ตรุษจีน 2567 วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว ตรงกับวันไหน วิธีไหว้และสิ่งไม่ควรทำ

ตรุษจีน
AFP

เทศกาลตรุษจีน 2567 วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว ตรงกับวันไหน ของไหว้เทพเจ้า บรรพบุรุษต้องใช้อะไรบ้าง และข้อห้ามที่ไม่ควรทำในวันขึ้นปีใหม่

ตรุษจีน ถือเป็นเทศกาลสําคัญของทั้งคนจีนแผ่นดินใหญ่ คนไทยเชื้อสายจีน และคนจีนทั่วโลก สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ระบุว่า “ตรุษ” หมายถึง เทศกาลเนื่องในการสิ้นปี ซึ่งกำหนดตามจันทรคติ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4

คำว่า ตรุษ มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า แตก ขาด หรือ ทำให้ขาด จึงหมายถึงการตัดขาดจากปีเก่าเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ โดยปัจจุบัน คำว่า ตรุษ อาจใช้ในความหมายว่า เทศกาล หรือช่วงเวลาที่กำหนดไว้เพื่อการรื่นเริงตามประเพณี เช่น ตรุษจีนเป็นเทศกาลฉลองวันขึ้นปีใหม่ของจีน เป็นต้น

เทศกาลตรุษจีน ได้ถือเอาความหมายของวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ ช่วงนี้พืชพรรณเริ่มผลิดอกออกใบ อากาศกำลังมีความสดชื่น ไม่หนาวหรือร้อนจนเกินไป เหมาะสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ คนจีนจึงถือเอาวันนี้เริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ หรือที่เรียกกันว่า “วันชิวอิก” ซึ่งจะอยู่ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม หรือเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยเทศกาลตรุษจีน แบ่งออกเป็น 3 วัน ได้แก่

“วันจ่าย” หรือ วันก่อนสิ้นปี ซึ่งตรงกับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นวันแรกของเทศกาลตรุษจีน สมาชิกในครอบครัวจะไปจับจ่ายซื้อของ ตลอดจนวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบพิธีไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษในวันถัดไป

“วันไหว้” หรือ วันสิ้นปี ซึ่งตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นวันที่ลูกหลานและสมาชิกในครอบครัวรวมตัวกันไหว้เทพเจ้า รวมถึงไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

“วันเที่ยว” หรือ วันขึ้นปีใหม่ (วันชิวอิก) ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นวันที่ทุกคนจะออกไปเที่ยว ถือโอกาสเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ ซึ่งวันเที่ยวก็จะมาพร้อมเคล็ดหรือข้อห้ามต่าง ๆ ที่เชื่อกันว่าไม่ควรทำในวันนี้ ประกอบไปด้วย

  • ห้ามทํางานบ้าน ห้ามปัดกวาดเช็ดถูบ้าน เนื่องจากจะถือเป็นการปัดไล่ความโชคดีออกไป ดังนั้นควรทําความสะอาดบ้านก่อนที่วันปีใหม่
  • ห้ามสระผม เพราะการสระผมเป็นการชะล้างความโชคดี เช่นเดียวกับการทําความสะอาด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคม ไม่ว่าจะเป็นกรรไกร มีด ที่ตัดเล็บ เพราะเชื่อกันว่าเป็นการตัดสิ่งที่ดี หรืออนาคตที่ดีออกไป
  • หลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาท ไม่พูดคําหยาบ หรือคำที่มีความหมายในทางลบ เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย หรือความเป็นความตาย
  • ห้ามซุ่มซ่าม หรือทําสิ่งของตกแตก ถือเป็นการทําให้หน้าที่การงานสะดุด หรือนําความโชคร้ายมาในอนาคต
  • ห้ามใส่เสื้อผ้าชุดเก่า ต้องใส่เสื้อผ้าชุดใหม่เป็นสีแดงซึ่งเป็นสีมงคล

สำหรับของไหว้ที่ใช้ในเทศกาลตรุษจีนมีด้วยกันหลากหลาย ประกอบด้วย อุปกรณ์ต่าง ๆ อาหาร ขนม และผลไม้ ซึ่งล้วนเป็นของที่มีความหมายมงคลทั้งสิ้น

อุปกรณ์ไหว้วันตรุษจีน

  • เทียนแดงขาไม้ จํานวน 1 คู่ เพื่อบูชาเทพเจ้าและบรรพบุรุษ
  • ธูป 5 ดอก สําหรับไหว้เทพเจ้า, 3 ดอก สำหรับบรรพบุรุษที่เสียชีวิตนานแล้ว และ 1 ดอก สำหรับบรรพบุรุษที่เพิ่งเสียชีวิต
  • ประทัด ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและสิ่งอัปมงคลให้ออกไป
  • กระดาษเงินกระดาษทอง หรือ “อ่วงแซจิ่ว” เป็นกระดาษสีเหลืองเขียนด้วยตัวอักษรจีนสีแดง เป็นใบเบิกทางไปสู่สวรรค์ ดังนั้น ต้องเผาเป็นอันดับแรก
  • แบงก์กงเต็ก
  • กิมเตี๊ยว แท่งทองที่ใช้ไหว้บรรพบุรุษ

อาหารไหว้ตรุษจีน

  • สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “ซาแซ” และ “โหงวแซ”
  • ซาแซ คือการไหว้ 3 อย่าง ประกอบด้วย หมู ไก่ และเป็ด
  • โหงวแซ คือการไหว้ 5 อย่าง ประกอบด้วย หมู ไก่ เป็ด ปลา และตับ
  • เครื่องดื่ม น้ำชาหรือเหล้า จํานวน 5 จอก หรือ 5 ถ้วย

ขนมไหว้ตรุษจีน

  • ต้องจัดจํานวนให้ตามของของคาวที่ไหว้ ซาแซ จะจัดขนมไหว้ 3 อย่าง และโหงวแซ จะจัดขนมไหว้ 5 อย่าง
  • ขนมเข่ง และ ขนมเทียน หมายถึง ชีวิตราบรื่น
  • ซาลาเปา หมายถึง การห่อโชคห่อลาภ
  • ขนมไข่ หมายถึง การเจริญเติบโต
  • ขนมสาลี่ และ ขนมถ้วยฟู หมายถึง ความเจริญรุ่งเรื่อ
  • จันอับ หรือ ขนมแห้ง 5 อย่าง ได้แก่ ถั่วเคลือบ ถั่วตัด งาตัด ข้าวพอง และฟักเชื่อม หมายถึง ความหวานที่เพิ่มพูน ความเจริญงอกงาม มีความสุขตลอดปี

ผลไม้ไหว้ตรุษจีน

  • ส่วนใหญ่จะเตรียม 5 อย่าง ที่มีความหมายมงคล
  • ส้ม หมายถึง โชคลาภ
  • กล้วย หมายถึง กวักโชคกวักลาภเข้ามา, ลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง
  • องุ่น หมายถึง ความเจริญงอกงาม
  • สับปะรด หมายถึง เรียกโชคลาภเข้าตัว
  • สาลี่ หมายถึง ความราบรื่น และสิ่งที่ดีงามมาถึง
  • แอปเปิล หมายถึง ความสงบสุข สันติสุข

ข้อมูลจาก 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง