ชีวิตสนุกในทุกมิติ อ่านเต็มอิ่ม @มิวเซียมสยาม Knowledge Book Fair 2023

อ่านเต็มอิ่ม

นับเป็นกิจกรรมที่คุ้มค่า สำหรับงาน Knowledg Book Fair 2023 # เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม ที่จัดขึ้นเมื่อ 18-19 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ณ มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ สถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของกระทรวงพาณิชย์ ก่อนย้ายไปย่านสนามบินน้ำ

แม้จะเป็นงานหนังสือ แต่ก็ไม่ใช่งานหนังสือแบบทั่วไป เพราะสามารถสร้างกิมมิกและสีสันให้ผู้มาร่วมงานมีส่วนร่วมในทุก ๆ จุด กลายเป็นความสนุก น่าติดตาม เพลิดเพลินบันเทิงใจ ทั้งอิ่มอร่อย พร้อมด้วย “สาระ” และ “ความรู้” เมื่อมางานนี้งานเดียว ถือเป็นการสร้างความแตกต่าง และดึงความสนใจได้ตรงจุด

พลังการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ สนุกและเข้าถึงง่าย

Knowledge Book Fair เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักพิมพ์มติชน และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD, มิวเซียมสยาม, หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม, Spaceth.co, MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สมาคมป้ายยาหนังสือ, สมาคมการ์ตูนไทย, Sentangsedtee และศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC)

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร และภรรยา

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ OKMD ได้เดินทางมาพร้อมด้วยภรรยา ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวกับดีไลฟ์ ประชาชาติธุรกิจว่า กิจกรรมครั้งนี้ถือว่าดีมาก ตรงวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ทุกคนเข้าถึง และสนุกไปกับความรู้ที่หลากหลาย เพราะทุกสิ่งในโลกใบนี้ล้วนเชื่อมโยงถึงกันหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สถานที่ หนังสือ และองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ทุกมิติ

กระบวนการเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งอยู่ที่การสร้างความอยาก อยากให้รู้ อยากให้สัมผัส และอยากให้ทราบถึงเรื่องราวแบบเจาะลึก เทศกาล Knowledge Book Fair ก็เป็นการกระตุ้นความอยากในหลายรูปแบบหลายเรื่องให้เข้ากับการพัฒนาสมอง จะรู้ได้ลึกซึ้งและสนุกก็ต่อเมื่อสมองเปิด เทศกาลนี้ทำให้ผู้ร่วมงานได้พบกับผู้รู้ในหลายสาขาวิชา ทำให้การอยากรู้เพิ่มขึ้นไปอีก สถานที่ก็รื่นรมย์ ซึ่งเป็นส่วนช่วยทำให้สมองเปิดได้เช่นกัน

Advertisment

“การที่เราอยากรู้ไม่ใช่รู้เพื่อความบันเทิงเริงใจธรรมดา แต่เป็นความรู้ที่ต้องนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งมากขึ้น” ดร.ทวารัฐกล่าวทิ้งท้าย

ราเมศ พรหมเย็น
ราเมศ พรหมเย็น

ราเมศ พรหมเย็น รองผู้อำนวยการ OKMD และผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า โลกมีความรู้กระจายอยู่ทุกพื้นที่ ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น และการมาของ ChatGPT ทำให้กระบวนการค้นหาองค์ความรู้เป็นเรื่องที่ง่าย จึงเป็นโอกาสที่จะกระตุ้นให้เกิดทักษะการคิด วิเคราะห์ และคัดกรองมากขึ้นตาม

“มิวเซียมสยามสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับมติชน และพันธมิตรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตลอด กิจกรรมที่เกิดขึ้นถือเป็นการเปิดกว้างสร้างพลังอย่างมหาศาลที่ช่วยส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปมีความสนใจกับเรื่องการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น”

“ยิ่งสำนักพิมพ์มารวมตัวในงานนี้ถือเป็นความพิเศษเพราะมีหนังสือหายาก หนังสือที่เข้าถึงแก่น งานดี ๆ แบบนี้เกิดขึ้นไม่บ่อย ใครมาก็จะสัมผัสได้”

Advertisment
โตมร ศุขปรีชา
โตมร ศุขปรีชา

โตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการ สำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้แห่ง OKMD กล่าวว่า รู้สึกมีความสุข เมื่อสิ่งที่เราคิดและอยากทำมานานได้ทำสำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ที่ได้ร่วมหารือกัน เพื่อริเริ่มสร้างสรรค์สร้างกิจกรรมที่แตกต่างให้กับวงการหนังสือ

ปกติบ้านเราเมื่อมีงานหนังสือ เราจะเห็นงานหนังสือแบบทั่วไปเป็นส่วนใหญ่คือ ไม่ได้แยกว่า เป็นหนังสือประเภทไหน แต่ Knowledge Book Fair ที่ OKMD จัดร่วมกับเครือมติชน มิวเซียมสยาม และภาคีเครือข่าย ถือเป็นงานหนังสือที่มุ่งเน้นไปที่เรื่องของความรู้เป็นหลัก ที่ฝรั่งเรียกว่า Brainy Books

หนังสือประเภทนี้กำลังได้รับความนิยม หลายคนอาจบอกว่า สมัยนี้เราสามารถค้นคว้าหาข้อมูลได้ง่าย แต่ในทางกลับกันเรากลับพบว่า ความจริงในข้อมูลเป็นสิ่งที่มีค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเราไม่รู้ว่า ข้อมูลที่ได้มานั้นได้ถูกกลั่นกรองคัดสรรมามากน้อยแค่ไหน หนังสือคือความรู้ที่ผ่านการคัดกรองมาแล้ว ภายใต้กระบวนการโดยผู้รู้ ผู้เขียน และสำนักพิมพ์ ถ้าเป็นหนังสือแนวความรู้ยิ่งต้องพิถีพิถัน

ในโลกที่ข้อมูลหาง่าย ความจริงหายาก เราจึงต้องหันกลับมาเชื่อมั่นในหนังสือกันมากขึ้น และวิธีการจัดงานแฟร์ที่ไม่จำเป็นต้องเคร่งขรึมวิชาการจ๋าจัด แต่สามารถจัดกิจกรรมให้สนุก ๆ ได้เหมือนงานนี้

ธงทอง จันทรางศุ
ธงทอง จันทรางศุ

เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม เพิ่มอรรถรสด้วย “อาหารและดนตรี”

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม รวมทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางราชสำนัก พระราชพิธี และเป็นนักเขียนชื่อดัง กล่าวกับ “ดีไลฟ์ ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หนังสือในความรู้สึกของคนจำนวนหนึ่งอาจเป็นความรู้สึกที่แห้งแล้ง มีเพียงแค่หมึกที่อยู่บนกระดาษเท่านั้น แต่หากพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว “หนังสือ” มีลีลาและสีสันมากกว่าแค่น้ำหมึก

ไม่ว่าจะเป็นความรู้หรือเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่มีอิทธิพลมากก็จริง แต่หนังสือก็ยังคงมีเสน่ห์ และความหอมหวานในตัวเองอยู่ ซึ่งเป็นสื่อที่อยู่คู่กับเรามาช้านาน สะดวกกับการพกพา ไม่ต้องมีคลื่นหรือสัญญาณใด ๆ ก็สามารถใช้งานได้อ่านได้ทุกเมื่อ

การจัดงานบุ๊กแฟร์ในลักษณะนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้พบปะผู้คนและเป็นคนคอเดียวกัน ได้เเลกเปลี่ยนความคิดมีเวทีเสวนาตลอดทั้ง 2 วันที่จัดงาน ซึ่งประเด็นบนเวทียังไม่ได้ถูกนำไปเขียนหนังสือด้วยซ้ำ เท่ากับเป็นการจุดประกายความคิดให้เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องดี และควรสนับสนุน

นอกจากนี้ เทศกาลอ่านเต็มอิ่มยังถูกเพิ่มอรรถรสด้วย “อาหารและดนตรี” ทำให้การอ่านหนังสือมีสีสันมากขึ้นไปอีก สิ่งเหล่านี้ทำให้วิถีชีวิตของเรากลับมาเป็นปกติ หลังจากเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 มานานถึง 3 ปี

ตอนนี้เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้มาพบกับหนังสือปกใหม่ ๆ ที่น่าสนใจและหลากหลาย

เคยมีคนพูดว่า เด็กสมัยใหม่ไม่อ่านหนังสือ ซึ่งไม่จริง ดูจากงานเทศกาลนี้ ผู้คนที่มาเดินเที่ยว เดินซื้อหนังสือ ซื้อของกิน รวมถึงนักเขียนนักแปลผลงานต่าง ๆ ก็ต่างมาร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก เป็นข้อลบล้างได้อย่างดี ว่าคลื่นลูกใหม่ยังอยู่ในกระแสที่ให้ความสำคัญกับหนังสือ

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือนั้นมีจุดอ่อน แต่ก็มีคุณลักษณะบางประการที่เทคโนโลยีไม่อาจทดแทนได้ แค่อารมณ์ที่ได้พลิกอ่านทีละหน้า เอานิ้วคั่นระหว่างแผ่นกระดาษ คนเขียนได้กลั่นกรองความคิดผ่านทีละตัวอักษร สิ่งเหล่านี้ปัญญาประดิษฐ์ก็ไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้”

วัฒนา สิทธิไวทยาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM หนึ่งในพันธมิตรที่ร่วมสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ กล่าวว่า BEM ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ของคนไทยมาโดยตลอด ทั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นเองโดย BEM และการร่วมสนับสนุนจัดกิจกรรมกับพันธมิตรค่ายต่าง ๆ เช่น การจัดโครงการ MRT พาน้องพิชิต TCAS กิจกรรมติวเข้มก่อนเข้าสอบสำหรับเด็กมัธยมปลาย ที่สนับสนุนให้เกิดการฝึกทักษะและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับงาน Knowledge Book Fair เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม ที่มติชนจัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นอีกกิจกรรมที่ BEM ให้ความสำคัญ เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ เปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ถือเป็นเทศกาลที่เปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าร่วมงานได้อย่างทั่วถึง เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทำให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้มากขึ้น

เทศกาลนี้เต็มไปด้วยองค์ความรู้ที่หลากหลาย ทั้งเรื่องของหนังสือ เวิร์กช็อป การแสดงดนตรีสด มีร้านอาหารเจ้าอร่อย ๆ มาออกบูท ทำให้บรรยากาศงานคึกคักดีมาก