ส่อง 4 เคล็ดลับเพิ่มผลิตภาพของ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ผู้ก่อตั้ง Meta

ภาพ: REUTERS/Stephen Lam

ส่องเทคนิคการทำงานของหนึ่งในซีอีโอที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของโลก “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก”

วันที่ 14 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานเทคนิคการทำงาน 4 ประการของ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้ง Meta (ชื่อบริษัทใหม่ของ Facebook) ที่ทำหน้าที่ศูนย์กลางบริหารบริการอื่น ๆ ในเครือ เช่น Facebook, Instagram และ WhatsApp

1. กลยุทธ์ความเรียบง่าย

“ซักเคอร์เบิร์ก” ชอบทำสิ่งต่าง ๆ ให้เรียบง่าย ยกตัวอย่างนิสัยการแต่งตัวของเขา โดยมักจะสวมชุดแบบเดียวกัน กางเกงยีนส์ กับเสื้อยืดสีเทาหรือเสื้อมีฮู้ด และไม่ใช่เพียง “ซักเคอร์เบิร์ก” แต่ “สตีฟ จ็อบส์” อดีตประธานบริหารของแอปเปิลผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็สวมเสื้อคอเต่าสีดำเสมอ และ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” นักฟิสิกส์ระดับโลกที่มักสวมสูทสีเทาและปล่อยผมฟูเป็นธรรมชาติ

“ผมจัดการชีวิตด้านอื่น ๆ ที่ไม่ได้สำคัญให้เรียบง่าย เช่น การแต่งตัว เพื่อที่จะได้มีเวลาไปตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า ผมจะรู้สึกเหมือนไม่ได้ทำงานได้ดีพอ หากเอาเวลาและพลังงานไปใช้กับสิ่งที่ไร้สาระ แทนที่จะได้ทุ่มเทพลังงานทั้งหมดเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุด” ซักเคอร์เบิร์กกล่าว

การใช้ความเรียบง่ายกับสิ่งที่ไม่ได้สำคัญ เป็นวิธีการควบคุมงานอย่างมีประสิทธิผล และช่วยเพิ่มผลผลิต

2. โฟกัสงาน…ตลอดเวลา

“ซักเคอร์เบิร์ก” อยู่ในสำนักงานไม่เกิน 50-60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่เขามักใช้เวลาในการอ่านและคิดเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเองลำพัง

“ถ้านับเวลาที่ผมจดจ่อกับภารกิจด้านงาน ก็คงเท่าเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตของผม คุณจะประสบความสำเร็จได้อีกมากหากคุณใช้เวลาวางแผนโปรเจ็กต์ต่าง ๆ หรือคิดถึงสิ่งที่คุณจะทำเมื่อไปถึงสำนักงาน”

3. ตั้งเป้าพัฒนาตนเองรายปี

ถึงแม้ “ซักเคอร์เบิร์ก” จะเป็นเจ้าพ่อในวงการโซเชียลมีเดีย แต่ความสนใจของเขามีมากกว่าเรื่องนั้น เขาบริหารความสนใจด้านต่าง ๆ โดยการตั้งเป้าหมายรายปีให้กับแต่ละเรื่อง เช่น เรียนภาษาจีน กินอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น และอ่านหนังสือทุก ๆ 2 สัปดาห์

“การพัฒนาตนเองเป็นแผนที่ดีเสมอ แต่การที่บีบเวลาว่างที่มีไม่มากไปทำสิ่งที่แตกต่างหลาย ๆ อย่าง จะยิ่งทำให้ไม่ได้อะไรเลย ดังนั้น ควรใช้การโฟกัสสิ่งหนึ่งสิ่งใดแบบรายปี จะทำให้การพัฒนาตัวเองมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า”

4. ทำสิ่งที่ง่ายก่อน

ในขณะที่กลยุทธ์ “eating the frog” วิธีเลือกทำสิ่งที่ยากก่อน เพื่อจะทำให้รู้สึกว่างานที่เหลือง่ายขึ้น ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ “ซักเคอร์เบิร์ก” กลับใช้แนวทางตรงกันข้าม

“ผมคิดว่ากฎง่าย ๆ ในการทำธุรกิจคือ ถ้าคุณทำสิ่งที่ง่ายกว่าก่อน คุณจะสามารถคืบหน้าได้มากจริง ๆ เพราะการเริ่มทำจากสิ่งง่าย ๆ จะสร้างโมเมนตัมเอฟเฟ็กต์ที่จะช่วยให้คุณเคลื่อนที่ไปข้างหน้า และเป็นแรงผลักดันในการสร้างพลังงานให้กับการทำสิ่งที่ยากกว่าหรือใหญ่กว่า”

แนวคิดแบบ “ซักเคอร์เบิร์ก” ถือเป็นเรื่องปกติของเทคคอมพานีในซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) โดยพวกเขามักจะจัดส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีศักยภาพขั้นต่ำเพื่อทดสอบตลาดก่อน แทนที่จะรอจนกว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ถูกขัดเกลาและเต็มไปด้วยคุณสมบัติที่สมบูรณ์แบบแล้ว