KTC กางแผนช่วยสังคม ชวนบริจาคผ่านแอปฯให้องค์กรการกุศล

เคทีซี

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ “เคทีซี” ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือสังคม ด้วยการเป็นสื่อกลางระหว่างสมาชิกบัตร และพันธมิตรองค์กรการกุศลกว่า 60 แห่ง เพื่อช่วยเหลือสังคมในหลากหลายมิติ พร้อมกับเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มช่องทางการบริจาคทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ และโมบายแอปพลิเคชั่น KTC Mobile

“สิรีรัตน์ คอวนิช” ผู้อำนวยการธุรกิจบัตรเครดิต “เคทีซี” หรือ “บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)” กล่าวว่า เคทีซีดำเนินการช่วยเหลือสังคมในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการร่วมเป็นจิตอาสาหรือการสมทบทุนในโครงการต่าง ๆ ตลอด 15 ปีผ่านมา โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์สนับสนุนโครงการ และกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างมูลนิธิเพื่อสังคมกับสมาชิก พร้อมทั้งเปิดช่องทางรับบริจาคผ่านบัตรเครดิตให้กับสมาชิกเคทีซีมีทั้งแบบรายเดือน, รายครั้ง และคะแนนสะสม เพื่อส่งต่อให้กับมูลนิธิหรือองค์กรการกุศลกว่า 60 แห่ง

“ซึ่งปี 2563 ผ่านมามียอดบริจาคผ่านบัตรเครดิตของเราด้วยคะแนน KTC FOREVER กว่า 50 ล้านคะแนน เป็นยอดเงินบริจาครวมกว่า 300 ล้านบาท ขณะที่ปีนี้การระบาดของโควิดระลอก 3 มีความรุนแรงและขยายวงกว้างขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้มูลนิธิ และองค์กรการกุศลต่างเผชิญกับภาวะที่ได้รับการสนับสนุนจากสังคมลดน้อยลง”

“เคทีซีจึงตั้งใจพัฒนาแพลตฟอร์มช่องทางการบริจาค ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ และโมบายแอปพลิเคชั่น โดยล่าสุดพัฒนาช่องทางออนไลน์ ด้วยฟังก์ชั่นการบริจาคผ่านบัตรเครดิตด้วย QR pay การบริจาคด้วยคะแนนผ่าน QR point ผ่านแอป KTC Mobile เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกเคทีซีสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมได้ง่ายขึ้น”

“CCF” ภารกิจศูนย์พักคอย

“ดร.บรรจงเศก ทรัพย์โสภา” ผู้อำนวยการมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี (Community Children Foundation Under the Royal Patronage of HRH Princess Maha Chakri Sirindhorn-CCF) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรการกุศลที่ได้รับการสนับสนุนจากเคทีซี กล่าวว่ามูลนิธิทำงานช่วยเหลือเด็ก และเยาวชนในประเทศไทยมา 64 ปี ใน 4 รูปแบบ คือ

1.พัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

2.พัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพเพื่อเป็นอนาคตของประเทศ

3.เน้นทำงานควบคู่กับเครือข่ายภาคี เช่น เคทีซี ภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรการกุศล

และ 4.ปรับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น โควิด-19 ทำให้มูลนิธิต้องปรับตัวหลายด้าน ทั้งการทำงานปรับเปลี่ยนมาใช้รูปแบบออนไลน์มากขึ้น เช่น การเยี่ยมเด็ก และการทำกิจกรรมร่วมกับผู้นำชุมชน หรือโรงเรียน

ภาพจาก มูลนิธิ CCF

“สำหรับเงินบริจาคที่มูลนิธิได้รับจากหลาย ๆ ทาง แต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ 300 กว่าล้านบาทถูกจัดสรรไปตามโครงการต่าง ๆ ใน 35 แห่งของมูลนิธิทั่วประเทศ เพื่อช่วยในเรื่องการศึกษา สุขอนามัย จิตอาสาต่าง ๆ จำนวนเงินนี้ หากถามว่าเพียงพอหรือไม่ ต้องบอกว่าปัญหาความยากลำบากในประเทศไทยมีมาก เราพยายามวางแผนงานให้มีความสมดุลมากที่สุด”

“ซึ่งโครงการใหญ่ที่สุดของเราคือโครงการอุปการะเด็ก ตอนนี้มีเด็กที่อยู่ในความดูแลกว่า 4 หมื่นราย และการที่จะทำให้เด็ก 1 คนเติบโตขึ้นมาเป็นคนดีได้ก็ต้องพึ่งพาอาศัยคนในครอบครัว ชุมชน สิ่งแวดล้อมของเขาด้วย ฉะนั้น จึงเกิดการพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพิ่มเติมในชุมชนของเด็ก เช่น พัฒนาโรงเรียน พัฒนาอาชีพคนในชุมชน เป็นต้น”

ภาพจาก มูลนิธิ CCF

“ดร.บรรจงเศก” กล่าวถึงทิศทางการทำงานมูลนิธิว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดนี้ มูลนิธิอยากผลักดันการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และอาสาสมัครเพื่อร่วมกันบรรเทาผลกระทบของการแพร่ระบาด โดยจัดตั้งศูนย์พักคอยชุมชน และแยกกักกันในต่างจังหวัด เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมาก

“เพราะส่วนใหญ่ศูนย์พักคอยมักจะอยู่ในเขตกรุงเทพฯ หรือในเขตเมือง ปัจจุบันเรามีศูนย์ที่สนับสนุนอยู่ในต่างจังหวัดทั้งหมด 37 แห่ง และกำลังจะสนับสนุนเพิ่ม 16 แห่ง แต่ยังขาดแคลนด้านเวชภัณฑ์ อาหาร และสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยมาก ดังนั้น เงินบริจาคช่วงนี้จะเน้นด้านช่วยเหลือศูนย์พักคอยเป็นหลัก”

ภาพจาก มูลนิธิ CCF

“สภากาชาดฯ” เดินหน้าสู้โควิด

“ขรรค์ ประจวบเหมาะ” ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย กล่าวเสริมว่า จากสถานการณ์ไวรัสโควิด สภากาชาดไทยต่างได้รับผลกระทบหลายด้านเช่นกัน ได้แก่ บริการทางการแพทย์ บุคลากร และอุปกรณ์การแพทย์ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการเข้ามารักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะการบริการโลหิตเกิดภาวะวิกฤต ประชาชนไม่มั่นใจที่จะมาบริจาค เนื่องจากห่วงความปลอดภัย และการหารายได้เข้ามูลนิธิที่ไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากประชาชนมีกําลังในการบริจาคลดลง ขณะที่ภารกิจของเรายังมีอีกมาก

“ปัจจุบันสภากาชาดไทยยังมีโครงการจัดครัวเคลื่อนที่ทําอาหารปรุงสุกให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การแจกชุดธารน้ำใจให้ผู้กักตัว ผู้สูงวัยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้ติดเชื้อโควิดและดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิดของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมถึง hospitel และ home isolation เฉลี่ยวันละ 800-900 คน นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการสรรหาเครื่องมือแพทย์ และจัดหาวัคซีนด้วย”

ผ่าตัดเด็กปากแหว่งเพดานโหว่

“จุฑารัตน์ วิบูลสมัย” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาแหล่งทุน มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม กล่าวว่า มูลนิธิเป็นองค์กรการกุศลทางการแพทย์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2525 และก่อตั้งในไทยเมื่อปี 2540 โดยมีภารกิจหลักในการช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ รวมถึงแผลจากไฟไหม้น้ำร้อนลวก นิ้วติด นิ้วเกิน หรือใบหน้าที่ผิดรูป

ภาพจาก operation smile

โดยมูลนิธิร่วมเป็นพันธมิตรกับเคทีซี ในการรับบริจาคผ่านบัตรเครดิตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 รวมทั้งพนักงานเคทีซียังร่วมเป็นจิตอาสาประกอบแฟ้มผู้ป่วย เพื่อใช้เก็บประวัติข้อมูลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่จะเข้ารับการผ่าตัดด้วย

“สำหรับกรณีเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ในประเทศไทยพบมากสุดคือ ภาคเหนือ และอีสาน น้อง ๆ กลุ่มนี้จะมีภาวะเสี่ยงเป็นโรคขาดสารอาหาร หรือภาวะติดเชื้อได้ เพราะมีริมฝีปากแยก ดูดนมลำบาก ทั้งยังมีแผลช่องโหว่บนเพดาน ไม่สามารถเอาลิ้นแตะเพดานได้ ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งโดยหลักการแพทย์เด็กควรได้รับการผ่าตัดในช่วงประมาณ 3-5 เดือนแรกหากน้ำหนักถึงเกณฑ์ ยิ่งได้รับความช่วยเหลือเร็วเท่าไหร่จะเป็นการมอบคุณภาพชีวิตให้เด็กได้เร็วขึ้น”

ภาพจาก operation smile

“แต่ทั้งนี้สถานการณ์โควิด-19 มูลนิธิไม่สามารถปฏิบัติการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้การผ่าตัดที่ต่างจังหวัดได้ ซึ่งโดยปกติจะมีการวางแผนออกหน่วย 4 ครั้งต่อปี ใน 4 จังหวัด ครั้งหนึ่งประมาณ 7 วัน โดยไปทำการผ่าตัดให้ผู้ป่วยเด็กเฉลี่ย 80-100 คน จึงทำให้ใน 1 ปีสามารถผ่าตัดให้เด็กทั้งหมดกว่า 700 คน ทำให้ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปี เราผ่าตัดให้เด็กมาแล้วกว่า 15,000 ครั้ง ที่นับเป็นจำนวนครั้ง เพราะเด็กบางคนต้องผ่าตัด 3-5 ครั้ง เพราะใบหน้าจะปรับตามสภาพ”

“จุฑารัตน์” กล่าวอีกว่ายังมีโครงการผ่าตัดแบบต่อเนื่อง โดยให้งบประมาณในการสนับสนุนกับโรงพยาบาลในจังหวัดต่าง ๆ ที่มีศัลยแพทย์ เพื่อดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Smile Box นมกล่องแห่งรอยยิ้ม ซึ่งบรรจุผ้าอ้อมเด็ก นมผง หน้ากากอนามัย อุปกรณ์การเรียน แผ่นพับที่ให้ความรู้ในการดูแลเด็ก และขวดนมที่มีลักษณะยาวพิเศษสำหรับเด็กปากแหว่งเพดานโหว่

ภาพจาก operation smile

เพื่อส่งให้กับผู้ป่วยเด็กที่เราเคยผ่าตัดไปแล้ว กับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัด โดยส่งไปแล้วประมาณ 200 กล่อง และสำหรับแผนงานในปีหน้าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ทางมูลนิธิหวังว่าจะสามารถออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ผ่าตัดที่ต่างจังหวัดได้ตามเดิม

“UNHCR” ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

“อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์” ผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน UNHCR กล่าวว่าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติก่อตั้งมายาวนานถึง 70 ปี โดยมีบทบาทให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่มีเหตุการณ์ในประเทศ เช่น สงคราม หรือความขัดแย้ง ทำให้ไม่สามารถอยู่ในประเทศตนเองได้

ภาพจาก UNHCR ประเทศไทย

ตอนนี้มีจำนวนถึง 82.4 ล้านคนทั่วโลก ปัจจุบันเราทำงานใน 135 ประเทศ มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 10,000 คน และร่วมงานกับประเทศไทยมา 46 ปี ซึ่งประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ใน 9 ค่ายใน 4 จังหวัดของไทย เช่น แม่ฮ่องสอน, ตาก, กาญจนบุรี และราชบุรี ประมาณ 90,000 คน นอกจากนั้น ยังมีที่เชียงรายที่เราดูแลเกี่ยวกับบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นคนไทยที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีสัญชาติไทย หากรวมทั้งหมดทั่วประเทศก็มีประมาณ 4 ล้านคน

ภาพจาก UNHCR ประเทศไทย

“จากตัวเลขที่กล่าวมามองว่าการช่วยเหลือจากทุก ๆ ฝ่ายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสถิติผู้ลี้ภัยที่ตกอยู่ในสถานะนี้โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 17 ปี ดังนั้น การบริจาคต่อเนื่องจะช่วยให้เรามีงบประมาณในการช่วยชีวิตผู้ลี้ภัยอย่างมีประสิทธิภาพ”

“โดยเรามุ่งเน้นช่วยกลุ่มที่เปราะบาง เพราะ 80% ของผู้ลี้ภัยคือผู้หญิง และเด็ก ดังนั้น แผนงานในอนาคตจะมีโครงการมอบทุนให้กับผู้ลี้ภัยทั่วโลก เพราะมีผู้ลี้ภัยเพียง 3% ที่ได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เราจึงอยากมอบโอกาส และอนาคตที่ดีให้กับผู้ลี้ภัยด้วยกัน”

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ แต่สหประชาชาติอยู่ได้ด้วยสมาชิกของประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะภาคเอกชน อันเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้