ความภักดีต่อองค์กร 2022

คอลัมน์ : HR CORNER
ผู้เขียน : กิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ 
เซลส์ฟอร์ซ ประเทศไทย

ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ในอนาคตจะต้องตระหนักว่าการปรับตัวขององค์กรและธุรกิจไม่อาจหยุดอยู่เพียงนวัตกรรมที่ถูกนำมาใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตของการแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งในขณะนี้เราจะเห็นความต้องการของทุกธุรกิจที่จะก้าวไปสู่ความเป็นธุรกิจแบบ digital-first ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้โดย

1) ดูแลและให้บริการที่คำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก (customer-centric), 2) นำข้อมูลมาใช้อย่างจริงจังในการดำเนินการและตัดสินใจ(data-driven) และ 3) เร่งให้เกิดการส่งมอบสิ่งที่เป็นคุณค่าให้กลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว (fast time-to-value)

ในปี 2022 เมื่อการเปลี่ยนแปลงกลายเป็น new normal ผู้นำทางธุรกิจจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างเสริมภูมิต้านทาน และความยืดหยุ่นของธุรกิจด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับเปลี่ยนองค์กร (digital transformation) และการสร้างให้เกิดความผูกพัน และความภักดี (loyalty) ของผู้ที่มีความสัมพันธ์กับธุรกิจนั้น ๆ ทุกกลุ่ม

ซึ่งหากผู้นำไม่ใช้จังหวะนี้ในการปรับและเปลี่ยนลำดับการให้ความสำคัญกับพนักงานขององค์กร ลูกค้า ตลอดจนสังคมที่อยู่จะทำให้องค์กรไม่อาจแข่งขันได้ในโลกธุรกิจของยุคนี้ ซึ่งเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกธุรกิจหลังการระบาดใหญ่ คือ

– รูปแบบของการทำงานในอนาคตจะถูกสร้างบนหลักการที่ทุกคนเชื่อมโยงถึงกัน (connected) และมีความเป็น hybrid เมื่อสถานที่ทำงานมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว พนักงานเกิดความคาดหวังที่เปลี่ยนไป ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้ผลักดันให้องค์กรต้องนำเสนอรูปแบบการทำงานแบบ digital-first และการเชื่อมต่อบุคลาการทั้งหมดให้เชื่อมถึงกันในการเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวม ทั้งยังส่งผลในการช่วยเก็บรักษาบุคลากรไว้ด้วย ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ต้องการความยืดหยุ่น การมีสิทธิในการตัดสินใจและเลือกสถานที่ เวลา แนวทางการทำงานของตน

เมื่อสำนักงานใหญ่แบบดิจิทัล (digital HQ) มีความสำคัญยิ่งกว่าสำนักงานใหญ่ที่เป็นออฟฟิศที่เราคุ้นเคย (physical HQ) องค์กรจำนวนมากจึงต้องใช้กลยุทธ์ที่ทำให้บุคลากรเข้าใช้ apps และข้อมูลที่จำเป็นในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดไม่ว่าจะอยู่ที่ใดด้วยระบบ workflow ที่ดี

และการสร้างระบบ hyperautomation ที่สามารถปฏิบัติการได้โดยอัตโนมัติจะช่วยปลดล็อกของประสิทธิภาพการทำงานองค์รวม ช่วยเร่งให้การตอบสนองกับความต้องการในตลาดทำได้อย่างรวดเร็ว และปรับเปลี่ยนให้เกิดประสบการณ์ที่ดีขึ้นสำหรับทั้งลูกค้าและพนักงานขององค์กรนั้น ๆ

– การพลิกวิกฤตของ “การลาออกครั้งใหญ่” สู่โอกาสของ “การเก็บรักษาครั้งใหญ่” บริษัทที่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความเชื่อมั่น และสร้างให้เกิดความมีส่วนร่วมของพนักงานจะได้รับประโยชน์ที่แตกต่างอย่างชัดเจนในด้านอัตราการเติบโตอย่างสูงของธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงภายหลังวิกฤตการระบาดใหญ่คลี่คลายลง ที่บริษัทต่าง ๆ ต้องกลับมาพลิกวิกฤตและปรับตัวเพื่อฟื้นฟูธุรกิจจากสถานการณ์การลาออกครั้งใหญ่หรือ great resignation ไปสู่การเก็บรักษาพนักงานครั้งใหญ่หรือ great retention

แน่นอนว่าฝ่ายทรัพยากรมนุษย์หรือ HR จะเข้ามามีบทบาทในการเป็นพันธมิตรทางกลยุทธ์กับบริษัทมากขึ้น โดยใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์เข้ามาสร้างข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพความเป็นอยู่ภายในองค์กร พร้อมแนะนำกลยุทธ์ที่เหมาะสมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่นำมาซึ่งการเติบโตขององค์กร

นอกจากนี้ การปรับแนวทางแบบองค์รวมที่ให้ความใส่ใจในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงาน รวมไปถึงการสร้างเสริมโครงการต่าง ๆ ที่เข้ามารองรับและจัดการการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จะมีความสำคัญมากขึ้นในการเสริมสร้างความภักดีจากบุคลากร และนำทางธุรกิจให้สามารถก้าวข้ามผ่านสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจต่าง ๆ ควรพิจารณาบทบาทของตนเอง และสำรวจสิ่งที่เป็นไปได้ รวมถึงรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมวิธีการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับสิ่งที่พนักงานมองหาไปด้วย

– การนำค่านิยม หรือ values มาลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ปัญหาทางสังคมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศไปจนถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ลูกค้ามีความคาดหวังที่มากขึ้นต่อแบรนด์และธุรกิจต่าง ๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

และด้วยเหตุนี้หลาย ๆ ธุรกิจจำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมจัดการปัญหาเหล่านี้ ดังนั้น นอกเหนือจากการลงทุนเพื่อต่อยอดความก้าวหน้าของธุรกิจตนเอง อีกสิ่งสำคัญที่ธุรกิจต่าง ๆ ไม่ควรมองข้ามคือการลงทุนกับสังคมที่ตนเองอยู่นั่นเอง

การที่จะดึงดูดและเก็บรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้กับองค์กรให้ได้นั้น ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญที่องค์กรจะคำนึงถึงเมื่อพูดถึงการส่งเสริมนโยบายและภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลในทุกสิ่งที่ทำ

นอกจากนี้ คำว่า “trusted enterprise” หรือ “องค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ” หมายถึงองค์กรที่มีความยั่งยืน ดังนั้น ทุกธุรกิจจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับคาร์บอนฟุตพรินต์ (carbon footprint) และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Race to Zero” เพื่อร่วมกับองค์กรชั้นนำมากมายในการตั้งเป้าหมายที่จะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดอุณหภูมิ ภมูิความร้อนของโลกให้ได้ 1.5% เซลเซียส

เพราะท้ายที่สุดก็เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างชัดเจน เราจึงจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางธุรกิจ หรือคู่ค้าต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง เพื่ออยู่รอดต่อไปในอนาคต