Habitat เปิดฟอรั่มระดมกำลัง สร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาสในเอเชีย-แปซิฟิก

งานประชุมบ้านและที่อยู่อาศัยประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 8 แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่มีต้นทุนเหมาะสมและยั่งยืน

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่ารายงานว่า องค์การที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ (Habitat for Humanity) ร่วมมือกับโครงการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน SWITCH-Asia (SWITCH-Asia Sustainable Consumption and Production Facility) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (European Union: EU) จะจัดการประชุมบ้านและที่อยู่อาศัยประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Housing Forum) ระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “Building Forward Better for Inclusive Housing”

เพื่อเน้นย้ำถึงความจำเป็นอันเร่งด่วนในการสร้างที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืนที่มีต้นทุนที่เหมาะสมในภูมิภาค เพื่อตอบสนองผู้คนนับหลายล้านคนที่มีระดับรายได้ที่ต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ที่อาศัยอยู่อย่างลำบาก รวมทั้งต้องดิ้นรนต่อสู้กับผลกระทบด้านสุขภาพและเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“ลูอิส โนดะ” รองประธาน องค์การที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก

“ลูอิส โนดะ” รองประธาน องค์การที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า การประชุมบ้านและที่อยู่อาศัยประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 8 เป็นการประชุมที่จะแสดงให้เห็นว่า คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่ด้อยโอกาส ควรได้รับความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยที่มีความเหมาะสม

“ต้องให้ความสำคัญกับการร่วมมือปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือความจำพื้นฐานของผู้คน และการสร้างแนวทางที่ทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัย และมีความยืดหยุ่นมั่นคงมากขึ้น”

การประชุมนี้เป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมไปถึงโซลูชัjน และการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยจะมีผู้เข้าร่วมที่เกี่ยวข้องและผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่าง ๆ จากทั่วทั้งระบบนิเวศที่อยู่อาศัย โดยแนวทางในการประชุมมี 4 แนวทาง ประกอบไปด้วย

1) สร้างเมืองและชุมชนที่ยืดหยุ่นและมั่นคง : วิธีที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายภาคส่วนสามารถทำงานร่วมกันได้เพื่ออนาคตเมืองที่ยั่งยืน

2) โซลูชัjนและเทคโนโลยีที่อยู่อาศัยที่เป็นนวัตกรรมใหม่ : การค้นหาวิธีการต่าง ๆ ที่เราสามารถบรรลุถึงที่อยู่อาศัยที่มีต้นทุนที่เหมาะสมได้ผ่านทางนวัตกรรมและเทคโนโลยี

3) ความยั่งยืนขั้นสูงในภาคที่อยู่อาศัย : การพิจารณาถึงวิธีการต่าง ๆ ในการพัฒนาและประสานมิติในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของที่อยู่อาศัยเพื่อให้มั่นใจว่าเมืองและชุมชนมีความเสมอภาคกัน

4) การจัดการเงินทุนด้านที่อยู่อาศัยที่มีต้นทุนที่เหมาะสม : การมุ่งเน้นไปที่เครื่องมือด้านการเงินของผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่แตกต่างกันทั้งในภาครัฐและเอกชนที่สามารถให้ทุนที่อยู่อาศัยที่มีต้นทุนที่เหมาะสม

นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นประเด็นที่ต้องพูดถึงควบคู่ไปกับแนวทางเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติสากล (Habitat for Humanity) ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง “A Ladder Up : The construction sector’s role in creating jobs and rebuilding emerging market economies” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และมหาวิทยาลัยวอชิงตัน

ในรายงานระบุว่าทุก ๆ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในผลผลิตที่มาจากการก่อสร้างจะช่วยสร้างงานได้เฉลี่ย 97 ตำแหน่งทั่วประเทศ (ประเทศที่ร่วมอยู่ในการวิจัย) ซึ่งในฟิลิปปินส์มีการสร้างงาน 165 ตำแหน่งต่อ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในอินเดียมี 182 ตำแหน่งต่อ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สิ่งค้นพบเหล่านี้บ่งบอกถึงความสำคัญต่อประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ที่ต้องตัดสินใจว่าพื้นที่ใดต้องให้ความสำคัญก่อน-หลัง เนื่องจากประเทศเหล่านั้นต้องทำงานเพื่อสร้างเศรษฐกิจขึ้นใหม่จากการที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ให้ฟื้นฟูกลับคืนมา

ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว การลงทุนในการก่อสร้างที่พักอาศัยเรียกได้ว่าเป็นโอกาสแห่งชัยชนะ เนื่องจากเกิดการสร้างงานในท้องถิ่นเป็นจำนวนมหาศาล จากปี 2561-2562 และอัตราความยากจนในประเทศไทยลดลงเหลือ 6.2% ตามข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 อัตราความยากจนกลับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 8.8% อันเนื่องมาจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประชุมบ้านและที่อยู่อาศัยประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก สามารถลงทะเบียนเข้าร่วม การประชุมบ้านและที่อยู่อาศัยประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกในรูปแบบออนไลน์ที่จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7-9 ธันวาคม 2564 ได้ที่ aphousingforum.org/registration/