มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม เกษตรยั่งยืนก้าวสู่ Bonsucro

ต้องยอมรับว่าในการผลิตน้ำตาลตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวไร่อ้อย รวมทั้งเพิ่ม productivity ให้แก่องค์กร เป็นสิ่งที่ “กลุ่มมิตรผล” ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ

ผ่านมากลุ่มมิตรผลนำแนวทางการจัดการไร่อ้อยที่มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนตามหลักการเกษตรสมัยใหม่ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” เข้ามาส่งเสริมให้แก่เกษตรกรชาวไร้อ้อย จนสามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ลดการใช้แรงงาน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์น้ำ และดิน จนทำให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro (better sugar cane initiative) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก ในการผลิตอ้อย และน้ำตาล อย่างยั่งยืน

“บรรเทิง ว่องกุศลกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า หากกล่าวถึงแนวทางการจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่ มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม นั้นต้องมองย้อนไปในช่วงที่เกิดภาวะภัยแล้ง โดยเฉพาะช่วงปรากฏการณ์เอลนิโญ ทำให้ผลผลิตอ้อยที่ออกมามีจำนวนน้อย ส่งผลให้การผลิตน้ำตาลของกลุ่มมิตรผลลดลงหลายสิบล้านตัน

“จากเดิมที่กลุ่มมิตรผลเคยเป็นผู้ผลิต และผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 4 ของโลก ทำให้ตกไปอยู่ที่อันดับ 5 และในปีผ่านมาด้วยวิธีการทำการเกษตรสมัยใหม่ และแนวทางมิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม ทำให้กลุ่มมิตรผลกลับมาอยู่ในอันดับ 4 ของโลกอีกครั้ง ทั้งยังเป็นผู้ผลิต และส่งน้ำตาลมากเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย”

“หลักการจัดการตามแบบโมเดิร์นฟาร์ม ถือเป็นนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการไร่อ้อยตามแบบฉบับของกลุ่มมิตรผล โดยเกิดจากการศึกษาวิธีการผลิตการทำไร่อ้อยในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถปลูกอ้อยได้ผลผลิตต่อไร่สูงที่สุดในโลก จากนั้นนำเอาเทคนิค และความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับประเทศไทย และวิถีชีวิตของชาวไร่อ้อยในประเทศไทย”

สำหรับแนวทาง มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม มีทฤษฎี 4 เสาหลัก โดยมีน้ำเป็นฐานที่สำคัญ ประกอบด้วย การปลูกพืชบำรุงดิน, การลดการไถพรวน, การลดการอัดหน้าดิน และสุดท้ายคือการลดการเผาใบอ้อย โดยใช้รถตัด ที่สำคัญเกษตรกรต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำไร่อ้อย ทั้งในเรื่องของความรู้ที่ถูกต้อง ทั้งจากวิชาการและแปลงสาธิต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างระบบฟาร์มอัจฉริยะเพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องจักรขนาดใหญ่ ระบบการจัดการน้ำในไร่ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อย และสร้างวิถีการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านประโยชน์ที่ได้จากการจัดการไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์มคือ การเพิ่มความสมบูรณ์ของดิน เนื่องจากการลดการบดอัดของชั้นหน้าดิน ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงกว่า 25% ซึ่งจากเดิมอยู่ที่ไร่ละ 8,000 บาท ลดลงมาอยู่ที่ 5-6 พันบาท ทั้งยังสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร พร้มกับช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรมอีกด้วย

“เมื่อเกษตรกรสามารถบริหารจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่ตามแนวทางมิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม ได้แล้ว เรายังส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro (better sugar cane initiative) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลกในการผลิตอ้อย และน้ำตาลอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยยกระดับภาคการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมอ้อยของไทยสู่สากล”

“บรรเทิง” กล่าวเพิ่มเติมว่า Bonsucro เป็นองค์กรระดับโลกที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม จากการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาล ขณะเดียวกัน ยังตระหนักถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการแข่งขันทางธุรกิจ โดยมาตรฐานนี้จะมีหน่วยงานตรวจสอบอิสระเป็นผู้ตรวจสอบ และให้การรับรองแก่กระบวนการผลิตที่ปฏิบัติตามมาตรฐาน

“การได้รับมาตรฐาน Bonsucro แสดงให้เห็นถึงคุณภาพ และการใส่ใจของกลุ่มมิตรผล ในการสร้างความสุข และการเติบโตที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ชาวไร่ องค์กร คู่ค้า ตลอดจนผู้บริโภค ส่งผลลัพธ์ที่ดีให้แก่สังคมในหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องของการจัดการระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม ด้านกระบวนการผลิต ด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่ถูกต้อง”

“ตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการจัดการไร่อ้อยอย่างยั่งยืน อย่างที่ชุมชนบ้านหนองแซง ต.บ้านแก้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรชาวไร่อ้อยมาอย่างยาวนาน แต่ประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวอ้อย จนนำไปสู่การเผาอ้อย ทำให้ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น”

จากการที่กลุ่มมิตรผลเข้าไปส่งเสริมความรู้ และให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในชุมชนหนองแซง ทำให้แนวคิดต่างคนต่างทำ เกิดเป็นการรวมกลุ่มกันทำ บนหลักการ ร่วมคน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับ ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มที่ประกอบด้วย กลุ่มรถกล่อง, กลุ่มรถไถเตรียมดิน, กลุ่มรถวีแนส และกลุ่มอ้อยมัด

โดยใช้หลักการจัดการตามแบบเกษตรสมัยใหม่ และมิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม ทั้งการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การลดต้นทุน รวมถึงการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมนำเอาแนวทางการทำไร่อ้อยแบบยั่งยืนตามมาตรฐานระดับโลก Bonsucro มาปรับใช้จนพัฒนาเป็นหนองแซงโมเดล

“ปัจจุบันหนองแซงโมเดลสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้แก่เกษตรกร โดยสามารถตัดอ้อยจากปริมาณพื้นที่เป้าหมายได้สูงถึง 98% มีปริมาณอ้อยสด สะอาดกว่า 100,000 ตันต่อปี สามารถสร้างรายได้ในกลุ่มปีละกว่า 42.3 ล้านบาท ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานการเก็บเกี่ยวอ้อยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ และที่สำคัญมีพื้นที่ทำไร่อ้อยบนมาตรฐาน Bonsucro กว่า 5,000 ไร่ และพร้อมที่จะขยายให้ครบ 13,000 ไร่ และมีการใช้รถตัด 100% ภายในปี 2562 อีกด้วย”

ถึงตรงนี้ “บรรเทิง” บอกว่า ในการส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้ Bonsucro นั้น กลุ่มมิตรผลมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรวมแปลงไร่ละ 700-1,000 บาท ในการรื้อหินและตอซังอ้อยเดิมออกจากแปลง โดยในแต่ละปีใช้งบฯราว 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ให้ฟรีกับเกษตรกร ในขณะที่งบฯการส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ผ่านมา ทั้ง 7 โรงงาน อยู่ที่ราว 7,000 ล้านบาท

“กลุ่มมิตรผลเราตั้งเป้าหมายที่จะทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro ไว้ที่ 400,000 ไร่ ภายในปี 2564 และคาดว่าจะสามารถผลิตน้ำตาลดิบภายใต้มาตรฐาน Bonsucro ได้ถึง 600,000 ตัน ขณะเดียวกัน ในกระบวนการผลิตน้ำตาลของเรายังสามารถใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่โคนถึงยอด โดยที่ยอดนั้นนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักดิน ส่วนลำต้นหลังจากหีบสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงได้ และส่วนที่เป็นโคนต้นและเหง้าสามารถนำมาทำปุ๋ย”

“ส่วนที่เหลือจากการกลั่นเอทานอลยังเป็นสารปรับปรุงดิน โดยกลุ่มมิตรผลมีการพัฒนาต่อยอดทางด้านนวัตกรรม จนสามารถช่วยในการปรับปรุงดิน ซึ่งจะถูกนำไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริม ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยที่ไม่ต้องทิ้งส่วนใดส่วนหนึ่ง และนับเป็นกระบวนการแบบ zero waste”

“อีกทั้งยังมีศูนย์นวัตกรรมและการวิจัย (RDI-Research Development and Innovation) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่ม productivity และ value adder ให้กับอ้อย ขณะเดียวกัน เป็นการเตรียมความพร้อมในการขยายธุรกิจ และในอนาคตอาจจะมีการก่อตั้งเป็นสถาบันที่ให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ต่อไป”

นับว่าเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอ้อย และน้ำตาลของไทย รวมถึงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกร และพัฒนาชุมชนให้มีความยั่งยืนต่อไป