สันติธาร เผย 4 จุดเปลี่ยนชีวิต โอกาสต้องมาพร้อมการเตรียมตัวที่ดี

ดร.สันติธาร เสถียรไทย
ดร.สันติธาร เสถียรไทย

“ดร.สันติธาร เสถียรไทย” เจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง “Twists and Turns คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม” ขึ้นเวทีเสวนา “Tonson’ s Talk : คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม” โดยสำนักพิมพ์มติชน ในงานสัปดาห์หนังสือ เล่า 4 จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต เผยคติประจำตัว “โอกาสต้องมาพร้อมกับการเตรียมตัวที่ดี”

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2567 เมื่อเวลา 18.00 น. ที่เวทีกลาง งาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22” ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7

“สำนักพิมพ์มติชน” เปิดเวทีเสวนา “Tonson’ s Talk : คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม” โดย “ดร.สันติธาร เสถียรไทย” เจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง “Twists and Turns คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม” พร้อมด้วย “นายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์” หรือ “นิ้วกลม” ร่วมดำเนินรายการ

โดยมีผู้บริหารในเครือมติชนร่วมฟัง นำโดย นางสาวปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน, นายสุพัด ทีปะลา บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน, นางสาวดิษนีย์ นาคเจริญ บรรณาธิการ ประชาชาติธุรกิจ เป็นต้น พร้อมบุคคลมีชื่อเสียงจากแวดวงต่างมากมาย

ดร.สันติธารเผยว่า หนังสือเล่มนี้ชื่อ “Twists and Turns” มี 2 พาร์ต พาร์ตเเรกเป็นเรื่อง Twists เปรียบถ้าโลกเป็นหนังเรื่องหนึ่ง ก็เป็นหนังที่หักมุมตลอดเวลา หนังสือเล่มก่อน ๆ เคยเขียนว่าโลกจะเปลี่ยนเเปลงเร็วขึ้น แต่ตอนนี้ไม่ใช่เเค่นั้น เปรียบเหมือนหนังฆาตกรรมซ่อนเงื่อน

ส่วนพาร์ต Turns ก็เป็นครึ่งหลังที่สำคัญ แม้เกิดการหักมุมแต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้น ซึ่งเริ่มสะท้อนในชีวิตตัวเองว่าที่ผ่านมาได้ใช้โอกาสจากการหักมุมของโลกหลายครั้ง ซึ่งจะต้องเลี้ยวให้ถูกที่

เป็นจังหวะสำคัญที่เดินทางกลับมาเมืองไทย จากที่เคยทำงาน 18 ปีในต่างประเทศ ประกอบด้วย 5 ปีที่สหรัฐอเมริกา และอีก 13 ปีที่สิงคโปร์ จึงรู้สึกว่าถ้ากลับไทยก็อยากจะมี Home Coming เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่บันทึกการเดินทางและข้อคิดต่าง ๆ ที่ได้ จึงเป็นที่มาของ Twists and Turns

“หนังสือเล่มนี้เริ่มเขียนจากพาร์ตหลังก่อน เพราะมีความยาก ทั้งเรื่องข้อคิด การตัดสินใจที่ผ่านมา การบาลานซ์เรื่องความสุข ความสำเร็จ การงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเขียนและไม่เคยโพสต์ จากนั้นจึงไปเขียนพาร์ต์เเรก หนังสือเล่มนี้จึงเกิด Turns ขึ้นก่อน Twists”

4 จุดเลี้ยวสำคัญของชีวิต

ดร.สันติธารเผยว่า คอนเซ็ปต์หนังสือ คือ ชีวิตเหมือนทางแยก ความหมายคือ แม้เราไม่ใช่รถที่เครื่องแรงที่สุด ซึ่งโลกก็ไม่ได้วัดกันว่าใครไปได้เร็วกว่ากัน วันนี้เราดูเหมือนตามหลังคนอื่นเยอะมาก แต่สุดท้ายถ้าเราถึงทางเเยกและรู้ว่าคือทางเเยกสำคัญของชีวิต แล้วเลี้ยวถูก เหมือนขับรถในกรุงเทพฯ รถเเรงไม่ค่อยมีประโยชน์ ถ้าเลี้ยวผิดซอยชีวิตก็จบเหมือนกัน ดังนั้น ต้องเลี้ยวให้ถูกที่

“ชีวิตผมมีจุดหักเลี้ยวสำคัญ 4 ครั้ง ซึ่งน่าจะสรุปได้ทั้งชีวิต”

ครั้งแรก คือตอนที่มีโอกาสไปทำงานอยู่กับนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รางวัลโนเบล และได้ตัดสินใจที่เสนองาน ซึ่งเขาไม่ได้ขอ แต่ปรากฏว่างานที่เสนอไปถูกใจเขามาก ๆ จากการเตรียมงานเป็นเดือนเพื่อเสี้ยววินาทีที่จะเสนอเเฟ้มให้เขาดู

มันเปลี่ยนทุกอย่าง ผมได้ทำงานกับเขาต่อ และเขาได้เขียนใบ recommend ทำให้ผมได้เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในระดับปริญญาเอก ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในฝัน ทำให้ได้เปิดประตูต่าง ๆ ตามมาอีกเยอะ

ครั้งที่สอง คือตอนที่เปลี่ยนจากการทำงานภาคนโยบายและวิชาการ มาเป็นภาคการเงิน และเป็นภาคการเงินระหว่างประเทศ ที่ธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) นั่นหมายถึงการไม่กลับเมืองไทยและไปอยู่สิงคโปร์ ซึ่ง 13 ปี จากนั้นก็ใช้ชีวิตต่างประเทศตลอด และกลายเป็นคนโกบอล

ครั้งที่สาม เปลี่ยนจากการเป็นผู้บริหารภาคการเงิน สู่โลกดิจิทัล ซึ่งถูกต้องที่สุดในฐานะคนทำนายอนาคต ถ้าเปรียบกับนักลงทุน การเลือกครั้งนี้ก็เหมือนการช้อนหุ้นถูกเวลาที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังเข้าสู่ดิจิทัล จึงได้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากนักเศรษฐศาสตร์การเงินมาเป็นมนุษย์ดิจิทัล

ครั้งสุดท้าย เป็นครั้งที่สำคัญที่สุด และเพิ่งมาคิดได้ตอนเขียนหนังสือเล่มนี้ นั่นคือ การตัดสินใจกลับเมืองไทย ซึ่งไม่ใช่การกลับมาแบบธรรมดา แต่เป็นการออกจากงานประจำทั้งหมด ยอมรับว่าต้องอาศัยความบ้าบิ่นระดับหนึ่ง ประกอบกับการตกผลึกอะไรหลาย ๆ อย่างจึงกล้าทำแบบนี้

จากนักเศรษฐศาสตร์สู่มนุษย์ดิจิทัล

ดร.สันติธารเล่าอีกว่า มองกลับไปถึงจุดเปลี่ยนครั้งที่สาม จากการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ มาเป็นมนุษย์ดิจิทัล เนื่องจากวิเคราะห์ว่าภูมิภาคอาเซียนน่าจะมาแรงพอสมควร จีนและอินเดียก็กำลังมา โดยมีอาเซียนอยู่ตรงกลาง

ดังนั้น ถ้าเราไปเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ และไปอยู่แถวหน้า ก็น่าจะสร้างความ unique ให้กับเรา และทำให้รู้ในสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครรู้ เพราะตอนนั้นคนในภูมิภาคนี้ยังไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องดิจิทัลเท่าไร

แต่เหตุผลดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่ง อันที่จริงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เมื่อตัวเองอยู่ในตำแหน่งเดิมไปสักพัก ทำให้มีความอยากรู้อยากเห็นและความกระตือรือร้นน้อยลง ซึ่งไม่ตื่นเต้นและไม่ท้าทาย

อีกเหตุผลหนึ่งคือได้เจอคนก่อตั้งบริษัทโดยบังเอิญ ซึ่งเป็นบริษัทในอาเซียน โดยผู้บริหารกำลังจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก จึงอยากพบนักเศรษฐศาสตร์เพื่อรู้ทิศทาง ทำให้ได้คุยกัน

ดร.สันติธารจึงแกล้งถามว่า อยากมีนักเศรษฐศาสตร์ในบริษัทหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้คือไม่มีตำแหน่งนี้ในบริษัทและไม่รู้จะเอาไปทำไม ถ้าอยากมาทำก็ลองเขียนชื่อตำแหน่ง และขอบเขตหน้าที่มา แล้วจะดูว่าควรจ้างหรือไม่ จากนั้น ดร.สันติธารใช้เวลาเขียนประมาณ 2 สัปดาห์ จนกระทั่งมีโอกาสได้ร่วมงานกัน

“เหมือนเราขับรถจริง ๆ ถ้าเราจะหักเลี้ยวไปตรงที่ไม่ถนนเลยก็เลี้ยวได้ แต่ก็เข้าพง สำคัญคือต้องรู้ว่าจะมีสี่แยกใหญ่ เลี้ยวตรงนี้จะเปลี่ยน และต้องรู้ก่อน ไม่อยากให้เข้าใจว่าเมื่อไหร่จะเลี้ยว แบบนี้เราจะเลี้ยวไม่ได้ แล้วเราจะไปช้ามาก เพราะมัวแต่ลังเล ศิลปะของการใช้ชีวิตคือต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ต้องพุ่งไปข้างหน้า และเมื่อไหร่ที่ควรตั้งคำถามว่ามันมีทางเเยกขึ้นมาหรือเปล่า”

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ได้ทำงานหนักมาถึงจุดหนึ่ง ไม่ได้เริ่มศึกษาดิจิทัลมาก่อน ก็จะพูดกับเขาไม่รู้เรื่อง ทางเลี้ยวตรงนั้นก็คงไม่ได้เลี้ยว ไม่ใช่เเค่รู้ก่อน แต่ต้องเตรียมตัวมาก่อนเยอะด้วย

“โอกาสต้องมาพร้อมกับการเตรียมตัวที่ดี” เป็นคติประจำตัว ดร.สันติธารกล่าว