ประชุมไข้เลือดออกเอเชียครั้งที่ 6 ผนึกคนรุ่นใหม่ยุติการระบาด สู่เป้าหมายยุติการเสียชีวิต

ประชุมไข้เลือดออกเอเชีย

ไข้เลือดออกยังคงเป็นหนึ่งโรคระบาดจากยุงที่ระบาดได้ไวและพบมากในหลายประเทศทั่วโลก ในแต่ละปี มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกประมาณ 400 ล้านคน และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 60,000 คน จึงเป็นหนึ่งโรคที่นานาชาติพยายามร่วมมือหาแนวทางป้องกันและควบคุมการระบาด พร้อมมุ่งหน้าสู่การยุติการเสียชีวิตจากไข้เลือดออกให้ได้ภายในปี 2030  

เนื่องในวันไข้เลือดออกโลก 15 มิถุนายนปีนี้ “The Asia Dengue Voice & Action Group” (ADVA) คณะทำงานเชิงวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนเกี่ยวกับการพัฒนาและวิจัยวัคซีนเพื่อป้องกันไข้เลือดออกในภูมิภาคเอเชีย ผนึกกำลังกับคลัสเตอร์วิจัยโรคเขตร้อน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถานเสาวภา สภากาชาดไทย, คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล, กระทรวงสาธารณสุข, International Society for Neglected Tropical Diseases (ISNTD) และองค์กรทางการแพทย์อื่น ๆ อีกมากมาย จัด “งานประชุมไข้เลือดออกแห่งเอเชียครั้งที่ 6” เมื่อวันที่ 15-16 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมมณเฑียร สุรวงศ์ กรุงเทพมหานคร

งานนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านไข้เลือดออก ทั้งบุคลากรทางการแพย์ นักวิจัย ผู้นำด้านสาธารณสุข และผู้มีส่วนกำหนดนโยบายกว่า 450 คนจาก 23 ประเทศ เข้าร่วม และมีนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดการประชุม 

 

ยุติการเสียชีวิตจากไข้เลือดออกภายในปี 2030

การประชุมไข้เลือดออกแห่งเอเชียครั้งที่ 6 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Roadmap to Zero Dengue Death” โดยผู้เชี่ยวชาญจะร่วมกันอภิปรายในประเด็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรคไข้เลือดออก ตลอดจนนำเสนอแนวทางที่จะช่วยป้องกันและควบคุมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ศาสตราจารย์อุษา ทิสยากร คณะกรรมการอำนวยการ ADVA ประธานจัดการประชุมและผู้อำนวยการบริหาร คลัสเตอร์วิจัยโรคเขตร้อน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไข้เลือดออกเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขและให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะเป็นโรคที่มีมานานแล้ว แต่ไข้เลือดออกยังคงเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกกลุ่มประชากร ทุกช่วงวัยทั่วโลก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในหลาย ๆ ประเทศ

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกที่จะยุติการเสียชีวิตจากไข้เลือดออกภายในปี 2030 ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงสำคัญที่จะช่วยให้เราเดินทางไปถึงเป้าหมายนี้ได้” ศาสตราจารย์อุษากล่าว

ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกี (ไวรัสที่ทำให้เป็นโรคไข้เลือดออก) กว่า 390 ล้านรายต่อปี ทำให้ไข้เลือดออกยังคงเป็นหนึ่งโรคระบาดจากยุงที่ระบาดได้ไวและพบมากที่สุดระหว่างปี 2015-2019 

สำหรับภูมิภาคอาเซียนพบอัตราการติดเชื้อไวรัสเดงกีเพิ่มมากขึ้นกว่า 46% โดยพบมากที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย เมียนมา และประเทศไทย

ทั้งนี้ เพื่อตระหนักถึงการระบาดของโรคไข้เลือดออก เมื่อปี 2021 องค์กร ISNTD และ ADVA ได้ร่วมกันยกระดับวันไข้เลือดออกอาเซียน และประกาศจัดตั้งวันไข้เลือดออกโลกขึ้น เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ในระดับโลก เป็นหมุดหมายในการร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล แนวทางการป้องกัน ควบคุม วิจัยวัคซีน และเตรียมความพร้อมของประชาคมโลกให้พร้อมรับมือกับการระบาดของไข้เลือดออกเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน นำไปสู่การยุติอัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกและบริหารจัดการโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ผนึกกำลังคนรุ่นใหม่ป้องกันไข้เลือดออก

ADVA มีภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ให้เล็งเห็นความสำคัญในการยุติการติดเชื้อไข้เลือดออก จึงเกิดเป็น “Next Generations of Dengue Advocates” โครงการนำร่องที่นำเยาวชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก และทดลองกิจกรรมที่ “โรงเรียน Newton Sixth Form” โดยให้นักเรียนทำการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกในมิติที่ตนเองสนใจและนำเสนอผลการค้นคว้า

รศ.นพ.โอฬาร พรหมาลิขิต คณะกรรมการจัดงานประชุมไข้เลือดออกแห่งเอเชียครั้งที่ 6 กล่าวว่า โครงการ Next Generations of Dengue Advocates มีการริเริ่มแนวคิดมาตั้งแต่การประชุมไข้เลือดออกแห่งเอเชียครั้งที่ 5 และได้เริ่มทำโครงการจนสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทยสำหรับการประชุมครั้งนี้พอดี เวทีการประชุมครั้งนี้จึงเปิดโอกาสให้นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกการนำเสนอผลงาน ได้มาเป็น speaker ในงานประชุมระดับภูมิภาค 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แม้จะเป็นหัวข้อเดียวกัน แต่ข้อมูลที่นำเสนอนั้นแตกต่างกัน บางคนนำเสนอในด้านระบาดวิทยา บางคนนำเสนอในด้านวิธีการป้องกัน หรือแคมเปญสร้างความตระหนักรู้

โครงการนี้ไม่ใช่การแข่งขัน แต่เป็นการเพิ่มความตระหนักรู้ในกลุ่มเด็กนักเรียนซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อและเตรียมความพร้อมให้นักเรียนเป็น “Change Actor” ในอนาคต 

นอกจากนี้ การป้องกันโรคโรคหนึ่งไม่ได้มีแต่แพทย์เท่านั้นที่ต้องทำ แต่ยังต้องการคนจากหลายอาชีพหลายความเชี่ยวชาญจึงจะสามารถป้องกันและควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ว่าเด็กนักเรียนเหล่านั้นไม่ได้เป็นหมอ แต่ก็ช่วยเรื่องการประชาสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดีผ่านการใช้โซเชียลมีเดียหรือเป็นอาสาสมัคร แต่หากเป็นระดับนักเรียนแพทย์ การทำงานก็จะลงลึกได้มากขึ้น เช่น ช่วยอาจารย์หาแนวทางใหม่ ๆ ในการวิจัยและป้องกันโรค และถ้าเป็นแพทย์แล้วการวินิจฉัยโรคและดูแลผู้ป่วยก็เป็นบทบาทที่สำคัญที่สุด

“สำหรับแผนการต่อยอดโครงการในอนาคต เราหวังว่าโครงการนี้ จะได้รับการขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ทั้งในประเทศไทยและประเทศที่เป็นภาคีเครือข่ายของเรา เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างมากยิ่งขึ้น” รศ.นพ.โอฬารกล่าว

ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการโรงเรียน Newton Sixth Form เสริมว่า เหตุผลของการนำเยาวชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลายอย่างเริ่มจากเด็กง่ายกว่า เด็กมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดของพ่อแม่ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการฝึกให้เยาวชนตระหนักรู้ถึงความสำคัญด้านสุขภาพจนเป็นนิสัย จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวและเกิดความยั่งยืน

 

ทำไมต้องผลักดันเรื่องไข้เลือดออก 

รศ.นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์ ประธานร่วมคณะกรรมการจัดการประชุมไข้เลือดออกแห่งเอเชีย ครั้งที่ 6 และผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านเวชบำบัดวิกฤติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า เด็กในวัยเรียนเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสเดงกี่เช่นกัน โครงการนี้จึงมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เด็กรู้จักป้องกันตัวเอง

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปัจจุบัน ทั่วโลกพบอัตรการติดเชื้ออยู่ที่ 400 ล้านคนต่อปี และพบอัตราการเสียชีวิตประมาณ 60,000 คนต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ตัวเลขดังกล่าวจะลดลงบ้างช่วงโควิดแต่หลังจากนั้นก็ยังกังวลว่าตัวเลขเหล่านี้อาจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

กลุ่มอายุของผู้ติดเชื้อก็มีการเปลี่ยนแปลง โดยพบการติดเชื้อในผู้ใหญ่มากขึ้น อาจเพราะความตระหนักรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกในกลุ่มเด็กนั้นดีมากขึ้นแล้ว แต่ในกลุ่มผู้ใหญ่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าผู้ใหญ่ก็ติดเชื้อได้และควรมาพบแพทย์โดยเร็ว

แม้ว่าจะยังมีการเสียชีวิตอยู่ แต่แนวโน้มเป็นไปในทางทางที่ดี สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือการรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง 

รศ.นพ.โอฬารเสริมว่า ไข้เลือดออกเป็นภัยทางสาธารณสุขที่คุกคามไปทั่วโลก เดิมพบแค่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และอเมริกาใต้ แต่ปัจจุบันไข้เลือดออกได้แพร่ไปทั่วโลก เกิดการเจ็บป่วยรุนแรงจนถึงเสียชีวิต ทำให้สูญเสียทรัพยากรและงบประมาณในการรักษาเป็นอย่างมาก