ทุนใหญ่ตระกูลดังทุ่มแสนล้าน ชิงปักหมุดยึดทำเลเจ้าพระยา

Chao Phraya

“ทุนใหญ่-ตระกูลดัง” แห่ซื้อที่ริมน้ำ ปักหมุดตึกสูงแสนล้าน “เจียรวนนท์-สิริวัฒนภักดี” ยึดโค้งเจ้าพระยาสร้างแลนด์มาร์กใหญ่ บูมทำเลเจริญนคร-เจริญกรุง-ตลาดน้อย-ทรงวาด รับนักท่องเที่ยวทั่วโลก “อัศวโภคิน” ขึ้นคอนโดฯ หมื่นล้านติดโรงเบียร์ “ภิรมย์ภักดี” ส่วน “โสภณพนิช-เตชะอุบล-สารสิน-ปังศรีวงศ์” ผุดโรงแรมหรู “ไมเนอร์กรุ๊ป” ทำพลาซ่า อัลติจูดฯ สร้างบ้าน 100-500 ล้านฝั่งราษฎร์บูรณะ

นอกเหนือจากแนวรถไฟสายสีเขียวและสายสีน้ำเงินจะเป็นทำเลยอดนิยมของคนยุคใหม่แล้ว ล่าสุดที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นทำเลยอดฮิตที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ให้ความสนใจ และทยอยลงทุนขึ้นโครงการใหม่ ๆ กันมากขึ้น

เจ้าพระยาทำเลทอง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการลงเรือสำรวจริมสองฝั่งเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานกรุงเทพและสะพานพระราม 3 จนถึง “ท่าน้ำนนท์” จังหวัดนนบุรี พบว่าที่ดินริมแม่น้ำเริ่มเปลี่ยนไป มีการพัฒนาอาคารสูงกันมากขึ้นทั้งสองฟาก จนกลายเป็นทำเลใหม่ที่มีมูลค่า และได้รับฉายาว่า “เวนิส เมืองไทย”

เริ่มจากฝั่งเจริญกรุงหรือถนนตกจะเป็นอาณาจักรของ “ตั้งมติธรรม” เจ้าของคอนโดฯ “ศุภาลัย ริว่า แกรนด์ พระราม 3” ที่คนสามรุ่นของตระกูลนี้ก็อาศัยอยู่ด้วย

ขณะที่ฝั่งตรงข้ามคือถนนเจริญนครช่วงรอยต่อกับถนนราษฎร์บูรณะสายใน ก็มีโครงการใหม่กำลังก่อสร้างเป็นบ้านเดี่ยวหลังละ 100-500 ล้านบาท ลงทุนโดยกลุ่มอัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์ ที่เพิ่งซื้อที่ 5 ไร่มาจากกลุ่มโรงสีเก่า

ขยับขึ้นไปเป็นที่ของกลุ่มไมเนอร์ เจ้าพ่อฟาสต์ฟู้ด ชื่อ “ริเวอร์ไซด์พลาซ่า” แหล่งรวมร้านดัง ๆ ในเครือ และร้าน S&P โดยมีโรงแรมหรูอยู่ติดกัน

ย่านเจริญนคร-บุคคโล เคยโด่งดังจากคอนโดฯ ริมเจ้าพระยา เป็นโครงการแรก ๆ นั่นคือ “ตรีทศ ซิตี้ มารีน่า” บุกเบิกโดย “หม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล” สถาปนิกจากฮาร์วาร์ด นักพัฒนาที่ดินหน้าตาดีในสมัยนั้น

จากนั้นก็เป็นคอนโดฯ รุ่นใหม่ ๆ เช่น วอเตอร์มาร์ค ของกลุ่มเมเจอร์ฯ ตระกูล “พูลวรลักษณ์” คอนโดฯ ค่ายพฤกษาฯ และศุภาลัย

โดยฝั่งเจริญกรุงมีโครงการ “ลดาวัลย์” ของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ตระกูล “อัศวโภคิน” ที่ปักหมุดมาก่อนใครเพื่อน ขนาบด้วยโครงการ “เอเชียทีค” แหล่งท่องเที่ยวที่ทัวร์จีนชอบมากของตระกูลเจ้าสัว “สิริวัฒนภักดี”

ถัดขึ้นไปเป็นโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ และคอนโดฯ ชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ ของ “ชาลี โสภณพนิช” ทายาทแบงก์กรุงเทพ

ติดกันเป็นที่เช่าระยะยาวจากองค์การสะพานปลา ของกลุ่มตระกูล “เตชะอุบล-สารสิน และ ปังศรีวงศ์” ที่ขึ้น 2 โรงแรมหรู โฟร์ซีซั่นส์ เจริญกรุง กับ คาเพลลา แบงค็อก รวมมูลค่า 10,500 ล้านบาท

ก่อนถึงท่าเรือสาทร จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า BTS ก็มีที่ดินของทุนเก่า ตระกูล “ตั้งสิน” เจ้าของโรงแรมรามาดา พลาซ่า หรือชื่อเดิม โรงแรมแม่น้ำ ที่ขึ้นคอนโดฯ ใหม่ แม่น้ำ เรสสิเดนซ์

คลองสานคือสยาม

เมื่อสำรวจมาถึงสะพานตากสิน ย่านบางรัก-เจริญกรุง ก็เป็นโรงแรมหรูริมน้ำยุคแรก ๆ อาทิ แชงกรี-ลา ของตระกูล “อัษฎาธร”, โรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล ใกล้กันเป็นที่ดินเช่าของบีทีเอส กรุ๊ป ที่มีแผนจะลงทุนสร้างโรงแรมแนวอนุรักษ์ริมเจ้าพระยา
ส่วนฝั่งตรงข้ามคือเจริญนคร-คลองสาน มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่อย่างคึกคัก ทั้งห้างหรู โรงแรมหรู คอนโดฯ หรู และมีระบบขนส่งครบทั้งรถ เรือ ราง (รถไฟฟ้าสายสีทอง-บีทีเอส)

โดยเฉพาะ “ไอคอนสยาม” ห้างยักษ์ 50 ไร่ เดิมเป็นที่ดินโรงสีสิบเก้า และตลาดศิรินทร์ ของสยามอรุณ ดีเวลลอปเม้นท์ ในเครือศรีกรุงวัฒนา ที่ก่อตั้งโดย 3 ตระกูล “เศรษฐพรพงศ์-เลาหทัย-ตั้งตรงศักดิ์”

ซึ่งตระกูล “เจียรวนนท์” โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ MQDC ได้รวบรวมที่ดิน และร่วมทุนกับกลุ่มสยามพิวรรธน์ เจ้าของศูนย์การค้าสยามพารากอน พัฒนาเป็นโครงการระดับเวิลด์คลาส มูลค่า 60,000 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 7.5 แสนตารางเมตร สร้างเป็นห้างและคอนโดฯ หรู 2 โครงการ จึงเป็นแรงกระเพื่อมของทำเลย่านนี้

ทั้งส่งผลให้ “ริเวอร์ซิตี้” ของตระกูล “กรรณสูต” และแหล่งท่องเที่ยวย้อนยุค “ตลาดน้อย” ฝั่งเจ้าพระยาตรงข้ามพลอยคึกคักไปด้วย

ขณะที่โรงแรมเดอะ เพนนินซูลา กรุงเทพฯ สูง 40 ชั้น ริมเจ้าพระยาฝั่งไอคอนสยาม เดิมเป็นของตระกูล “ภัทรประสิทธิ์” ปัจจุบันเป็นของทุนฮ่องกง ยังคงคึกคักด้วยนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับโรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ ที่มี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นประธาน ซึ่งอยู่ติดกับท่าน้ำคลองสาน และโครงการ The Jam Factory ของสถาปนิก “ดวงฤทธิ์ บุนนาค”

ที่น่าจับตาคือ “ล้ง 1919” บ้านจีนอายุ 170 ปี ท่าเรือกลไฟในอดีต ที่เปลี่ยนมือจากตระกูล “พิศาลบุตร” มาเป็นของตระกูล “หวั่งหลี” สุดท้ายมาถึงมือเจ้าสัว “สิริวัฒนภักดี” ที่เช่ายาว 64 ปี ด้วยเงินลงทุนเกือบ 4,000 ล้านบาท ในการพัฒนาเป็น The Integrated Wellness Destination โดย AWC

เรียกว่าโค้งแม่น้ำช่วงนี้เป็นศูนย์รวมของมหาเศรษฐีเมืองไทย เป็นแลนด์มาร์กใหม่ของประเทศไทยที่มีการลงทุนมากที่สุด ใหญ่ที่สุดของทำเลริมเจ้าพระยา

ท่องเที่ยวทางน้ำคึกคัก

จากทำเลคลองสาน-บางรัก ขึ้นทิศเหนือผ่าน 3 สะพานคือ สะพานพระพุทธยอดฟ้า พระปกเกล้า พระปิ่นเกล้า จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำที่คึกคักที่สุด เพราะมีชุมชนเก่า โบราณสถาน แหล่งประวัติศาสตร์ และบูติคโฮเต็ลริมน้ำ

เช่น ตลาดยอดพิมาน, ปากคลองตลาด, ท่าเรือใหม่ราชินี ฝั่งตรงข้ามมีย่านชุมชนกุฎีจีน วัดประยุรวงศ์ฯ, โบสถ์ซางตาครู้ส, ศาลเจ้าอายุ 200 ปี, วัดกัลยาฯ และพระปรางค์วัดอรุณฯ จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

ถัดไปคือวัดระฆัง หลวงพ่อโต, ร้านอาหาร, ที่พักอาศัยแบบให้เช่า วังหลังพลาซ่า ของกลุ่มสุภัทรา ตระกูล “สิงหลกะ-พิชัยรณรงค์สงคราม” ส่วนใหญ่ย่านนี้จะเป็นตลาดแมส ที่มีนักศึกษา คนทำงาน และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราช

ขณะที่ “ท่าเตียน-ท่าช้าง-ท่ามหาราช-ท่าพระจันทร์” เป็นท่าเทียบเรือที่ผู้คนหนาแน่น เป็นทำเลยอดฮิตที่ทุนใหญ่ เช่น ตระกูล “จิราธิวัฒน์” ตระกูล “พิชัยรณรงค์สงคราม” ผู้บุกเบิกท่ามหาราช คอมมิวนิตี้มอลล์ริมน้ำแห่งแรก ต่างปักหมุดสร้างโรงแรมริมน้ำ จุดขายคือวิวฝั่งวัดอรุณฯ

พระราม 8 สะพานสวย

จากนั้นล่องเรือมาถึงสะพานพระราม 8 จะเห็นแบงก์ชาติ และวังเก่าบางขุนพรหม โดดเด่นตระการตา

ส่วนย่านเทเวศร์ พายัพ เขียวไข่กา จะมีคอนโดฯ ใหม่มูลค่าหมื่นล้านกำลังสร้างชื่อ “วันเวลา ณ เจ้าพระยา” ของกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งอยู่ใกล้กับสำนักงานใหญ่ค่ายบุญรอดฯ ของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” และรัฐสภาใหม่ แยกเกียกกาย

เมื่อถึงโค้งน้ำท่าบางโพ จะมีรถไฟฟ้า MRT วิ่งข้ามเจ้าพระยา จากเตาปูนไปท่าพระ ซึ่งทั้ง 2 ฝั่งมีคอนโดฯ ใหม่ผุดขึ้นหลายโครงการ เช่น ค่ายพฤกษา ค่ายอนันดา

มาถึงริมน้ำถนนพิบูลสงคราม จะเป็นคอนโดฯ ยุคแรก ๆ ของตระกูล “นิธิวาสิน” เจ้าของโรงแรมนารายณ์ ที่ทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ในย่านสีลม

จะสังเกตว่า เมื่อล่องมาถึงนนทบุรี ดูเงียบสงบขึ้น ทั้งสองฟากมีบ้านเก่าริมน้ำอยู่จำนวนมาก สลับกับเรือกสวน และพื้นที่สีเขียวธรรมชาติ จะมาคึกคักอีกทีก็คือ “ท่าน้ำนนท์” ศูนย์รวมการเดินทางที่คึกคักสุดของนนทบุรี