สำนักพิมพ์มติชน ชวนอ่าน 5 หนังสือไฮไลต์ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51

กลับมาอีกครั้งสำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 ซึ่งครั้งนี้สำนักพิมพ์มติชนก็ไม่พลาดที่จะยกขบวนหนังสือดีจากนักเขียนดังมาให้บรรดานักอ่านเลือกช็อปกันเต็มที่ โดยครั้งนี้สำนักพิมพ์มติชนมีหนังสือไฮไลต์ 5 เล่ม ที่ควรค่าแก่การอ่านมาแนะนำ ดังนี้

ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย

ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ฉบับปรับปรุงใหม่ (พิมพ์ครั้งที่ 14) เขียนโดย คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร วาดภาพปกโดย ตะวัน วัตุยา ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย เล่มนี้เป็นงานเขียนที่ผู้เขียนไล่เรียงกระแสความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติที่ค่อย ๆ ก่อรูปนับตั้งแต่ยุคก่อนกรุงเทพฯ จนกลายมาเป็นไทยสมัยใหม่ได้ในปัจจุบัน ย้อนรอยภูมิหลัง เรื่องราวของเราในยุคหลังในมิติต่าง ๆ ทั้งเชิงสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง มีผลสืบเนื่องจนเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นลำดับ

หนังสือเล่มนี้มิได้อัดแน่นไปด้วยข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์เท่านั้น หากแต่ยังนำเสนอวิธีการอ่านประวัติศาสตร์ผ่าน “รัฐชาติ” ได้อย่างลุ่มลึก จึงมีคุณูปการอย่างสูงต่อการทำความเข้าใจความขัดแย้งทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองซึ่งดำรงอยู่ในปัจจุบัน จึงถือเป็น “a must read” สำหรับนักอ่านที่สนใจประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยทุกคน

โดยครั้งนี้เป็นการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาตลอดเล่มให้สอดคล้องกับ A History of Thailand (2014) ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 4 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ เป็นฉบับปรับปรุงเนื้อหาใหม่ทั้งเล่ม จาก A History of Thailand (4th Edition, Cambridge University Press) มีการเพิ่มเนื้อหาครอบคลุมการเมืองไทยปัจจุบัน โดยจุดเน้นที่น่าสนใจและน่าหยิบยกมาสื่อสารผ่านปกคือ บทที่ 10 ที่เล่าถึงเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2548-2564

โดยเฉพาะการลุกขึ้นมาส่งเสียงของเหล่านักเรียน เยาวชน ผ่านแฟลชม็อบและม็อบทั่วทุกหนแห่งในประเทศไทย ตั้งแต่ระดับโรงเรียนจนถึงการเมืองระดับประเทศที่สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่และส่งสัญญาณว่าจากนี้สังคมไทยจะไม่มีวันเหมือนเดิม

อีกทั้งยังเป็นหนังสือที่จะพาไปสำรวจ ถกถาม ทบทวน เส้นทางการเมืองไทยร่วมสมัย เพื่อร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในสนามการเมืองการเลือกตั้ง

ทาสไท(ย)

ทาสไท(ย) : อำนาจ ความกรุณา และปิยมหาราชในภาพจำ เขียนโดย ญาณินี ไพทยวัฒน์ จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ ไม่ได้เน้นที่การเล่าประวัติศาสตร์เรื่องทาสหรือการเลิกทาสในสังคมไทย แต่ต้องการฉายภาพให้เห็น “วาทกรรม” เรื่องพระราชกรณียกิจเลิกทาสของรัชกาลที่ 5 ว่าถูกผลิตซ้ำออกมาผ่านรูปแบบใดบ้างในแต่ละยุค นับจากหลังการเลิกทาสใน พ.ศ. 2448 กระทั่งทศวรรษ 2540 ที่เข้าสู่ช่วงครบรอบ 1 ศตวรรษการเลิกทาสไทย

“อำนาจ” “ความกรุณา” และ “ภาพจำ” คือคีย์เวิร์ดสำคัญที่ใช้อธิบายแกนหลักของเนื้อหาได้อย่างครอบคลุม วาทกรรมทาสไทยที่แสดงออกถึงความกรุณาของรัชกาลที่ 5 ก่อเกิดขึ้นจนกลายเป็นภาพจำในสังคมไทยได้จนถึงทุกวันนี้ ต้นทางความคิดมาจากรัฐและชนชั้นนำที่ได้ใช้อำนาจขีดเขียนเรื่องราวขึ้นมา

รวมถึงคำนิยมเล่มนี้เขียนโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญทั้งประวัติศาสตร์ทาสของไทยและสหรัฐอเมริกา

แด่ทุกต้นกล้าความฝันฯ

แด่ทุกต้นกล้าความฝัน : ประวัติศาสตร์ กรณีศึกษา และเส้นทางการต่อสู้สู่รัฐสวัสดิการ เขียนโดย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ ผู้เขียนเป็นนักคิด-นักวิชาการรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง และผลิตผลงานวิชาการจนเป็นที่รู้จักในแวดวงวิชาการด้านสังคมศาสตร์และแวดวงการเมืองคนรุ่นใหม่

ประเด็นเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรัฐ สังคม และการออกแบบสังคมเพื่อความเท่าเทียม ซึ่งเป็นประเด็นการเมืองร่วมสมัยที่สนทนากับสังคมในหลากมิติ รวมถึงการเมืองการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาใน พ.ศ. 2566

อีกทั้งเป็นงานวิชาการที่ผสมผสานมิติการเล่าเรื่อง อารมณ์ความรู้สึก การชวนตั้งคำถาม ที่มาพร้อมเนื้อหาเข้มข้น แต่ร้อยเรียงอย่างอ่านง่าย ให้ความรู้สึกในการอ่านงานวิชาการในมิติที่แตกต่าง

The Last Mughal

The Last Mughal – เมื่อบัลลังก์ล่ม เดลีร้าง เขียนโดย William Dalrymple และแปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาส หนังสือเล่มนี้เล่าถึงประวัติศาสตร์ของอินเดีย เป็นเหตุการณ์ก่อนราชวงศ์โมกุลล่มสลาย ที่อังกฤษยึดอินเดีย ล้มราชวงศ์โมกุลและเนรเทศกษัตริย์บะห์ดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 พระราชินีและรัชทายาทให้เสด็จประทับที่ย่างกุ้งในฐานะ “นักโทษ” ตราบจนเสด็จสวรรคต

โดย William Dalrymple ได้เรียงร้อยข้อมูลเหตุการณ์กบฏซีปอยใน ค.ศ. 1857 ที่นำไปสู่การสิ้นราชวงศ์โมกุล ควบคู่ไปกับความสำเริงสำราญและความเหลวแหลกของราชสำนักตราบจนวาระสุดท้ายของกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของอินเดียอย่างน่าสนใจ เป็นหนังสือที่ได้รับการยอมรับและชื่นชมอย่างกว้างขวางในหลากหลายแวดวง

ทั้งนักเขียน นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการ ทั้งในอินเดียและต่างชาติ ทั้งนี้ ผู้เขียนใช้ข้อมูลชั้นต้นทั้งจากบันทึกราชสำนัก บันทึกของฝ่ายกบฏและฝ่ายอังกฤษ

ขณะที่งานแปลฉบับภาษาไทย สุภัตรา ภูมิประภาส ได้ใช้ภาษาสำนวนละเมียด อ่านสนุก เข้มข้น พร้อมภาพประกอบหลากสีภายในเล่ม

ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน(ไทย)นิยม

Capitalism Magic Thailand : Modernity with Enchantment เทวา มนตรา คาถา เกจิ : ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน(ไทย)นิยม เขียนโดย Peter A. Jackson และแปลโดย วิราวรรณ นฤปิติ

ในโลกสมัยใหม่ที่ความเชื่อถูกมองว่าเป็นเศษซากของอดีต เป็นความงมงายและล้าหลัง ทว่าการบูชาพระเครื่อง การกราบไหว้ขอเงินขอทอง การไปหาร่างทรง การอุปถัมภ์เกจิอาจารย์ที่บำเพ็ญเพียรแก่กล้า และอีกสารพัดพิธีกรรมกลับเฟื่องฟูขึ้นสวนทางกับยุคแห่งเทคโนโลยีและความก้าวหน้า

โดยผู้เขียนจะชวนผู้อ่านสำรวจความเชื่อท่ามกลางสื่อสมัยใหม่แลทุน(ไทย)นิยม ที่ช่วยขับเน้นจนเกิดเป็นการบูชาความมั่งคั่งผ่านสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลากหลายรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย การมูเตลู การบูชาพระเครื่อง การกราบไหว้ขอเงินขอทอง การไปหาร่างทรง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่คือความเชื่อและพิธีกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย

ในหนังสือเล่มนี้ศึกษาเกี่ยวกับ “ลัทธิความมั่งคั่ง (cults of wealth)” ที่แผ่ขยายในประเทศไทย ลัทธินี้เชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของการเช่าพระเครื่อง การไปหาคนทรง และการอุปถัมภ์พระอริยสงฆ์ที่บำเพ็ญเพียรแก่กล้า ผู้เขียนอธิบายว่า กระบวนการเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยไปสู่สังคมที่มีลักษณะความเป็นเมือง ความเป็นโลกาภิวัตน์ และความเป็นทุนนิยม

นี่คือยุคของ “ทุนนิยมมหัศจรรย์” ซึ่งตลาดศาสนาถูกกำหนดให้ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เขียนแสดงให้เราเห็นถึงการยอมรับและปรับตัวของความเชื่อกับโลกสมัยใหม่ที่โดดเด่นของประเทศไทย

สำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 ซึ่งจัดที่ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม-9 เมษายน 2566 โดยสำนักพิมพ์มติชนตั้งอยู่ที่บูท M49