Exotic Pet มาแรง มีหลากหลายชนิด ควรเลี้ยงดีหรือไม่ ดูแลอย่างไรดี

ทำความรู้จัก Exotic Pet ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น มีหลากหลายชนิด ควรเลี้ยงดีหรือไม่ ดูแลอย่างไรดี สัตวแพทย์แนะต้องศึกษาก่อนเลี้ยง

วันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ MCC Hall ชั้น 3 เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ ภายในงาน “Pet Healthcare 2024 มหกรรมสุขภาพสัตว์เลี้ยงครั้งแรกในประเทศไทย” ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่โดยเครือมติชน ยกทัพ 20 รายการตรวจ-วัคซีน-ฝังไมโครชิป-กรูมมิ่ง ฟรีกว่า 500 เคสต่อวัน ตลอด 4 วันเต็ม พร้อมอัดแน่น 19 เวทีทอล์ก 16 เวิร์กช็อป และทัพสินค้ามากกว่า 100 ร้านค้า ตั้งแต่วันนี้-31 มีนาคม 2567

สำหรับเวทีเสวนาในเวลา 14.00 น. สพญ.นวรัตน์ สุริยคุณ และ สพญ.วธัญธร อุทาสิน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมพูดคุยและให้ความรู้ในหัวข้อ “Exotic Pet เลี้ยงดีไหม ดูแลยังไงดี”

Exotic Pet ครอบคลุมหลากหลาย

สพญ.นวรัตน์กล่าวว่า Exotic Pet ครอบคลุมสัตว์หลายชนิด ในตลาดที่นิยมกันมากจะเป็นกระต่าย มีตั้งแต่สายพันธ์ุแคระ ขนาดกลาง และไจแอนต์ ขนาด 5-7 กิโลกรัม ซึ่งในประเทศไทยยังจัดกระต่ายเป็น Exotic Pet อยู่ แต่บางประเทศก็จัดเป็นสัตว์เลี้ยงทั่วไปเหมือนหมา-แมว

นอกจากนี้ก็จะมีสัตว์ฟันแทะอื่น ๆ เช่นตระกูลหนู ซึ่งมีเยอะมาก กระรอกก็มีเยอะมากเช่นกัน หรือจะเป็นชินชิล่า ที่ตลาดกำลังโตขึ้น ไม่ได้มีแค่การนำเข้าเเล้ว แต่ไทยสามารถเพาะพันธุ์ได้เองด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ตลาดของงูก็กว้างมาก มีทั้งงูสวยงาม งูมีพิษอ่อน แต่งูมีพิษแรง เช่น งูเห่า ก็จะมีคนบางกลุ่มเท่านั้นที่เลี้ยง มีความอันตรายสูง ซึ่งเป็นตลาดแคบ จะนิยมทางอินโดนีเซียและมาเลเซีย

หลังจากมีการ Work from Home ตลาดสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเป็นสนุัข แมว หรือ Exotic Pet โตขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะคนเหงา หาอะไรทำนอกจากงาน Exotic Pet ก็เป็นสัตว์ตัวเล็ก น้อยมากที่จะเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น นกแก้ว นกฟอพัส ก็จะนิยมกันมาก พกพาไปไหนก็ได้ สพญ.นวรัตน์ สุริยคุณ กล่าว

ด้าน สพญ.วธัญธรเสริมว่า Exotic Pet ยังนับรวมกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานด้วย เช่น เต่า กิ้งก่า ตลอดจนกลุ่มสัตว์ปีกอย่างนก ก็รวมอยู่ใน Exotic Pet ด้วยเช่นกัน

สพญ.นวรัตน์ สุริยคุณ
สพญ.วธัญธร อุทาสิน

ปัญหาที่พบบ่อย

สพญ.นวรัตน์กล่าวว่า ประเทศไทยนิยมเลี้ยงสัตว์ Exotic Pet ชนิดที่เป็นสัตว์หากินกลางคืน คนเลี้ยงคิดว่าสัตว์จะกลัวแสง เช่น ตระกูลลิง นางอาย จึงเลี้ยงในบ้านตลอด โดยที่ไม่รู้ว่าธรรมชาติจริง ๆ เป็นยังไง ก็อาจทำให้เกิดโรค ซึ่งโดยธรรมชาติสัตว์จะต้องโดนแสงอยู่แล้ว ดังน้้น โรคที่พบบ่อยจึงเป็นโรคกระดูกบาง กระดูกอ่อน

ในปัจจุบัน Exotic Pet ยังไม่ค่อยเจอการถูกทอดทิ้ง ต่างจากแต่ก่อนซึ่งอาจมีบ้าง เช่น เต่าญี่ปุ่น เมื่อเราเลี้ยงและมันโตขึ้น ปรากฏว่าไม่ได้ตัวเล็กอย่างที่คิด จึงถูกนำไปปล่อย ปัจจุบันคนที่เลี้ยงมีความรู้มากขึ้น เกิดการรณรงค์ว่าไม่ใช้สัตว์ที่ควรไปปล่อย โตจะมีขนาดจริงเท่าไร คนเลี้ยงก็เรียนรู้ และเลิกปล่อยมากขึ้น

สพญ.วธัญธรเสริมว่า ปัญหาที่พบส่วนมากจะเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยงผิดวิธี ไม่เข้าใจลักษณะนิสัย ตลอดจนอาหารที่ต้องกิน ทำให้เกิดโรคตามมาในภายหลัง ซึ่งถ้าเป็นโรคแล้วจะมีผลกับตัวสัตว์ไปตลอด แม้จะรักษาให้ดีขึ้นได้ แต่อาการก็จะแฝงอยู่กับตัวสัตว์ไปตลอด

การรักษา

สพญ.นวรัตน์กล่าวว่า การรักษา Exotic Pet จะมีความยากมากกว่าสัตว์เลี้ยงทั่วไป ซึ่งขึ้นกับกลุ่ม เช่น สัตว์ฟันแทะก็จะมีอันตรายในการวางยาสลบมากกว่าแมวประมาณ 10 เท่า และที่ยากมากเลยคือสัตว์เลื้อยคลาน เพราะกระบวนการเผาผลาญไม่เหมือนสัตว์ทั่วไป

นอกจากนี้ เมื่อสัตว์เลื้อยคลานเจ็บป่วยก็จะไม่แสดงอาการ ทำให้ประเมินยาก ถ้าพบอาการอาจเป็นระยะสุดท้ายแล้ว

โดยโรคที่พบบ่อยในงู คือ โรคทางเดินหายใจและติดเชื้อ สังเกตได้จากอาการอ้าปากค้าง เหมือนจะหาว เจ้าของจึงคิดว่าทำไมหาวตลอดเวลา แต่จริง ๆ งูต้องการอากาศเข้าไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาได้พัฒนาไปไกลมากแล้ว เราสามารถใช้อุปกรณ์ได้เหมือนสัตว์ทั่วไป ทั้งเอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ และทีซีสแกน เพียงแต่ต้องระวังในการใช้ให้มากขึ้นเท่านั้น

ในปัจจุบัน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยก็จะมีแผนก Exotic Pet และในโรงพยาบาลเอกชนก็มีค่อนข้างเยอะพอสมควร

วิธีสังเกตอาการป่วย

สพญ.นวรัตน์กล่าวว่า ลำดับแรกคือการดำเนินชีวิตของสัตว์เลี้ยง ทั้งการกินน้ำ กินอาหาร บางตัวอาจกินน้อยลง หรือหยุดกินเลย การกินน้อยลงใน Exotic Pet อาจบอกว่าเริ่มมีปัญหาแล้ว อาจไม่ใช่แค่อากาศร้อน อาจมีบางอย่างแฝงอยู่ หรือใช้เวลาในการนอนเยอะขึ้นกว่าเดิมก็มีผล

ด้าน สพญ.วธัญธรกล่าวว่า เราสามารถเตรียมตัวได้ ถ้าเรารู้เรื่องสุขภาพ และลักษณะนิสัยของสัตว์ว่าเป็นอย่างไร ถ้าในอนาคตมีอะไรผิดปกติไป เราจะรู้ได้และต้องพาไปพบสัตวแพทย์

ถ้าเราทราบว่าสัตว์ชนิดไหนมีพฤติกรรมอย่างไร กินอาหารอะไร ที่อยู่อาศัยแบบไหน ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น อากาศ ทุกอย่างมีผลกับเขาหมด ถ้าเรารู้ว่าอันไหนปกติ เราจะรู้ว่าอันไหนที่ผิดปกติ

สำหรับคนอยากเลี้ยง Exotic Pet

สพญ.นวรัตน์กล่าวว่า ถ้าอยากเลี้ยง Exotic Pet ควรศึกษาวิธีการเลี้ยงก่อน ว่าเหมาะกับไลฟ์สไตล์เจ้าของจริง ๆ หรือไม่ เจ้าของมีความสามารถในการหาอาหารให้สัตว์เลี้ยงแค่ไหน เช่น การเลี้ยงงู ไม่สามารถให้อาหารเม็ดได้ อย่างน้อยที่สุดคือแช่เเข็ง คนเลี้ยงก็ต้องรู้ว่างูกินอะไรได้บ้าง มีวิธีการให้อย่างไรบ้าง

“อยากให้ศึกษาให้ดีก่อน ว่าสัตว์เลี้ยงที่เราจะนำมาเลี้ยงสามารถเข้ากับเราได้ เขากับเราอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขจริง ๆ ในระยะยาว ไม่ใช่ระยะสั้น ตลอดอายุขัยของเขา เรามีกำลังทรัพย์ที่จะดูแลรักษาเขาได้ตลอดชีวิตมั้ย บางตัวราคาอาจไม่ได้สูงมาก แต่ระยะยาวการดูแลรักษาราคาสูง” สพญ.นวรัตน์กล่าว

ด้าน สพญ.วธัญธรกล่าวทิ้งท้ายว่า สัตว์เลี้ยงทุกตัวมีความน่ารักอยู่แล้ว การที่เราจะซื้อเราต้องมองว่าเขาน่ารัก สัตว์เลี้ยงไม่ได้อยู่กับเราแค่วันสองวัน บางตัวอาจอยู่ 1-2 ปี หรืออาจเป็น 10 ปี

วันที่เขาอายุมากขึ้น เขาอาจเป็นโรคตามมา ณ วันที่เขามีโรค ถ้าเราคิดว่าดูแลเขาได้และยังมองว่าเขาน่ารักอยู่ และเราทุ่มเทเวลาทุกอย่างให้เขาได้ ก็เลี้ยงเลย