เลือกอาหารอย่างไรให้เหมาะกับสัตว์เลี้ยง เลขทะเบียนอาหารสัตว์สำคัญ

รู้เทคนิคการเลือกอาหารให้เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยง สัตวแพทย์แนะวิธีดูเลขทะเบียนอาหารสัตว์ ชี้มีความสำคัญมาก

วันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ MCC Hall ชั้น 3 เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ ภายในงาน “Pet Healthcare 2024 มหกรรมสุขภาพสัตว์เลี้ยงครั้งแรกในประเทศไทย” ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่โดยเครือมติชน ยกทัพ 20 รายการตรวจ-วัคซีน-ฝังไมโครชิป-กรูมมิ่ง ฟรีกว่า 500 เคสต่อวัน ตลอด 4 วันเต็ม พร้อมอัดแน่น 19 เวทีทอล์ก 16 เวิร์กช็อป และทัพสินค้ามากกว่า 100 ร้านค้า ตั้งแต่วันนี้-31 มีนาคม 2567

สำหรับเวทีเสวนาในเวลา 16.00 น. รศ.นสพ.ดร.อรรถวิทย์ โกวิทวที คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมพูดคุยและให้ความรู้ในหัวข้อ “เทคนิคการเลือกอาหารให้เหมาะสมกับช่วงวัยในสัตว์เลี้ยง”

เรื่องกิน เรื่องใกล้ตัว

รศ.นสพ.ดร.อรรถวิทย์กล่าวว่า อาหารเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก เพราะเรากินอาหารทุกวัน ไอเดียของคนและสัตว์ก็มีความใกล้เคียงกัน สำคัญที่สุดคือการเลือกอาหารน้องหมา-น้องแมว เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ควบคุม เพราะฉะนั้นอาหารทุกอย่างที่เข้าไปในปากต้องมีทะเบียนอาหารสัตว์ เวลาเลือกซื้ออาหารหมา-เเมว ต้องมีเลขทะเบียนก่อนเป็นอันดับแรก

เรื่องถัดมา ถ้าถามว่าอาหารนั้น ๆ เหมาะสมหรือไม่ สามารถเเบ่งได้ 2 อย่าง คือ อาหารที่ใช้ได้สำหรับทุกอย่าง และอาหารเฉพาะตัว

“ถ้าเจาะเลือด แล้วมาดูค่าเลือด ดูแลเฉพาะ หาอาหารที่เหมาะสมโดยเฉพาะ มันจะดีกว่าอาหารทั่วไปหรือไม่ แต่ในความจริงใครจะทำอาหารเฉพาะตัว ในปัจจุบันก็มีเฉพาะสายพันธุ์ เฉพาะอายุ ซึ่งช่วยได้ในระดับหนึ่งแล้ว”

ดังนั้น ต้องถามว่าความต้องการทางโภชนาการของสัตว์มีอะไรบ้าง ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ อายุ อาการป่วย โดยมีอาหารเฉพาะสายพันธุ์ เฉพาะอายุอยู่แล้ว ให้เราเลือก

การเลือกอาหาร

รศ.นสพ.ดร.อรรถวิทย์กล่าวว่า พื้นฐานของหลักโภชนาการ ให้จำไว้ว่าสัตว์เลี้ยงเราอยู่ในสถานะไหน เพื่อนำไปบอกคนขายอาหารสัตว์หรือสัตวแพทย์ เช่น น้องเป็นสัตว์โตเต็มวัย ไม่ค่อยวิ่งเล่น และอยากให้มีขนสวย เป็นต้น

ผู้ที่มีองค์ความรู้ก็จะบอกเราได้ว่าสัตว์เลี้ยงเราต้องการโปรตีนเท่าไร ไขมันเท่าไร หรือต้องการสารอาหารอะไรบ้าง

สัตว์ไม่ได้กินที่วัตถุดิบ แต่กินที่สารอาหาร ยกตัวอย่างเช่น อาหารแมวเลียที่เป็นปลาทูน่า เราเคยเห็นแมวกินปลาทูน่าจริง ๆ หรือไม่ ดังน้้นจึงมีอยู่ 3 ข้อคือ “ความปลอดภัย-ความน่ากิน-ย่อยได้หรือไม่”

แต่สุดท้ายแม้เลือกแล้ว ก็ไม่ได้รับประกันว่าอาหารนั้นจะเหมาะกับสัตว์เลี้ยงของเราเสมอไป เพราะฉะนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำ 1-2 ครั้งต่อปี และพบสัตวแพทย์คือสิ่งที่ดีที่สุด

“คนเราไปกินข้าวและปวดท้อง เรารู้ เพราะสื่อสารกันได้ แต่น้องไม่สามารถแสดงออกได้ หรือเราอาจไม่สังเกตเห็น จึงต้องให้สัตวแพทย์ช่วยดู ประกอบกับตรวจค่าเลือด ค่าต่าง ๆ ที่มีความจำเพาะ ก็จะได้ชัดเจนได้ด้วย”

การตรวจวัดค่าต่าง ๆ จะช่วยให้เลือกอาหารที่เหมาะสำหรับสัตว์เลี้ยงได้ด้วย เช่น บางครั้งค่าโปรตีนสูงเกิน ก็เปลี่ยนอาหารให้โปรตีนต่ำลง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ปีต่อ ๆ ไปอาจมีค่าอะไรบางอย่างผิดปกติ ก็ต้องดูว่าเกี่ยวข้องกับอาหารหรือไม่ เกิดจากอะไร ต้องเปลี่ยนอาหารหรือไม่ เป็นต้น

สำหรับ Exotic Pet ยังมีความเป็นสัตว์ป่าสูง พฤติกรรมและอาหารตามธรรมชาติยังมีความสำคัญ ซึ่งป่าธรรมชาตินั้นหากินยากมาก แต่พอคนนำมาเลี้ยงก็ให้อาหารกันเต็มที่ ซึ่งเกินความต้องการ ซึ่งจะส่งผลเกี่ยวกับสุขภาพต่อไปด้วย

วิธีการดูเลขทะเบียนอาหาร

รศ.นสพ.ดร.อรรถวิทย์กล่าวว่า สำหรับการดูเลขทะเบียนอาหารสัตว์มื้อหลักของหมา-แมว เลข 2 ตัวแรก 01 คือผลิตในประเทศ และ 02 คือนำเข้า เลข 2 ตัวต่อไป ต้องเป็นเลข 07 เท่านั้น คืออาหารที่ครบถ้วนตามโภชนาการ ส่วนเลขทะเบียนสำหรับขนม เลขที่ต่อจาก 2 ตัวแรกจะเป็น 09 อีกประเภทคือ อาหารเสริม เลขที่ต่อจาก 2 ตัวเเรกคือ 08

“ทะเบียนอาหารสำคัญที่สุด ต้องเสิร์ชในเว็บไซต์กรมปศุสัตว์ด้วยว่า เลขนี้ยังใช้งานอยู่จริงหรือเปล่า อาจยุ่งยากเล็กน้อย แต่เพื่อความปลอดภัย”

นอกจากเลขทะเบียนอาหารแล้ว ยังมีเรื่องการแบ่งบรรจุขาย กล่าวคือ อาหารสัตว์เลี้ยงต้องอยู่ในเเพ็กเกจเดียวกัน ไม่สามารถเอาถุงใหญ่มาแบ่งขายได้ แต่ในความเป็นจริงเข้าใจว่าอาหารบางอย่างเเพง การแบ่งขายคือการลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ซื้อ ซึ่งบางเหตุการณ์อาจกลายเป็นอาหารปลอม แม้จะใช้งานได้ แต่ก็ไม่ผ่านผู้เชี่ยวชาญ และมีส่วนผสมอะไรก็ไม่รู้ และสำหรับอาหารรักษาโรคก็ต้องมีสัตวแพทย์สั่งจ่าย

นอกจากนี้ การเก็บรักษาอาหารก็สำคัญ บางครั้งอาหารถูกต้อง แต่การเก็บรักษาไม่ถูกต้อง ดังนั้น การเลือกซื้อ ควรเลือกเพตช็อปที่ใกล้เคียง หรือกลับไปที่ร้านต้นทางได้หากเกิดปัญหา

อาหารหลัก ขนม อาหารเสริม

รศ.นสพ.ดร.อรรถวิทย์กล่าวว่า เมื่อกินอาหารมื้อหลักครบถ้วนทางโภชนาการ คำถามคือต้องกินอะไรเพิ่มหรือไม่ ในเชิงหลักการคือไม่ต้องกินแล้ว แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณที่กินด้วย

ในส่วนของขนมสัตว์เลี้ยง เช่นเดียวกับคนที่กินขนมทั้งชีวิตไม่ได้ ดังน้้น ถ้าสัตว์เลี้ยงต้องการพลังงาน 100% ต่อวัน ขนมจะคิดแค่ 10% ของพลังงานที่ต้องใช้ต่อวันเท่านั้น

หากกินเกินจะเป็นปัญหาต่อมื้อหลักได้ เพราะขนมไม่ได้ระบุว่าต้องมีสารอาหารเหมาะสมอย่างไรต่อวัน ขนมนั้นอาจเป็นโปรตีน 100% หรือไขมัน 100% ก็ได้

สำหรับอาหารเสริม อันที่จริงก็อาจไม่จำเป็น แต่บางกรณีสารอาหารที่อยู่ในอาหารปกติอาจไม่พอในบางวันสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น ไปวิ่งเล่น เจอฝุ่น เจอเชื้อโรค อาหารเสริมจึงอาจจำเป็นในบางกรณี หรือกินอาหารหลักแล้วขนอาจไม่สวย ไม่ฟู ก็อาจเติมอาหารเสริมเข้าไป เป็นต้น

หมา-แมว ไม่กินข้ามกัน

รศ.นสพ.ดร.อรรถวิทย์กล่าวว่า อันที่จริง หมากับเเมว กินอาหารข้ามกันไม่ได้ เช่น คนสร้างสูตรอาหารสัตว์จะคิดไว้แล้วว่าสุนัขโตเต็มวัยต้องได้โปรตีนเท่าไร พร้อมระบุหน้าซองว่าสำหรับสุนัขโตเต็มวัย แต่เมื่อเราไปให้แมวหรือสัตว์อื่น ๆ กิน เท่ากับว่านอกเหนือจากที่นักวิชาการ หรือการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ได้กำหนดไว้