งานวิจัยเพื่อชุมชน น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น

คอลัมน์ : CSR TALK

กล่าวกันว่าประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์การเกษตรน่าสนใจหลายชนิด นอกจากสับปะรดแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวก็ได้รับความสนใจเช่นกัน จากข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรที่สำคัญของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่า ในปี 2563 มีการปลูกมะพร้าวกว่า 356,940 ไร่ สะท้อนถึงการให้ความสำคัญของเกษตรกรในพื้นที่

จนทำให้ “ผศ.ดร.ธเนศวร นวลใย” อาจารย์ประจำภาควิชาศึกษาทั่วไป คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวลเริ่มต้นงานวิจัย “การพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงผมจากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ สำหรับวิสาหกิจชุมชน 100 พันมะพร้าวไทย อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” ขึ้นมา โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)

สำหรับที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้ “ผศ.ดร.ธเนศวร” บอกว่าแม้มะพร้าวจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ก็ต้องประสบปัญหาความผันผวนด้านราคาอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงที่ราคาตกต่ำ จะอยู่ที่ลูกละ 0.25-0.50 บาท จนทำให้วิสาหกิจในจังหวัดหลายแห่งเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นมะพร้าวสกัดเย็นเพื่อเพิ่มราคา แต่ยังพบปัญหาคือทุกวิสาหกิจทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นแบบเดียวกันหมด

จึงเริ่มวิเคราะห์ว่าวิสาหกิจชุมชนแต่ละแห่งมีกระบวนการผลิตอย่างไร มีสารองค์ประกอบใดที่สำคัญ จึงพบว่ามีกรดไขมันได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน แต่มีสารประกอบฟีนอลิกในปริมาณน้อยมาก จนได้นำกระบวนการหมักเข้ามาช่วยเสริม โดยใช้กรดเอนไซม์ 4 ตัว

ทั้งเซลลูเลส โปรติเอส อัลฟาอะไมเลส และวิสโคไซม์ ใช้เวลาหมักประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น ส่วนกระบวนการผลิตแต่ละขั้นตอนนั้น ให้วิสาหกิจชุมชนเป็นผู้ผลิตในแต่ละขั้นตอนเอง เพียงแต่เพิ่มกระบวนการหมักเข้าไปเท่านั้น

โดยพบว่าเมื่อได้ใช้เอนไซม์ดังกล่าวเข้ามาช่วยหมักมะพร้าวเพื่อทำเป็นน้ำมันแล้ว ทำให้มีกรดฟีนอลิกมากขึ้น มีประสิทธิภาพในการใช้เป็นเครื่องสำอางได้มากขึ้น จนนำมาบำรุงเส้นผม ผิวหน้าได้เป็นอย่างดี สามารถปรับปรุงแต่งกลิ่นได้ เช่น กลิ่นซากุระ, กลิ่นมะลิ สามารถปรับนำมาใช้ได้หลากหลายช่วงวัย ขยายกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น”

“ผศ.ดร.ธเนศวร” กล่าวต่อว่าสาเหตุที่เลือกวิสาหกิจชุมชน 100 พันมะพร้าวไทย อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีโครงการนำร่องในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มะพร้าวมาก่อนแล้ว ทั้งในรูปแบบครีม โลชั่นทาร่างกาย ซึ่งช่วยเพิ่มการแข่งขันทางการตลาด เพิ่มรายได้มากขึ้น ประกอบกับวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ต้องการแบ่งเกรดน้ำมันมะพร้าวให้ชัดเจนขึ้น

ทั้งชนิดที่รับประทานได้ หรือนำมาทำเป็นเครื่องสำอาง จึงเริ่มต้นร่วมมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นขึ้นมา เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาขายได้กับลูกค้าทุกวัยที่สนใจ ตั้งแต่กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ

โดยเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยพัฒนาทักษะการตลาดให้กับผู้ประกอบการช่วยขายผลิตภัณฑ์ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น เช่น การไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก, ทำคลิปลงยูทูบ หรือขายสินค้าผ่านไลน์แอด เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขายได้อีกทางหนึ่ง จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณร้อยละ 15-20 ซึ่งหลังจากนี้จะต่อยอดงานวิจัยไปสู่วิสาหกิจชุมชนแห่งอื่นในจังหวัดต่อไป

ทั้งนี้ ผู้สนใจในผลิตภัณฑ์หรือตัวสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน 100 พันมะพร้าวไทย อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ สามารถค้นหาได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก “วิสาหกิจชุมชน 100 พันมะพร้าวไทย” หรือสามารถซื้อได้ที่ตลาดโอท็อปหัวหิน หรือตลาดโอท็อป จ.ประจวบคีรีขันธ์บริเวณด้านข้างศาลากลางจังหวัด