ชำแหละข้อสอบ TCAS65 ล็อก “คณะแพทย์” ห้ามย้ายมหา’ลัย

TCAS

กางปฏิทินการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย หรือ TCAS65 (Thai University Central Admission System) วันที่ 9 ธันวาคม 2564 นี้ จะเริ่มเปิดให้นักเรียนลงทะเบียนระบบ TCAS65 อย่างเป็นทางการแล้ว โดยหลากหลายธุรกิจร่วมให้การสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างเต็มที่ อย่างโครงการ Sahapat Admission โครงการทบทวนความรู้สู่มหาวิทยาลัยกับสหพัฒน์ ของบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ที่ติวเข้มให้นักเรียนนักศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

โดยเปิดเวทีเสวนาพร้อมดึงติวเตอร์ระดับท็อปชำแหละแนวข้อสอบ TCAS65 ว่าจะไปในทิศทางใด ในหัวข้อ “ผ่าทางตันการศึกษาไทย Unlock TCAS65” ก่อนจะเปิดเวทีติวออนไลน์แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายในช่วง 11-16 ตุลาคม 2564 นี้

TCAS65 อะไรเปลี่ยนไป

เวที Sahapat Admission ได้สรุปใจความสำคัญของระบบ TCAS65 ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นผู้รับผิดชอบ และต้องการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า ในปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ ประกอบด้วย

1) ใช้ 4 รูปแบบในการพิจารณาคือ รอบผลงาน portfolio รอบโควตา รอบ admission และรอบ direct admission หรือที่เรียกว่ารอบเก็บตก โดยรอบที่เหมาะสมกับความต้องการของนักเรียนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการได้คือ รอบ admission ที่จะจัดสอบแข่งขันทั่วประเทศ

2) ยกเลิกการสอบ O-NET ทำให้ admission รอบ 2 ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย เท่ากับจะใช้หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ฉะนั้น นักเรียนที่เข้าสอบในปี 2565 นี้จะต้องติดตามรายละเอียดของแต่ละมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องในทุกรอบ

3) การบริหารการใช้สิทธิที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก โดยการบริหารสิทธิประกอบด้วย 3 คำคือ

(1) ยืนยันใช้สิทธิ

(2) ไม่ใช้สิทธิ

และ (3) การสละสิทธิ

สำหรับการบริหารสิทธิในปีนี้จะต้องมีการบริหารสิทธิใน “ทุกรอบ” นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไป แตกต่างจากเดิมที่ TCAS64 จะมีการบริหารสิทธิในรอบที่ 1 รอบ 3 แต่ในรอบที่ 4 จะต้องยืนยันสิทธิกับมหาวิทยาลัย เมื่อมีการดำเนินการในรอบที่ 1 แล้ว จะต้องมีการยืนยันสิทธิ หรือการคัดเลือกว่าจะใช้สิทธิ หรือไม่ใช้สิทธิ หรือจะสละสิทธิ

4) ข้อจำกัดของคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทย์ และเภสัชศาสตร์ เฉพาะในมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้ล็อกการย้ายมหาวิทยาลัย เช่น เลือกคณะแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เมื่อได้คะแนนสอบที่ดีจะขอย้ายไปมหาวิทยาลัยอื่น ๆ จะไม่สามารถทำได้ แต่สามารถ “ข้ามหลักสูตร” ได้ เช่น จากคณะแพทยศาสตร์ไปคณะทันตแพทย์ เป็นต้น

และ 5) การเปลี่ยนผู้ออกข้อสอบ เช่น ในทุกการสอบไม่ว่าจะเป็น GAT PAT หรือการสอบสามัญต่าง ๆ ผู้ออกข้อสอบ คือ ทปอ. แต่มี 8 วิชาที่เหมือนเดิม คือ การออกข้อสอบของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้แก่ PAT1/PAT2 คณิตศาสตร์ 1 คณิตศาสตร์ 2 และวิทยาศาสตร์ทั่วไป

จากเดิมที่ TCAS64 จะรวมอยู่ใน O-NET แต่ปีนี้กลับมาอยู่ในวิชาสามัญ ฉะนั้น เท่ากับว่า สสวท.ยังเป็นผู้ออกข้อสอบ แต่ในส่วนการสอบ GAT PAT ที่มีการเชื่อมโยงไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สำหรับวิชาภาษาอังกฤษ PAT3-PAT7 ผู้ออกข้อสอบคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.)

เลิกแอดมิสชั่น 2 ไม่กระทบ

การเสวนาดังกล่าวยังได้วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เงื่อนไขของ TCAS65 จากผู้เชี่ยวชาญที่ครอบคลุมสาขาวิชาต่าง ๆ ครบถ้วน โดยอาจารย์กรกฤช ศรีวิชัย หรือครูติ่งจาก KRU CLUB ระบุว่า ระบบของการสอบเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ

ฉะนั้น นักเรียนต้องปรับตัวให้ได้ ในขณะที่อาจารย์สุวคนธ์ อินป้อง หรือครูเลดี้เก๋เก๋ มองว่า นักเรียนอาจต้องเตรียมตัวรับความลำบากมากขึ้น เพราะในแต่ละมหาวิทยาลัยต่างก็มีเกณฑ์เฉพาะของตัวเอง ซึ่งในแง่ดีก็มีสำหรับนักเรียนที่มีมหาวิทยาลัยอยู่ในใจอยู่แล้ว หากศึกษาเกณฑ์ให้ชัดเจนก็จะผ่านการสอบไปได้แน่นอน

ด้านอาจารย์นายแพทย์วีรวัช เอนกจำนงค์พร หรือวิเวียน จาก OnDemand ระบุว่า ข้อจำกัดของคณะแพทย์ที่เกิดขึ้นใน TCAS65 นั้น มีเพื่อ “แฟร์” จากปีที่แล้วมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในรอบ 2 และ 3 มีการกั๊ก ซึ่งมองว่าต้องการให้นักเรียนที่มีความฝัน และนักเรียนที่มุ่งมั่นในการเรียนแพทย์จริง ๆ ได้รับโอกาส

“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้การเตรียมตัวยากขึ้น ทั้งนี้ คณะแพทย์ในประเทศไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก จึงอยากให้ตระหนักถึงการเป็นหมอ คือการเรียนเพื่อไปช่วยคน ไม่ใช่เรียนเพื่อความเก๋ ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยดัง ๆ เท่านั้น”

ขณะที่อาจารย์สุรเชษฐ์ พิชิตพงศ์เผ่า หรือครูพี่ยู จาก We by The Brain ให้มุมมอง 3 ประเด็นคือ การสอบครั้งนี้ 1) ไม่ใช้คะแนน O-NET 2) มีการเปลี่ยนและหลากหลายมากขึ้น ทปอ.ให้อิสระแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนด และ 3) การบริหารจัดการสิทธิ

ทั้ง 3 ประเด็นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมถึงข้อกังวลที่แตกต่างกัน ข้อดีคือ ลดความกังวลของนักเรียนไปได้ 1 สนามสอบ ในกรณีที่ไม่ใช้ O-NET ในแง่ของเด็กซิ่วถือว่าครั้งนี้คือรอบล้างไพ่ ล้างตา กรณีที่ทำคะแนน O-NET เอาไว้ไม่ดีนัก ซึ่งความยากของภาษาไทยที่ความยากน้อยกว่าสนามอื่น ต้องไปพึ่งพาสนามสอบอื่นที่ไม่ใช่ O-NET

สำหรับเกณฑ์ที่เปลี่ยนและมีความหลากหลาย ต้องรอติดตามเกณฑ์ต่าง ๆ ที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนดเอง ต้องเตรียมความพร้อมครั้งนี้ให้มาก เพราะคะแนนจากการสอบส่วนกลางที่เป็น GAT PAT วิชาสามัญ และวิชาเฉพาะ เช่น ความถนัดแพทย์จะเป็นส่วนที่มีความสำคัญมากขึ้น หากประกาศว่า GPAT ไม่ได้ใช้เลย คะแนนสอบจะยิ่งทวีความสำคัญขึ้นไปอีก และการระวังเรื่องสิทธิเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ เพราะฉะนั้น ต้องรอบคอบ

แนะอย่าเปลี่ยนแนวข้อสอบ

ส่วนการเปลี่ยนแปลง TCAS65 นั้น อาจารย์สุรเชษฐ์ ชี้ว่า ตามแนวทาง ทปอ.ยืนยันข้อสอบยังคงเนื้อหาเดิม รูปแบบและคะแนนเท่าเดิม คะแนนในบางวิชาได้เน้นไปที่ความคิด วิเคราะห์ และการนำไปใช้ และข้อสอบน่าจะเป็นไปตามที่ ทปอ.กำหนด ขั้นตอนการชี้แจง รวมไปถึงการให้คะแนน มีลักษณะเฉพาะมาก ถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่เลย ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ยาก คาดว่าเกณฑ์จะออกมาช่วงต้นเดือนธันวาคม 2564

ด้านอาจารย์ธฤตสรณ์ ศรพรหม หรือครูพี่หวาย จาก Enconcept ระบุว่า เรื่องของข้อสอบไม่มีใครพูดเลยว่ามันอาจจะ “ง่ายขึ้น” เพราะยังมองว่ายากเหมือนเดิม ในปีแรก ๆ ของ admission จะเน้นสำนวน แต่หากเปลี่ยนแปลงจะมีเรื่องที่น่ากลัวเหมือนกัน คือ มศว.จะปล่อยของหรือไม่ หากเข้าใจนักเรียนข้อสอบในปีนี้ “ไม่ควร” เปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะนักเรียนปีนี้เตรียมตัวกับข้อสอบเก่ามานานหลายปีแล้ว ฉะนั้น การออกข้อสอบก็ไม่ควรจะกลับลำ

ขณะเดียวกัน กูรูได้ให้แง่คิดมุมมองผ่านเวทีเสวนาหลากหลายเรื่องอย่างน่าสนใจ อาทิ มองว่าการออกข้อสอบทั้งสายศิลป์และสายวิทย์ในปีนี้กลับมาอยู่ในวิชาสามัญ และผู้ออกข้อสอบคือ สสวท. เท่ากับว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่จุดแข็งของวิทยาศาสตร์คือ การมีแบบเรียนตายตัว ซึ่งเป็นแบบเรียนจาก สสวท. ซึ่งเป็นผู้เขียนหลักสูตรและออกข้อสอบ วิชาวิทยาศาสตร์จะอยู่บนพื้นฐานการเรียนรู้ ความเข้าใจ และการประยุกต์ใช้ และวิเคราะห์ ดังนั้น แนวข้อสอบจึงอยู่บนพื้นฐานของการประยุกต์เพื่อนำไปใช้

สำหรับคณิต 2 จะวัดความรู้ด้วยโอเน็ต และปีนี้ยังคงมีอยู่แต่ไม่มีการใช้ยื่นเหมือนโดนลดความสำคัญลงคณิต 2 ไม่ยากและคล้ายคลึงกับโอเน็ตมาก และในความเป็นจริงน่าจะรวมข้อสอบกันได้ ส่วนคณิตทั่วไปหรือ PAT1 ถือว่าเผาจริง ข้อสอบยาก

ส่วน PAT3 ได้เปลี่ยนคนออกข้อสอบเป็น มศว. เท่ากับเป็นรายวิชาที่น่ากลัวที่สุดสำหรับ PAT3 เดิม สสวท.ไม่ได้เป็นผู้ออกข้อสอบอยู่แล้ว ด้านความถนัดทางด้านวิศวกรรมแนะนำว่าไม่ว่าจะผ่านมานานแค่ไหนตั้งแต่ช่วงปี’49 เปลี่ยนมาเป็นความรู้พื้นฐานด้านวิศวกรรมเมื่อปี 2553-2564 นั้น เปลี่ยนรหัสเป็น PAT3

การจัดสอบรายวิชาดังกล่าวไม่เคยมีการเปลี่ยนแกนข้อสอบเลย ยังคงใช้ฟิสิกส์เป็นตัวแกนกลาง เสริมด้วยคณิตศาสตร์และเคมี และหัวข้อเฉพาะทางด้านวิศวกรรม รวมถึงเรื่องราวของการพัฒนาทางเทคโนโลยีในปีนั้น ๆ ส่วนในปีนี้ก็คงหนีไม่พ้น 4 รายวิชานี้

“สำหรับ PAT3 เป็นคณิตศาสตร์ที่มีการประยุกต์สูงมากในตัวอยู่แล้วตัวข้อสอบอาจจะถามถึงเรื่องราว แรงและพลังงาน อาจจะตั้งขึ้นมาเป็นโรงงานเพื่อ input การใช้พลังงานออกมาผ่านรูปแบบต่าง ๆ ทดสอบนักเรียนด้วย การคิดวิเคราะห์ที่เหนือชั้นกว่าวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ กฎทางเคมีจะไม่เปลี่ยน ยกเว้นว่าจะมีการค้นพบใหม่ ๆ เกิดขึ้น อาจต้องเพิ่มฟิสิกส์อนุภาคที่จะเพิ่มเข้าไปในหลักสูตร”

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกคือ critical thinking ที่มากขึ้นต้องอ่านให้แตก อธิบายสูตรเป็นสิ่งที่มาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่สูตรไม่ใช่ทุกอย่าง การเรียนในกลุ่มวิชาฟิสิกส์ต้องรู้ถึงที่มา-ที่ไปของสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไว้ไปจนถึงพื้นฐานความรู้ได้ ที่เห็นว่ามีการปรับข้อสอบคือการ “เปลี่ยนวิธีถาม” เท่านั้น

ก่อนอาจารย์นายแพทย์วีรวัชจะสรุปรวบยอดว่า ข้อสอบคณะแพทย์จะถูกแยกออกมาโดยเฉพาะ และอยู่ในโครงสร้างเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ไม้ตายจะถูกเพิ่มลงไป ทุกปีจะเปลี่ยนเพื่อไม่ให้จับทางได้ และจะมีความใหม่ใส่มาในข้อสอบที่ 20% เช่น GAT เชื่อมโยงจะมีเทคนิคพิเศษที่นักเรียนต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าในห้องสอบ ข้อสอบไอคิวจะมีแนวใหม่แทรกเข้ามาทุกปี

ทั้งนี้ ในเรื่องของจริยธรรมเป็นข้อสอบที่ dynamic มาก และถือเป็นวิชาที่ยากที่สุดใน 3 สาขานี้ ความยาก คือ เล่นกับวุฒิภาวะและทัศนคติของมนุษย์ ยิ่งกระแสในปัจจุบันแพทย์จะต้องมีความรู้ เมตตา และเสียสละ ซึ่งค่อนข้างสวนทางเมื่อย้อนมองสังคมไทยที่ยังมองถึงเรื่องบริโภคนิยม

“นักเรียนจึงต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า อาชีพหมอไม่ได้ทำงานสบาย แต่เหนื่อยมาก และเสียสละเวลาเพื่อรักษาผู้ป่วย นักเรียนต้องเรียนรู้และเปิดใจกับสิ่งเหล่านี้ ยากในการทำให้ได้คะแนนดี แต่หากเตรียมพร้อมมาอย่างดี ก็ไม่ต้องกังวล”