถึงชุมชนเมือง ตอนนี้กรุงเทพฯพบปัญหาคือมีพื้นที่สีเขียวจำกัด แค่ 3.5 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานสากลขององค์การอนามัยโลก ที่จะต้องเป็น 9 ตารางเมตรต่อคน

“ฉะนั้น เรายังต้องพัฒนาเมืองของเราอีกไกล ถ้าจะเป็นเมืองสีเขียว อีกประเด็นคือสิทธิในการเดินเท้าสำหรับคนเดินเท้าโดยมีพื้นที่ครอบคลุมเพียง 7% เมื่อเทียบกับเมืองที่มีความหนาแน่นอย่างโตเกียว ที่มีถึง 20% ปารีส 25% นิวยอร์ก 28% เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้กรุงเทพฯ และหลายจังหวัดในประเทศไทยต้องหันไปใช้ยานพาหนะ ในขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์”

ภาพจาก : เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้
ภาพจาก : เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้

“ขณะเดียวกัน ผมคิดว่านโยบายการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนของเรา อาจต้องทบทวนเรื่องทางเท้า จนถึงข้อกำหนดเรื่องลานจอดรถตามสถานที่ต่าง ๆ ให้กำหนดอย่างชัดเจนว่าจอดได้กี่คัน เพราะผมคิดว่าเราสามารถดึงลานจอดรถบางส่วนมาสร้างพื้นที่สาธารณะ หรือสีเขียวได้ ผมก็คาดหวังว่าเมื่อระบบขนส่งสาธารณะเราสมบูรณ์ คนจะใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง และทำให้เรามีพื้นที่ว่างจากการจอดรถยนต์เยอะขึ้น ก็ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม คิดว่าน่าจะเป็นไปได้”

ทางเดินลอยฟ้าสู่สมาร์ทซิตี้

ขณะที่ “ชาย ศรีวิกรม์” นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA) กล่าวว่า สำหรับพื้นที่เขตเมืองย่านราชประสงค์เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ มีโครงการอสังหาริมทรัพย์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านค้าปลีก อาคารพาณิชย์ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ หรือ RSTA มีสมาชิก 23 ราย เป็นผู้ประกอบการในย่าน โดยเป้าหมายคือพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างตึกต่อตึก

“จากการทำงานร่วมกันมากว่า 20 ปี เราเห็นการเติบโตของเมืองอย่างต่อเนื่องจึงแลกเปลี่ยนแนวคิดกันมาโดยตลอดว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ดีในอนาคตของย่านนี้อย่างไร จึงเป็นที่มาของการลงขันพัฒนาโครงข่ายเส้นทางเดินลอยฟ้า ที่เรียกว่า R Walk (Ratchaprasong Walk) ที่มีใช้ปัจจุบัน ระยะทาง 1,150 เมตร เชื่อมต่อ 4 ทิศทาง เข้าถึง 18 อาคาร ด้วยงบประมาณ 715 ล้านบาท”

“นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐส่วนหนึ่ง ด้วยความมุ่งหวังว่าทางเดินลอยฟ้าแห่งนี้จะทำให้เกิดการหมุนเวียนและการสัญจรภายในย่าน ที่นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนชีวิตและเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นควบคู่กันไป”

“ชาย” กล่าวต่อว่า การสร้างใครก็สร้างได้ แต่ถ้ามองว่าทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน ก็ต้องมองเรื่องความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกบนทางเดินลอยฟ้ามีการติดตั้งกล้องวงจรปิด ดูแลความปลอดภัยถึง 120 ตัว มีพนักงานลาดตระเวนคอยเดินตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง

ไม่เพียงเท่านี้ยังวางแผนกันว่า การพัฒนาย่านไม่ได้มีแต่เรื่องการพัฒนากายภาพ แต่รวมถึงการพัฒนาระบบ smart technology เพื่อมาช่วยในการดูแลความปลอดภัย เชื่อมต่อการสื่อสารข้อมูลเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ และสร้างการบริหารการจัดการที่มีประสิทธิภาพด้วย

ภาพจาก : สถาบันปลูกป่า ปตท.
ภาพจาก : สถาบันปลูกป่า ปตท.

“นอกเหนือจากนี้แล้ว สมาคมยังร่วมกับกรุงเทพมหานคร ขยายสกายวอล์กสู่ถนนราชดำริ รวมไปถึงแผนปรับปรุงทางเท้า โดยมีการปลูกต้นไม้ตามแนว 2 ฝั่งถนน ตั้งแต่ถนนราชดำริ สี่แยกราชประสงค์ คลองแสนแสบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ โดยจ้างนักออกแบบมาช่วยกันระดมความคิดว่าจะปรับภูมิทัศน์ให้ดีขึ้นได้อย่างไรอีกบ้าง”

สีลมโฉมใหม่ถนนสีเขียว

“อรฤดี ณ ระนอง” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นายน์ เอสเตท จำกัด และประธานสมาคม We Love Silom กล่าวเสริมว่า สีลมกำลังลอกเลียนแบบโมเดลย่านราชประสงค์ในการพัฒนาพื้นที่ให้น่าอยู่ ซึ่งบนถนนสีลมมีความยาว 2.5 กม. มีพื้นที่สาธารณะค่อนข้างจำกัดเพียง 13% เท่านั้น ส่วนทางเท้ากว้างโดยเฉลี่ยเพียง 2.5 เมตร

“นอกจากนี้ยังมองเห็นถึงความทรุดโทรมของบริเวณนี้ จนทำให้เอกชนในย่านสีลม (We Love Silom) ร่วมกันทำแผนในการปรับปรุงทางเท้า ตลอดจนปรับพื้นที่หน้าอาคารเชื่อมต่อของพื้นที่สาธารณะในย่าน ตัวอย่าง เช่น พาร์คสีลม ซึ่งเป็นอาคารใหม่ที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปีหน้าที่จะมีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่”

“ซึ่งอยู่ในส่วนของ Sky Garden หรือสวนลอยฟ้า เพราะสามารถมองเห็นจากด้านหน้าของอาคาร และพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่กว่า 1 ไร่ ขณะที่ด้านหน้าของอาคารก็จะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้แก่ถนนสีลม และผู้คนที่อาศัยโดยรอบ”

“ซึ่งการพัฒนาจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ สมาคมกำลังเร่งศึกษาแคแร็กเตอร์สีลมอย่างจริงจัง และตอนนี้กำลังออกแบบ เพื่อส่งแบบให้กรุงเทพมหานครดูอีกทีว่าจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง หรือจะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ หรือจะช่วยอะไร อย่างไรได้บ้าง”

นับว่าน่าสนใจทั้งสิ้น