หลินฮุ่ย ทูตสันถวไมตรี (เครื่องมือ) เชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน

หลินฮุ่ย
ภาพจากเฟซบุ๊ก สวนสัตว์เชียงใหม่

อาลัย “หลินฮุ่ย” ทูตสันถวไมตรีระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมย้อนดูการนำแพนด้ามาใช้ประโยชน์ในทางการเมือง

จากกรณี “หลินฮุ่ย” แพนด้าเพศเมียที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เสียชีวิตในวัย 21 ปี สร้างความโศกเศร้าให้กับแฟนคลับของหลินฮุ่ยและคนรักสัตว์ไม่น้อย เนื่องจากหลินฮุ่ยเป็นแพนด้าแสนน่ารักที่อยู่คู่สวนสัตว์เชียงใหม่มานานเกือบ 20 ปี และมีช่วงหนึ่งที่กระแสของหลินฮุ่ยและครอบครัวอย่างช่วง ช่วง กับหลินปิงได้รับความสนใจอย่างมาก จนหลายคนแห่แหนกันไปที่สวนสัตว์เชียงใหม่เพื่อชมความน่ารักของแพนด้า

โดยหลินฮุ่ยเกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์วู่หลง เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน และถูกส่งมาอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2546 เพื่อเป็น “ทูตสันถวไมตรีระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน”

ทั้งนี้ หลินฮุ่ยมีชื่อไทยว่า “เทวี” และมีชื่อล้านนาว่า “คำเอื้อง”

บางคนอาจทราบอยู่แล้วว่าทางการจีนส่ง “หลินฮุ่ย” มาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับไทย แต่รู้หรือไม่ว่า “แพนด้า” ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองด้านการทูตตั้งแต่เมื่อไหร่ ?

ภาพจากเว็บไซต์ สวนสัตว์เชียงใหม่

จีนนำแพนด้ามาใช้ประโยชน์ในทางการเมืองด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน ในสมัยบูเช็กเทียน ราวปี 625-705 (พ.ศ. 1168-1248) จีนส่งแพนด้าคู่หนึ่งไปที่ญี่ปุ่น ต่อมาจีนก็ได้ส่งไปยังประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

Diana Usurelu คอลัมนิสต์จากสื่อในเบอร์ลิน เผยว่า ตั้งแต่ปี 1958-1982 (พ.ศ. 2501-2525) จีนส่งมอบแพนด้าเป็น “ของขวัญ” ให้กับ 9 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, รัสเซีย (สหภาพโซเวียต) และอีกหลายประเทศ ซึ่งล้วนเป็นประเทศมหาอำนาจ ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นมาจากในปลายยุค 50s จีนส่งมอบแพนด้าให้กับสวนสัตว์มอสโก

ต่อมาในปี 1972 (พ.ศ. 2515) ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางไปเยือนจีนเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับประเทศคอมมิวนิสต์ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นมากขึ้น ซึ่งจีนตอบรับด้วยการส่งมอบแพนด้า 2 ตัวไปให้สวนสัตว์ในวอชิงตัน ดี.ซี. ขณะที่สหรัฐส่งชะมดวัว (musk oxen) ไปตอบแทน

แต่แล้วในช่วงต้นยุคทศวรรษ 1980s จีนระงับการส่งแพนด้าไปเป็นของขวัญแก่นานาประเทศ เนื่องจากจำนวนแพนด้าลดน้อยลงอย่างมาก จึงเปลี่ยนนโยบายมาเป็นให้ “ยืม” แพนด้าแทน โดยมีระยะเวลาให้ยืม 10 ปี และมีการพิจารณาต่อสัญญากันเป็นวาระ

ทั้งนี้ ปี 2560 MICHELE DEBCZAK ระบุว่า จำนวนแพนด้าทั่วโลกอยู่ที่ 1,800 ตัว ขณะที่สื่อในสหรัฐเผยว่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกจ่ายเงินประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้จีนเป็นค่าตอบแทนในการยืมแพนด้ามาไว้ในประเทศตัวเอง และหากพวกมันมีลูกก็จะต้องจ่ายเพิ่มตัวละ 4 แสนดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ลูกของพวกมันก็ยังถือว่าเป็นสมบัติของจีนอยู่

สำหรับประเทศไทย บีบีซีไทยระบุว่า ในปี 2544 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปราชการที่จีน และเจรจาขอหมีแพนด้าจากประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลจีนยินดีมอบหมีแพนด้า 1 คู่ให้ไทย

หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม 2544 ไทยก็เริ่มมีการเตรียมความพร้อม มีการแจ้งให้คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ และมอบให้องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เตรียมการจัดสร้างส่วนวิจัยและจัดแสดง

โดยเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสวนสัตว์เชียงใหม่ระบุว่า “คณะรัฐมนตรี (ในเวลานั้น-กองบรรณาธิการ) มีมติรับทราบ และมอบหมายให้องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประสานงานเพื่อเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ซึ่งต่อมามีการประชุมและดำเนินการ ภายใต้โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย

โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2545 จากงบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นจำนวน 39,818,313 บาท เป็นค่าก่อสร้างส่วนวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้า และมอบหมายให้กองพลทหารช่าง ค่ายภาณุรังสี จังหวัดราชบุรี เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างในระยะเวลา 210 วัน”

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2546 จีนได้ส่งแพนด้า 1 คู่ โดยเป็นเพศชายชื่อช่วง ช่วง เพศหญิงชื่อหลินฮุ่ย มายังท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ในสถานะทูตกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างไทย-จีน ด้วยเที่ยวบินพิเศษของการบินไทย ที่มีชื่อเที่ยวบินว่า “เรารักแพนด้า”

ช่วงช่วง-หลินฮุ่ย
ภาพจากเว็บไซต์ สวนสัตว์เชียงใหม่

แพนด้าคู่นี้ได้รับความนิยมจากชาวไทยอย่างมาก ถึงขั้นผู้ให้บริการ “ทรูวิชั่นส์” เปิดช่องถ่ายทอดความเคลื่อนไหวของแพนด้าแบบ 24 ชั่วโมง โดยเริ่มออกอากาศในช่วงปลายปี 2552-2555 รวมระยะเวลา 3 ปี

ต่อมาหลินฮุ่ยให้กำเนิดลูกแพนด้า เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 ซึ่งเกิดจากการผสมเทียม และเปิดให้เสนอชื่อลูกแพนด้า จนในที่สุดได้ชื่อว่า “หลินปิง”

จากนั้นหลินปิง ถูกส่งกลับไปที่จีนเมื่อปี 2556 และได้ตกลูกแฝดคู่หนึ่ง เป็นเพศเมียทั้ง 2 ตัว ในปี 2558 และตกลูกแฝดครั้งที่ 2 ในปี 2560 เป็นเพศผู้และเพศเมีย รวมแล้วหลินปิงมีลูก 4 ตัว

ส่วนช่วง ช่วงนั้น ตายไปตั้งแต่ปี 2562 โดยเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ และทีมสัตวแพทย์ ชี้แจงเหตุการณ์ว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 เจ้าหน้าที่เลี้ยงอาหารช่วง ช่วงตามปกติในเวลาประมาณ 15.00 น.

ต่อมาเวลาประมาณ 16.28 น. ช่วง ช่วงลุกขึ้นเดิน และมีอาการเดินเซไปมา สะบัดคอ ก่อนล้มลงภายในส่วนจัดแสดงและไม่ลุกขึ้นมาอีก ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือ แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้

ทั้งนี้ หลังจากช่วง ช่วงตายลง ได้เกิดกระแสทวงคืนแพนด้าหลินฮุ่ยขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ในจีน

หลินฮุ่ย
ภาพจากเฟซบุ๊ก สวนสัตว์เชียงใหม่

ก่อนที่ทุกคนจะได้รับแจ้งข่าวการจากไปของหลินฮุ่ยในช่วงสายวันนี้ (19 เม.ย. 2566) เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ส่วนจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมฉลองครบรอบวันคล้ายวันเกิด 21 ปี ให้กับหลินฮุ่ย โดยมีทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนแฟนคลับร่วมร้องเพลง Happy Birthday และอวยพรวันเกิด

นอกจากนี้ หลินฮุ่ยเคยได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองแดง ประเภทแพนด้าบุคลิกภาพยอดเยี่ยม จากการโหวตของแฟนคลับทั่วโลกผ่านเว็บไซต์ Giant Panda Zoo.com

ทั้งนี้ ตามสัญญาเดิมแล้ว ไทยต้องคืนแพนด้าให้กับจีนในปี 2556 ตามสัญญา 10 ปี แต่มีการต่อสัญญารอบใหม่อีก 10 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556-ตุลาคม 2566

หลินฮุ่ย
ภาพจากเฟซบุ๊ก สวนสัตว์เชียงใหม่

อ้างอิง

“ยุคแห่ง ‘แพนด้า’ ในไทย จากการทูตสมัย พล.อ.ชวลิต ถึงกระแสฮิตช่วง ช่วง-หลินฮุ่ย-หลินปิง” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่ 19 กรกฎาคม 2564 เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 <https://www.silpa-mag.com/history/article_71573>

“ช่วง ช่วง : 4 เรื่องน่าจดจำของแพนด้าช่วง ช่วง” บีบีซีไทย เผยแพร่ 17 กันยายน 2562 เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 <https://www.bbc.com/thai/thailand-49724201>

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง