คอร์สแอร์เปิดตัว “พลาสติกเครดิต” ช่วยองค์กรไทยลดขยะเป็นศูนย์

คอร์สแอร์เปิดตัว CSR Plastic Credit ช่วยองค์กรภาครัฐ-เอกชน รีไซเคิลขยะพลาสติก ได้รับรองสถานะลดขยะพลาสติกเป็นศูนย์ เพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดไทลและตลาดโลก

วันที่ 11 ตุลาคม 2564 คอร์สแอร์ กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล (Corsair Group International) ผู้พัฒนาโซลูชั่นธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ประจำประเทศไทย (Corsair Group Thailand) และสำนักงานใหญ่ประจำภาคพื้นยุโรปที่เนเธอร์แลนด์ ประกาศเปิดตัว CSR Plastic Credit พร้อมกันทั่วโลก ซึ่งเป็นแพ็กเกจการรีไซเคิลขยะพลาสติก เพื่อช่วยผู้ประกอบการได้การรับรองสถานะการลดขยะพลาสติกเป็นศูนย์ (plastic neutral) ยกระดับสู่การเป็นองค์กรสีเขียว พร้อมเพิ่มอัตราการรีไซเคิลขยะพลาสติกเป็นรูปธรรม

นายยูสซี เว็คโค ซาโลรานตา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คอร์สแอร์ กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า โดยเฉลี่ยมนุษย์จะสร้างขยะพลาสติกคนละราว 50 กิโลกรัมต่อปี ดังนั้น ตลอดชีวิตของมนุษย์จะสร้างขยะพลาสติกถึง 4,000-5,000 กิโลกรัม ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กสร้างขยะพลาสติกประมาณ 10-100 กิโลกรัมต่อเดือน ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ขยะพลาสติกประมาณ 100 ล้านกิโลกรัมต่อเดือนเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ประเทศไทยสร้างขยะพลาสติกปีละกว่า 2 พันล้านกิโลกรัม ซึ่งในจำนวนนี้ถูกนำไปรีไซเคิลไม่ถึง 10% เท่านั้น และยังไม่ปรากฏแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างความแตกต่างที่ชัดเจน ซึ่งคอร์สแอร์เข้าใจถึงความท้าทายในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก จึงพัฒนาแนวทางในการร่วมสร้างผลกระทบเชิงบวก ในรูปแบบ CSR Plastic Credit ที่เป็นแพ็กเกจรีไซเคิลขยะพลาสติกแนวใหม่ สำหรับระดับครัวเรือน และระดับองค์กร โดยแต่ละแพ็กเกจจะกำหนดปริมาณขยะพลาสติกมากน้อยแตกต่างกัน

โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund : WWF) ให้นิยาม plastic credit ว่า เป็นหน่วยการถ่ายโอนที่แสดงถึงปริมาณพลาสติกจำนวนหนึ่ง ซึ่งถูกเก็บรวบรวมและนำไปรีไซเคิล เพื่อไม่ให้ปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม ซึ่งนอกจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล องค์กรและบริษัทระดับโลกอีกหลายแห่ง เช่น Unilever, Starbucks, PepsiCo และ Microsoft ก็ได้รับรองแผนการปฏิวัติพลาสติกเครดิต (Plastic Credit Revolution) แล้วอย่างเป็นทางการ ซึ่ง CSR Plastic Credit ของคอร์สแอร์ก็มีการดำเนินงานในรูปแบบนี้เช่นกัน

ซื้อเครดิตกำจัดขยะ

นายยูสซีอธิบายว่า หลักการทำงานจะเหมือนกับ carbon credit ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ประกอบการรายหนึ่งมีอัตราการสร้างขยะพลาสติกราว 50 กิโลกรัมต่อปี สามารถเลือกซื้อแพ็กเกจ 10 ปี ซึ่งกำหนดปริมาณขยะพลาสติกที่ 500 กิโลกรัม โดยคอร์สแอร์จะเป็นผู้รับผิดชอบรีไซเคิลขยะพลาสติกแทนผู้ประกอบการ ซึ่งเท่ากับว่า ผู้ประกอบการรายนั้นจะสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกได้ 50 กิโลกรัม จึงมีสถานะการสร้างขยะพลาสติกเป็นศูนย์โดยสมบูรณ์

“เราจะรับภาระแทนในการเก็บรวบรวมขยะพลาสติกเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ในโรงงานที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรีไซเคิลให้เป็นน้ำมันชีวภาพขั้นสูง (advanced bio-oil) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำมันเบนซิน และดีเซล รวมถึงรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกชิ้นใหม่ ซึ่งวิธีการนี้จะสามารถลดความจำเป็นในการใช้น้ำมันแบบเดิม ๆ และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศอย่างได้ผล”

บล็อกเชนสะสมแต้ม

“ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับใบเสร็จดิจิทัล ซึ่งจะระบุถึงข้อมูลปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกขจัดออกจากสภาพแวดล้อมจริง โดยขยะพลาสติกทุก ๆ 1 กิโลกรัมที่คอร์สแอร์ขจัดออกจากสภาพแวดล้อม บริษัทจะออกแต้ม CSR Plastic Credits 10 แต้ม ซึ่งขั้นตอนการทำงานและแต้มเครดิตจะถูกบันทึกบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นระบบเก็บข้อมูลแบบ open source เพื่อมอบความโปร่งใสและความเชื่อถือได้ต่อสาธารณะ” นายยูสซีกล่าว

ผู้เข้าร่วมโครงการยังสามารถนำตัวเลขนี้ไปหักลบข้อมูลการสร้างขยะพลาสติก (plastic footprint) ในรายงานผลประกอบการขององค์กร เพื่อยกระดับหน่วยงาน หรือแบรนด์สินค้าสู่การเป็นสถานองค์กรที่ไม่สร้างขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม ที่มีตรามาตรฐานระดับสากลให้การรับรองอย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นโซลูชั่นที่ win-win สำหรับทุกคน

เทรนด์ผู้บริโภครักษาสิ่งแวดล้อม

นายยูสซีกล่าวด้วยว่า งานศึกษาวิจัยในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภค 80% ในสหรัฐอเมริกา ต้องการซื้อพลิตภัณฑ์และบริการจากแบรนด์ที่มีการลดขยะพลาสติก และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะพลาสติกที่เหมาะสม งานชิ้นนี้ยังชี้ว่าผู้บริโภคมีความวิตกกังวลถึงผลกระทบจากขยะพลาสติกที่มีต่อมหาสมุทร มากกว่าผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

“เราทุกคนต่างเคยเห็นภาพขยะพลาสติกทำอันตรายหรือคร่าชีวิตสัตว์น้ำ และสร้างมลภาวะต่อโลกนี้มาแล้ว ภาพเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อแบรนด์ และที่สำคัญผู้บริโภคคงไม่ต้องการมีส่วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์ในเรื่องแบบนี้ด้วย ดังนั้น นี่คือโอกาสสำคัญเพื่อการยกระดับแบรนด์ได้อย่างง่ายดาย โดย CSR Plastic Credit สามารถช่วยลดและขจัดขยะพลาสติกในระบบเพื่อเข้าสู่สถานะการสร้างขยะพลาสติกเป็นศูนย์”

“ปัจจุบันมีองค์กรในไทยที่มีแนวคิดก้าวหน้า และมุ่งเน้นการพัฒนาสิ่งใหม่มาทำงานร่วมกับคอร์สแอร์ในโครงการรีไซเคิลขยะพลาสติก เช่น ไทยรุ่ง, ไมเนอร์ กรุ๊ป, เซ็นทารา กรุ๊ป, ชาเทรียม โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท (โอ๊กวู้ด), มิชลิน, โรงเรียนนานาชาติ โชรส์เบอรี่, เดอะ บางกอก คลับ, ล็อกซเล่ย์, แอสเซทไวส์, สถาบันปัญญาภิวัฒน์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่ม Less Plastic Thailand เป็นต้น”