มูลนิธิศุภนิมิตระดมภาคี หนุนยุทธศาสตร์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก

ภาพ: Reuters

มูลนิธิศุภนิมิตเปิดเวทีเสวนา “ยุติความรุนแรงต่อเด็ก – ละเลย เลยรุนแรง” เผยสถิติความรุนแรงในครอบครัวไทยตั้งแต่ปี 2559-2563 มีแนวโน้มสูงขึ้น คิดเป็น 1,400 รายต่อปี

วันที่ 17 ธันวาคม 2564 มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยประเด็นสำคัญจากที่เชิญองค์กรภาคีเครือข่าย รวมถึงตัวแทนแกนนำเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาจัดทำแผนการดำเนินงานหนุนยุทธศาสตร์ดูแลปกป้องคุ้มครองเด็ก และเยาวชนจากความรุนแรงในทุกรูปแบบ ผ่านเวทีเสวนาในหัวข้อ “การยุติความรุนแรงต่อเด็ก – ละเลย เลยรุนแรง” โดยงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “It Takes You and Me to End Violence Against Children ให้คุณและฉันยุติความรุนแรงต่อเด็ก” ซึ่งตั้งเป้าหมายเด็กเปราะบางจำนวน 3 ล้านคนได้รับผลกระทบจากโครงการนี้

หนึ่งในประเด็นที่พูดถึงในการเสวนานี้คือปัญหาสุขภาพจิต โดยพบว่าเด็กและเยาวชนมีโอกาสเป็นภาวะซึมเศร้ามากขึ้น ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเลี้ยงดูของครอบครัว ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ปัญหาจากสังคมออนไลน์ รวมทั้งช่องทางการรับแจ้งเหตุศูนย์ช่วยเหลือต่าง ๆ ยังไม่เข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่

ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การยุติความรุนแรงต่อเด็กจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จึงได้มีการจัดการประชุมเสวนาครั้งนี้ ทางมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศเพื่อผลักดันการรณรงค์นี้ต่อไป

“การแชร์แบ่งปันประสบการณ์การทำงาน ได้ฟังเสียงสะท้อนจากเยาวชนที่จะเป็นคนรุ่นต่อไปของประเทศ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการผสานจุดแข็ง เพื่อนำไปพัฒนาเป็นแผนทำงานร่วมกันในการยุติความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนของประเทศไทยต่อไป”

พญ.กุสุมาวดี คำเกลี้ยง สำนักวิชาการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัยรุ่นมีภาวะซึมเศร้าจากความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการล้าช้า โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เด็กและเยาวชนไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตัวเอง เนื่องจากครอบครัวไม่ได้ใกล้ชิดกันเท่าที่ควร

จากรายงานประจำปี Ending Violence in Childhood: Global Report 2020 ที่จัดทำขึ้นโดยองค์กรระหว่างประเทศที่เคลื่อนไหว เรื่องการใช้ความรุนแรงในเด็ก หรือ Know Violence in Childhood พบว่า เด็กและเยาวชน 1,700 ล้านคน คิดเป็น 3 ใน 4 ของเด็กและเยาวชนทั่วโลก ที่ตกเป็นเหยื่อหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงทุก ๆ ปี

และในประเทศไทยจากสถิติของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2547-2561 พบเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงมารับบริการมากถึง 121,860 ราย นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตยังได้เผยถึงสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวตั้งแต่ปี 2559-2563 ว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นคิดเป็น 1,400 รายต่อปี โดยความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กและสตรี โดย 87% เป็นความรุนแรงทางร่างกาย, 9% เป็นความรุนแรงทางเพศ และ 4% เป็นความรุนแรงทางจิตใจ

นายตะวัน ตัวแทนแกนนำเยาวชนของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ควรมีการทำงานร่วมกับเครือข่าย พมจ.บ้านพักเด็ก ร่วมกับพัฒนาหลักสูตรทักษะชีวิตให้ชุมชน เน้นการมีส่วนร่วม มีเวทีให้เด็กได้แสดงออก มีโอกาสให้เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นร่วมกับผู้ใหญ่ เปิดโอกาสให้เข้าร่วมกิจกรรมชุมชน ซึ่งจะทำให้เด็กได้มีโอกาสและมีเสียง เพราะเด็กมีศักยภาพและการเป็นผู้นำในอนาคตได้

ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวเสริมว่า ต้องมีการให้ความรู้และสร้างความตระหนักเรื่องสื่อความปลอดภัยอย่างสร้างสรรค์ เน้นการอบรมแนวทางให้กับผู้ปกครองด้วยเครื่องมือทำงานเชิงป้องกัน มีการทำงานด้านปกป้องคุ้มครองมากขึ้นกับหลายภาคส่วน”

อย่างไรก็ตามเครือข่ายมีความเห็นร่วมกันว่า ต้องมุ่งเน้นการป้องกันให้เด็กได้รับความรุนแรงน้อยที่สุด เสริมสร้างทักษะการเลี้ยงลูกเชิงบวก และส่งเสริมความเข้าใจในสิทธิเด็กอย่างครอบคลุม สนับสนุนให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม มุ่งเน้นสร้างเครื่องมือที่มีความหลากหลาย ให้ความสำคัญแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมออนไลน์มากขึ้น

การเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายหลายภาคส่วน ประกอบด้วยองค์กรภาคีเครือข่ายรวมกว่า 15 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ได้แก่

  1. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
  2. สำนักวิชาการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต
  3. กระทรวงสาธารณสุขกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต
  4. บก.ตอท. กรมกิจการเด็กและเยาวชน
  5. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  6. กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม (DSI)
  7. สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
  8. คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  9. องค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF)
  10. SOS Children’s Villages International
  11. มูลนิธิโสสะแห่งประเทศไทย
  12. มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
  13. มูลนิธิสายเด็ก 1387
  14. มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย
  15. บ้านพระพร และกลุ่มละครชุมชน “กั๊บไฟ”

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากกลุ่มแกนนำเยาวชน และตัวแทนเยาวชนศิลปิน (youth influence) เข้าร่วม ซึ่งมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะนำข้อมูลไปจัดทำแผนดำเนินงาน เพื่อสร้างแนวทางในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์กร ภายใต้โครงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สู่กลไกระดับชาติภายใต้แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป