นายกฯเผย 3 แนวทางขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมาย SDGs ในปี 2030 

นายกฯเผย 3 แนวทางขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เน้นสร้างความตระหนักรู้ ถ่ายทอดเป้าหมาย SDGs และแสวงหาพลังร่วม ย้ำไทยต้องบรรลุเป้าหมายภายในปี 2030

วันที่ 8 กันยายน 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดงานเสวนาออนไลน์ ฟื้นตัวอย่างมั่นคง ก้าวต่ออย่างยั่งยืน (A Bright Leap Forward 2021 : Resilient and Sustainable Growth) โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดงานในหัวข้อ “ก้าวใหม่ที่ดีกว่าเดิม” 

พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตในทุกมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเข้าสู่ยุคดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตลอดจนวิกฤตครั้งสำคัญจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างกลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงระบบเศรษฐกิจการค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ซึ่งวิกฤตการณ์ครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผมตระหนักดีว่าเราไม่สามารถจะผลักดันการพัฒนาประเทศด้วยวิธีการเดิม ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น แนวทางการพัฒนาของประเทศไทยในระยะต่อไป ต้องเป็นการก้าวใหม่ที่ดีกว่าเดิม ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติของไทย โดยให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวอย่างมั่นคง และเป็นองค์รวมในทุกมิติ ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถร่วมมือกัน เพื่อมุ่งสู่การเติบโตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการก้าวต่ออย่างยั่งยืน โดยมีแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อน 3 ประการ ดังนี้

ประการแรก การสร้างความตระหนักรู้ เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจร่วมกัน มีความตื่นตัว มีส่วนร่วม ในการเสนอแนวคิด นวัตกรรม รวมถึงการลงมือปฏิบัติจริง ตลอดจนการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในการวิเคราะห์และหาแนวทาง การลดช่องว่าง ทั้งในเชิงนโยบาย และในทางปฏิบัติอย่างเป็นระบบ อันจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่มีความสอดรับและยืดโยงระหว่างกันในระยะต่อไป

ประการที่สอง การถ่ายทอด เป้าหมาย SDGs ระดับชาติ สู่การปฏิบัติจริง ในระดับพื้นที่ หรือ Localizing SDGs โดยมุ่งเน้นการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ รวมถึงการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และท้องถิ่นได้อย่างครอบคลุม ในขณะเดียวกันต้องส่งเสริมการสร้างโอกาสและกระตุ้น ให้ชุมชนได้นำเอาทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาผนวก เป็นแรงขับเคลื่อน เป้าหมาย SDGs พร้อมกับสนับสนุนให้ชุมชน สามารถนำกลไกการขับเคลื่อน SDGs ในระดับท้องถิ่นมาขยายผล เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ ทิศทางการพัฒนาโดยรวมของไทยและโลกได้อย่างเกื้อกูลกัน 

ประการที่สาม การแสวงหาพลังร่วม เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผมตระหนักถึงบทบาทของทุกคน และทุกภาคส่วนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการก้าวใหม่ของไทยที่ต้องดีกว่าเดิม 

ทั้งนี้การขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือที่มีความสอดรับกันของทุกภาคีทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ประชาสังคม เด็กและเยาวชน ตลอดจนหุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างประเทศ หากพวกเราสามารถร่วมกันได้ ผมเชื่อมั่นว่าส่วนนี้จะเป็นจุดแข็งที่จะนำพาประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างแน่นอน 

“ผมขอเน้นย้ำว่า เราต้องนำพาประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี ค.ศ. 2030 โดยการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs เชื่อมโยงกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ในทิศทางที่ส่งเสริมและเติมเต็มซึ่งกันและกัน ซึ่งการดำเนินงานที่มีความสอดประสานกันดังกล่าว เปรียบเสมือนการก้าวใหม่ และพร้อมที่จะก้าวต่อเพื่อมุ่งสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ระยะยาว ในการเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และพร้อมก้าวเดินอย่างภาคภูมิบนเส้นทางแห่งความยั่งยืนของโลกต่อไป”