“ไปรษณีย์ไทย” เสริมแกร่งน่าน หนุนชุมชนขายของออนไลน์ เติบโตอย่างเข้มแข็ง-ยั่งยืน

นโยบายประเทศไทย 4.0 ถือเป็นนโยบายที่หลายคนเคยได้ยิน ทั้งจากภาครัฐ เอกชน หรือภาคส่วนอื่นๆ ที่กำลังพยายามขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าตามนโยบายดังกล่าวให้ได้

แต่การที่นโยบายดังกล่าวจะเข้าถึงประชาชนทุกหัวระแหงได้คงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อการนำดิจิทัลและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับชาวบ้านหลายคน ทำให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ด้วยการเปิดตัวโครงการ “ไปรษณีย์ไทย…เพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” จ.น่าน อบรมความรู้การขายของออนไลน์ให้กับชุมชน พร้อมเสริมความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจให้ชุมชนผ่านเครือขายของไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศ

ซึ่งในครั้งนี้ ปณท ได้พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.น่าน เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนที่เข้ามาอบรมความรู้กับไปรษณีย์ และเยี่ยมชมการผลักดันดิจิทัลชุมชนที่จุดติดตั้งระบบบริหาร ณ จุดขาย หรือ พีโอเอส (POS: Point of Sale) ด้วย

“สมร เทิดธรรมพิบูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากความตั้งใจของไปรษณีย์ไทย ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน ผ่านหลักการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตไปพร้อมๆ กับการสร้างคุณธรรม บนพื้นฐาน บวร หรือ บ้าน วัด โรงเรียน โดยดำเนินกิจกรรม 3 ด้าน คือ 1.อบรมผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน จำนวน 37 กลุ่ม ให้มีความรู้ถึงการขายของออนไลน์ การส่งของ การบรรจุหีบห่อ รวมถึงวางจำหน่ายสินค้าชุมชนกว่า 30,000 รายการ บนเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com อีกด้วย

สมร เทิดธรรมพิบูล

“2.ด้านวัฒนธรรม มีการร่วมกับหอศิลป์ริมน่าน จัดประกวดภาพถ่าย ‘หน้าต่างน่าน’ มีผู้สนใจส่งเข้าร่วมกว่า 600 ภาพ ซึ่งจะนำภาพที่ชนะมาจัดแสดงที่หอศิลป์ริมน่าน ซึ่งนอกจากจะเป็นการโปรโมตให้ผู้คนรู้จักน่านมากขึ้น ยังนำภาพที่ชนะมาพิมพ์เป็นโปสต์การ์ดหารายได้เข้าโครงการก้าวคนละก้าวด้วย”

“สมร” กล่าวต่อว่า 3.ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ ได้จัดกิจกรรมอบรมพ่อค้าแม่ค้าน้อย 75 คน และให้ทดลองนำสินค้ามาจำหน่าย “กาดละอ่อน ณ ข่วงเมือง” ตลาดสำหรับพ่อค้าแม่ค้าน้อยที่ผ่านการอบรมพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นจิ๋ว ตลอดจนการเสริมสร้างคุณธรรม เพื่อเป็นการพัฒนาคนในพื้นที่นั้นในทุกๆ มิติ

“ที่เลือกเปิดตัวโครงการใน จ.น่าน เป็นที่แรกนั้น เนื่องจากน่านเป็นจังหวัดที่มีศักนภาพ ไม่ว่าจะวิสาหกิจชุมชนที่มีความพร้อม การท่องเที่ยว วัฒนธรรม โดยไปรษณีย์ไทยมีแผนจะขยายโมเดลดังกล่าวในปี 2561 ไปยังจังหวัดที่มีความพร้อม โดยจะเริ่มทำการคัดเลือกจากจังหวัดในโครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข 12 เขต 14 พื้นที่” สมรกล่าว

ด้าน “ศิรินันท์ สารฆณฐี” ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนชีววิถี ต.น้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน เจ้าของผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรแบรนด์ “ชีวา” หนึ่งในวิสาหกิจชุมชนที่ไปรษณีย์เข้ามาอบรมความรู้ เล่าให้ฟังว่า ย้อนไปเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ชุมชนน้ำเกี๋ยนเป็นชุมชนที่มีปัญหาหลายอย่าง ทั้งตัดไม้ ยาเสพติด ประธานชุมชนจึงร่วมกับเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน กอบกู้วิกฤตชุมชน ด้วยการนำสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ในครัวเรือน

ศิรินันท์ สารฆณฐี

“การดำเนินงานของวิสาหกิจจะให้ชาวบ้านนำสมุนไพรมาจำหน่ายทุกเช้า นำมาแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ ซึ่งในช่วงแรกคิดสูตรกันเอง แต่ตอนนี้มีหน่วยงานต่างๆ เช่น คณะเภสัชศาสตร์ เข้ามาอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ โดยสมุนไพรที่นำมาใช้มีกว่า 20 รายการ เช่น ใบหมี่, มะกรูด, ว่านหางจระเข้, มะขาม, มะนาว, มะเฟือง เป็นต้น ปัจจุบันมีสินค้า 30 กว่ารายการ แบ่งเป็น 2 แบรนด์ คือ ชีวา และชีวานา ซึ่งสินค้าหลักๆ จะมี แชมพูใบหมี่, โลชั่นน้ำนมข้าว, ชาใบเชียงดา ฯลฯ”

ศิรินันท์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตลาดของสินค้าจากวิสาหกิจมีทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น, ท็อปส์ มาร์เก็ต, โรบินสัน, ร้านโกลเด้นเพลส, ร้านตัวแทนจำหน่าย นอกจากนี้ยังรับจ้างผลิตให้แบรนด์อื่นด้วย ส่วนตลาดออนไลน์มีจำหน่ายผ่านทั้ง TARAD.com เฟซบุ๊ก และแอปพลิเคชั่นไลน์

สำหรับไปรษณีย์ไทยนั้นเข้ามาช่วยอบรมตั้งแต่การบรรจุเพื่อจัดส่ง รวมไปถึงการอบรมการทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ที่ควรจะมีเรื่องราว ไม่ใช่มีแต่รูปสินค้า ทำให้ได้ยอดไลค์เพิ่มขึ้น รวมถึงลูกค้ายังมั่นใจ เพราะจัดส่งผ่านไปรษณีย์ไทย

“ผลจากการดำเนินงานของวิสาหกิจนอกจากจะทำให้มีสมุนไพรเพิ่มขึ้นในชุมชนแล้ว ชาวบ้านมีรายได้เสริม นอกจากนี้ ยังจะพยายามพัฒนาที่นี่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ด้วยการปั่นจักรยานเรียนรู้กิจกรรมในชุมชนที่มีทั้งนวด, จักสาน และอาหาร เพื่อเป็นการกระจายรายได้ต่อชุมชนด้วย” ศิรินันท์กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากจะพาไปเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนแล้ว คณะเดินทางยังไปจุดติดตั้งพีโอเอส ในโครงการดิจิทัลชุมชน ณ ปณอ.น่าน 103 (กองควาย) และร้านค้าชุมชนพันดวง ซึ่งเป็นจุดที่ให้บริการอีคอมเมิร์ซชุมชนด้วย

ซึ่งในโครงการนี้ไปรษณีย์ไทยได้เข้าไปดำเนินการติดตั้งเครื่องพีโอเอส ที่ประกอบไปด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์จ่าหน้า และเครื่องพิมพ์ใบเสร็จ ซึ่งไปรษณีย์ไทยจะทำหน้าที่เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้า ณ ที่ทำการไปรษณีย์ และบนเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com และเว็บไซต์ promptpost.thailandpost.co.th ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำจุดติดตั้งพีโอเอส หรือจุดให้บริการอีคอมเมิร์ซชุมชน จะต้องเข้ารับการอบรมการใช้งานการซื้อของออนไลน์, การบรรจุหีบห่อสำหรับจัดส่ง เป็นต้น

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับการติดตั้งระบบพีโอเอสจะมีต้องดูขนาดของพื้นที่ ความต้องการ ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าติดตั้ง 200 จุด ปีหน้าจะพยายามให้ได้ 10,000 จุด แต่ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของชุมชนและเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ เชื่อว่าการติดตั้งจุดพีโอเอสจะช่วยให้ชาวบ้านเรียนรู้การขายของออนไลน์ได้เร็วขึ้น นำไปสู่การพัฒนาชุมชนตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ต่อไป